กาฬโรค (Plague)
กาฬโรคเคยเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันพบน้อยลงมาก อาจเป็นเพราะการสาธารณสุขมูลฐานดีขึ้น โรคนี้เกิดจากเชื้อ Yersinia pestis ที่อยู่ในสัตว์จำพวกฟันแทะ มีหนูเป็นแหล่งอาศัยสำคัญ และมีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน
พยาธิสภาพ
คนติดกาฬโรคได้สองทางคือ ทางการสูดหายใจเอาละอองของซากหนูที่เป็นกาฬโรคเข้าไป หรือโดยการถูกหมัดหนูที่มีเชื้อกาฬโรคกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดการบุบสลายของหลอดเลือดฝอยในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้มีการรั่วของสารน้ำเข้าสู่เนื้อเยื่อ และมีการตกเลือดภายในอวัยวะ
อาการของโรค
อาการจะเริ่มหลังถูกหมัดหนูกัดไม่เกิน 12 วัน อาการเป็นได้ 3 ลักษณะคือ
- กาฬโรคที่ต่อมน้ำเหลือง (Bubonic plague) พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะไข้หนาวสั่นอย่างฉับพลัน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเนื้อตัว และมีต่อมน้ำเหลืองโตขนาดไข่ไก่ บวม แดง กดเจ็บ มักพบที่ขาหนีบ รักแร้ คอ ไม่นานก็จะแตกออก เป็นแผล ผู้ป่วยบางรายจะเข้าสู่ภาวะเลือดเป็นพิษหรือปอดอักเสบหลังจากที่มีต่อมน้ำเหลืองโต
- กาฬโรคในกระแสโลหิต (Septicemic plague) เป็นอาการของภาวะเลือดเป็นพิษ ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีต่อมน้ำเหลืองโตมาก่อนก็ได้ อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 5 วัน โดยจะมีไข้สูง กระสับกระส่าย ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียเป็นอย่างมาก ต่อมาจะมีเลือดออกจากปาก จมูก หรือถ่ายเป็นเลือด มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง ไม่นานก็จะมีตับม้ามโต ซึม ไม่รู้สติ ความดันตก นื้วมือนิ้วเท้าแห้งดำเป็นแกงกรีน (gangrene)
- กาฬโรคที่ปอด (Pneumonic plague) ทำให้เกิดปอดอักเสบ พบได้น้อยที่สุด แต่อันตรายที่สุด เพราะสามารถติดต่อจากคนสู่คนทางการสูดหายใจเอาละอองที่ผู้ป่วยไอออกมาเข้าไป ผู้ป่วยกาฬโรคที่เป็นปอดอักเสบจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะปนเลือด อ่อนเพลียอย่างมาก อาการดูจะหนักกว่าภาพรังสีทรวงอก เพียง 1-2 วันก็จะหอบมาก ถ้ารักษาไม่ทันจะเสียชีวิต
การวินิจฉัย
กาฬโรคที่ต่อมน้ำเหลืองต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคพยาธิฟิลาเรีย (Filariasis), lymphogramuloma venereum, และโรคตุลารีเมีย (Tularemia) ที่มีอาการไข้ฉับพลันร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองโตเช่นกัน การวินิจฉัยทำได้ไม่ยากโดยการเจาะเอาหนองที่ต่อมน้ำเหลืองมาย้อมและเพาะหาเชื้อ กาฬโรคในกระแสโลหิตและกาฬโรคที่ปอดแบบที่ไม่มีต่อมน้ำเหลืองโตต้องเพาะเชื้อจากเลือดและเสมหะ ซึ่งใช้เวลา 3-7 วัน
การรักษา
เนื่องจากเชื้อเป็นกรัมลบ ยาที่ฆ่าเชื้อกาฬโรคได้ดีคือกลุ่มของ Aminoglycosides ในรายที่เป็นไม่มากอาจใช้ Doxycycline หรือ Ciprofloxacin ทานนาน 1 สัปดาห์
การป้องกัน
มีวัคซีนสำหรับกาฬโรคจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ผลการป้องกันโรคยังไม่เป็นที่รับรอง การป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันส่วนบุคคล เวลาที่เจ็บป่วยไม่สบาย ควรสวมผ้าปิดปากปิดจมูกไว้ตลอดเวลา และควรทำความสะอาดบ้านเรือนไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู