โรคคางทูม (Mumps)

คางทูมเป็นโรคที่เกิดในคนเท่านั้น ทำให้เกิดไข้เฉียบพลัน ต่อมน้ำลายอักเสบ และอาจมีอัณฑะหรือรังไข่อักเสบ โรคนี้พบบ่อยในเด็ก แต่หลังจากที่มีการนำวัคซีนป้องกันโรคคางทูมออกมาใช้ อุบัติการของโรคก็ลดลงมาก

อาการของโรค

เชื้อไวรัสคางทูมเข้าร่างกายทางปากหรือทางการหายใจ มีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 สัปดาห์ วันแรกจะมีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เจ็บคอ วันต่อมาจึงมีอาการอักเสบของต่อมน้ำลายข้างแก้ม ต่อมน้ำลายจะบวมโตอย่างรวดเร็ว การบวมจะ แผ่ไปข้างหลังจนถึงหน้าใบหู และลงมาคลุมมุมขากรรไกร ทำให้ไม่สามารถคลำขอบของขากรรไกรได้ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยแยกโรคคางทูมออกจากภาวะต่อมน้ำเหลืองใต้คางอักเสบจากสาเหตุอื่น ผู้ป่วยโรคคางทูมในระยะนี้จะมีไข้สูง เจ็บปวดเวลาเคี้ยวและกลืนอาหารมาก ร้อยละ 80 จะเป็นอีกข้างหนึ่งใน 4-5 วันต่อมา ขณะที่ข้างที่เป็นก่อนเริ่มยุบ อาการบวมของต่อมน้ำลายมักเป็นอยู่ไม่เกิน 7 วัน เวลาหายจะหายอย่างรวดเร็ว ทั้งการบวม การเจ็บ และไข้

ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคคางทูมเพศชายจะมีอาการของอัณฑะอักเสบ อาการอาจเกิดร่วมกับอาการของต่อมน้ำลายอักเสบ หรืออาจเกิดโดยไม่มีการอักเสบของต่อมน้ำลายเลยก็ได้ เริ่มด้วยอาการปวดบริเวณอัณฑะ มักเป็นข้างเดียว ลูกอัณฑะจะบวมโตขึ้นประมาณ 3-4 เท่า กดเจ็บ ระยะนี้จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดหลัง คลื่นไส้อาเจียน การบวมของอัณฑะและไข้จะเป็นอยู่นาน 3-7 วัน แล้วจะค่อย ๆ หายไป ร้อยละ 50 จะมีอัณฑะฝ่อลงบ้างเล็กน้อยในหลายปีต่อมา และจะมีจำนวนอสุจิลดลง แต่มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่จะเป็นหมันตามมา

โรคคางทูมในเด็กผู้หญิงอาจทำให้เกิดอาการของรังไข่อักเสบ โดยจะมีอาการไข้และปวดท้องน้อย บางรายที่ผอม ๆ อาจคลำรังไข่ที่โตและกดเจ็บได้ อาการอาจเกิดร่วมกับต่อมน้ำลายอักเสบ หรือเกิดโดยไม่มีการอักเสบของต่อมน้ำลายเลยก็ได้ แต่อุบัติการณ์ของรังไข่อักเสบพบน้อยกว่าอัณฑะอักเสบมาก

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของโรคคางทูมได้แก่

  • ตับอ่อนอักเสบ เด็กจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน กดเจ็บบริเวณลิ้นปี่ในระยะ 2-3 วันแรกของโรค ตรวจเลือดจะมีซีรั่ม amylase สูงขึ้น ภาวะตับอ่อนอักเสบในโรคคางทูมส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ที่รุนแรงจริง ๆ พบน้อยมาก
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า มักเกิดหลังจากที่มีต่อมน้ำลายอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง หลังแข็ง ซึมน้ำไขสันหลังมีจำนวนเซลล์ 10-2,000 ตัว/ลบ.มม. ส่วนใหญ่เป็นลิมโฟไซต์ ระยะของโรคสั้น มักหายภายใน 3-10 วัน โดยไม่มีพยาธิสภาพเหลืออยู่
  • สมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ การเคลื่อนไหว และการทรงตัว อาจมีชัก เพ้อ บางรายลุกลามไปที่เส้นประสาทและไขสันหลัง ทำให้มีหูหนวก ชา แขนขาอ่อนแรง มักเกิดหลังต่อมน้ำลายอักเสบประมาณ 7-10 วัน
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้น้อยมากในคนที่เป็นโรคคางทูม เช่น ต่อมทัยรอยด์อักเสบ ข้ออักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต่อมน้ำตาอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ไตอักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัย

มีการตรวจทางซีโรโลยี่ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคคางทูมในระยะต้น ๆ คือ Complement fixation ของ S และ V แอนติเจ้น ถ้า S ขึ้นสูงและ V ต่ำ แสดงว่ากำลังเป็นโรค ถ้า S ต่ำและ V สูง แสดงว่าเป็นโรคมานานแล้ว

ในผู้ใหญ่ อาการต่อมน้ำลายอักเสบของโรคคางทูมต้องแยกจากอาการต่อมน้ำลายอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ซึ่งมักเป็นในพบในผู้ป่วยเรื้อรัง เบาหวาน ไตวาย และต้องแยกจากโรคเนื้องอกของต่อมน้ำลาย ซึ่งไม่เจ็บ และโตนาน ไม่ยุบ

ในผู้ใหญ่หากมีอาการอัณฑะอักเสบอย่างเดียว ต้องแยกจากโรคโกโนเรีย ไข้ฉี่หนู อีสุกอีใส และแบคทีเรียอื่น ๆ

ในรายที่มีอาการเฉพาะเยื่อหุ้มสมอง หรือสมองอักเสบ ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากวัณโรคและเชื้อราของเยื่อหุ้มสมอง โดยอาศัยลักษณะของน้ำไขสันหลังและซีโรโลยี่ช่วย

การรักษา

เนื่องจากสาเหตุของโรคคางทูมเกิดจากไวรัส จึงยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้ เมื่อแน่ใจว่าเป็นโรคคางทูม ควรนอนพัก ทานยาแก้ปวด ลดไข้ ประคบด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเย็นเพื่อลดอาการปวด ในรายที่มีอาการทางระบบประสาท ควรนอนพักในโรงพยาบาล

การป้องกัน

วัคซีนป้องกันโรคคางทูมจะอยู่ในรูปฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน (MMR) แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 15 เดือนขึ้นไป

การป้องกันโดยการกักกันผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคคางทูมไม่มีประโยชน์ เพราะเชื้อแพร่กระจายไปแล้วก่อนที่จะมีอาการหลายวัน