โรคหนังเน่า (Necrotizing fasciitis)

โรคหนังเน่าเป็นโรคติดเชื้อของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชนิดที่มีการทำลายเนื้อเยื่อข้างใต้อย่างลึกและรุนแรง ทำให้เกิดหนองและเนื้อตายใต้ผิวหนังเป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อภาวะการสูญเสียทั้งอวัยวะ การติดเชื้อในกระแสเลือด และการเสียชีวิต การวินิจฉัยโรคหนังเน่าทำได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ป่วยจะมีอาการปวดอยู่ภายใน แต่ตรวจดูภายนอกมักไม่พบความผิดปกติ หรือผิดปกติเพียงเล็กน้อย และเมื่อทิ้งไว้ อาการปวดอาจลดลงเพราะเชื้อลุกลามลงข้างล่าง ซึ่งมีประสาทรับความรู้สึกน้อยกว่าที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่กว่าจะวินิจฉัยได้ก็ต้องมีอาการจับไข้ หนาวสั่น หายใจหอบเนื่องจากภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว

เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนังเน่ามีได้อย่างกว้างขวาง ทั้งแบคทีเรียกรัมบวก กรัมลบ พวกที่ไม่ชอบออกซิเจน (anaerobe) และเชื้อรา การติดเชื้อส่วนใหญ่ก็เป็นเชื้อผสม พยาธิสภาพเกิดจากทั้งสารพิษและการกัดกินของตัวเชื้อเอง ทำให้ลักษณะทางคลีนิคมีได้หลายแบบ จึงเกิดชื่อเรียกโรคนี้แตกต่างกันตามตำแหน่งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น โฟร์เนียส์ (Fournier's gangrene) หมายถึงโรคหนังเน่าที่เกิดบริเวณทวารหนักและอวัยวะสืบพันธุ์, แกสแกงกรีน (gas gangrene) หมายถึงโรคหนังเน่าที่เกิดจากเชื้อ Clostridium perfringens ซึ่งทำให้เกิดเนื้อเน่าตายสีดำพุพองมีทั้งหนองและลม, necrotizing fasciitis เป็นชื้อเรียกกลาง ๆ สำหรับโรคหนังเน่าที่มีการอักเสบลึกลงไปถึงชั้นพังผืดที่หุ้มกล้ามเนื้อ

อาการของโรค

โรคหนังเน่าฟังดูอาจน่ากลัวแต่โรคนี้ไม่ได้เกิดและติดต่อกันโดยง่าย ผู้ป่วยโรคหนังเน่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น เป็นผู้สูงอายุ มีภาวะขาดโปรตีนในเลือด (hypoalbuminemia) มีโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดอุดตัน เป็นผู้ขาดอาหาร ติดยาเสพติด ติดเหล้า ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ได้รับบาดเจ็บ และผู้ที่ผิวหนังไหม้จากความร้อน

อาการของโรคหนังเน่ามักค่อย ๆ ดำเนินไป เริ่มจากอาการปวดตรงอวัยวะที่ติดเชื้อ มักเป็นบริเวณแขนหรือขาที่มีบาดแผลมาก่อน ใหม่ ๆ จะปวดเฉพาะเวลาขยับ ระยะนี้อาจกินเวลาหลายวัน เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะเริ่มมีไข้ ผิวหนังเหนือบริเวณที่ติดเชื้อจะบวม แดง ร้อน ถ้ากดหรือบีบในบริเวณนั้นจะทำให้ปวดมาก อาการไข้และเหงื่อออกจะสลับกันตลอดเวลา อ่อนเพลียลง บางรายอาจคลำได้ความรู้สึกคล้ายมีฟองอากาศเล็ก ๆ แตกอยู่ใต้ผิวหนังรอบ ๆ ส่วนที่ปวด เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะกระวนกระวาย หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลด และซึมลงอย่างรวดเร็ว

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในรายที่รักษาช้าคือเชื้อกินทะลุพังผืดเข้าถึงชั้นกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อเน่าตายไปด้วย (myonecrosis)

การวินิจฉัยโรค

พยาธิสภาพที่เห็นเฉพาะที่ผิวหนังไม่สามารถวินิจฉัยโรคหนังเน่าได้ โรคหนังเน่าวินิจฉัยจากการผ่าตัดเปิดเข้าไปดูพยาธิสภาพโดยตรง แต่จะทำเมื่อพบหลักฐานชี้นำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  • ภาพเอ็กซเรย์ MRI จะพบหนองและการทำลายของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
  • ดูดได้หนองในเนื้อเยื่อตรงตำแหน่งที่ปวด
  • คลำได้ฟองอากาศใต้ผิวหนัง หรือภาพเอ็กซเรย์ธรรมดาเห็นลักษณะของฟองอากาศใต้ผิวหนังบริเวณที่ปวด
  • มีอาการปวดเฉพาะที่รุนแรงร่วมกับอาการไข้ และผลเลือดสนับสนุนว่ามีการติดเชื้อที่ร้ายแรง

เมื่อผ่าตัดเข้าไปแล้วต้องส่งเนื้อเยื่อตรวจทางพยาธิและเพาะเชื้อเพื่อหาต้นเหตุที่แท้จริงต่อไป

การรักษา

ความจริงการผ่าตัดเป็นทั้งการวินิจฉัยและการรักษาโรคหนังเน่า ในขั้นต้นการรักษาจะพยายามล้างหนองและตัดเนื้อที่ตายทิ้งไปก่อน ซึ่งอาจต้องค่อย ๆ ทำในห้องผ่าตัดทุกวัน ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น สำหรับรายที่ไม่ได้ผลจึงค่อยพิจารณาตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งเพื่อรักษาชีวิตต่อไป