โรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephrititis)

กรวยไต เป็นศูนย์รวมของน้ำปัสสาวะที่กรองผ่านกลุ่มของเส้นโลหิตฝอยที่ไต (glomeruli) จำนวนหลายแสนกลุ่ม ก่อนที่จะเทลงสู่ท่อไตแล้วไปพักที่กระเพาะปัสสาวะ โรคกรวยไตอักเสบอักเสบเป็นโรคติดเชื้อร้ายที่แรงอย่างหนึ่ง ในภาวะที่เป็นเฉียบพลันสามารถทำให้เสียชีวิตได้ และในภาวะเรื้อรังก็นำไปสู่การมีแผลเป็นที่ไต ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงอย่างช้า ๆ จนถึงขั้นไตวายในที่สุด โรคนี้พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

สาเหตุของกรวยไตอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ ร้อยละ 99 เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำอาจเกิดจากเชื้อราได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่กรวยไตได้แก่ นิ่ว, การลุกลามขึ้นไปของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน, การใส่สายสวนปัสสาวะ, และภาวะที่มีทางเดินปัสสาวะตีบแคบ เช่น ภาวะตั้งครรภ์ (มดลูกที่โตและหนักจะกดท่อไตในขณะนอนหงาย) ภาวะต่อมลูกหมากโต (ทำให้ทางออกของน้ำปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะไหลไม่สะดวก) นอกจากนั้นการกลั้นปัสสาวะนานๆ และการมีหูรูดระหว่างท่อไตกับกระเพาะปัสสาวะหย่อน ก็อาจทำให้เกิดภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (Vesicoureteral reflux) ทำให้เชื้อโรคที่เจริญพันธุ์แล้วในกระเพาะปัสสาวะไหลขึ้นไปถึงกรวยไตได้

อาการของโรค

โรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการเสมอ และจะเริ่มต้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 1 วัน ลักษณะคือมีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดบั้นเอวข้างเดียว อาจมีหรือไม่มีอาการเบาขัดก็ได้ ถ้าลองปัสสาวะลงในภาชนะใส จะสังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีความขุ่นผิดปกติ อาการคลื่นไส้อาเจียนโดยที่ไม่มีท้องเสียหรืออาการปวดท้องใด ๆ พบได้ถึงร้อยละ 70 ของผู้ที่เป็นโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน และหากเอากำปั้นทุบเบา ๆ ลงไปที่บั้นเอวส่วนหลังข้างที่เจ็บจะทำให้เจ็บมากจนสะดุ้ง ซึ่งผิดกับโรคปวดเอวจากกล้ามเนื้อเคล็ดทั่วไป

โรคกรวยไตอักเสบถ้าเป็นซ้ำ ๆ นาน ๆ จะเข้าสู่ภาวะเรื้อรัง ซึ่งการเป็นแต่ละครั้งอาการจะเบาลง อาจมีเพียงไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้ อาการคลื่นไส้อาเจียนจะหายไป มีเพียงอาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย และปัสสาวะขุ่น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลันคือการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรงมาก และเกิดได้ไม่ยาก เพราะไตเป็นอวัยวะที่มีเส้นเลือดฝอยมาเลื้ยงมากมาย หากเกิดขึ้นโอกาสเสียชีวิตจะสูง โรคกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรังจะค่อย ๆ ดำเนินไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังในระยะ 10-20 ปี

การวินิจฉัยโรค

โรคกรวยไตอักเสบวินิจฉัยจากอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด และการตรวจปัสสาวะ การเพาะเชื้อขึ้นจากเลือดหรือปัสสาวะจะช่วยบอกถึงสาเหตุของเชื้อที่แน่ชัดได้ นอกจากนั้นอาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง เช่น การเอ็กซเรย์หรืออัลตราซาวน์เพื่อดูนิ่วที่ไต การฉีดสีดูโครงสร้างของท่อไตและการทำงานของไต การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

การรักษา

โรคกรวยไตอักเสบควรที่จะรักษาในโรงพยาบาล ในระยะแรกควรใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ให้สารน้ำเพื่อเร่งการขับน้ำปัสสาวะทิ้ง ประคับประคองอาการไข้และอาเจียน และเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หากเชื้อไม่ดื้อยาส่วนใหญ่ไข้จะลดใน 3-5 วัน อาการทั่วไปจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะต่อจนครบ 7 วัน และควรดื่มน้ำมาก ๆ ในระยะพักฟื้น

การป้องกัน

แนวทางการป้องกันโรคกรวยไตอักเสบจะคล้ายกับการป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น การระวังไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ อย่ากลั้นปัสสาวะถ้าไม่จำเป็น และควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนออกไปทำธุระข้างนอกและก่อนนอนทุกครั้ง