โรคหัดเยอรมัน (Rubella, German measles)

โรคหัดเยอรมันเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้ออกผื่นคล้ายโรคหัด แต่ความรุนแรงน้อยกว่า มักพบในเด็กโต ผื่นจะขึ้นเมื่อไข้หายไปแล้ว โรคหัดเยอรมันติดต่อโดยทางการหายใจเอาละอองของเชื้อในอากาศเข้าไป หรือสัมผัสกับเสมหะของผู้ติดเชื้อ ผู้ที่เคยเป็นแล้วมักมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต หญิงมีครรภ์ที่เป็นโรคหัดเยอรมันโดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ต้น ๆ ลูกที่เกิดมามีโอกาสมีรูปพิการ และเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด

อาการของโรค

โรคหัดเยอรมันมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ บางรายไม่มีอาการอะไรเลยโดยเฉพาะในเด็กเล็ก รายที่มีอาการจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ปวดตามตัว มีน้ำมูกเล็กน้อย เจ็บคอ ไอเล็กน้อย ดูในคอจะค่อนข้างสะอาด ไม่มีจุดสีขาวเทาของ Koplik's spots เหมือนอย่างในโรคหัด อาจมีตาแดงได้ อาการจะเป็นอยู่ 1-7 วัน

ระยะที่ผื่นขึ้นอาการไข้ เจ็บคอ ไอ จะหายไปหมด ผื่นจะเริ่มขึ้นที่หน้าก่อน ตั้งแต่หน้าผาก กกหู รอบปาก แล้วกระจายไปตามคอ ลำตัว แขนขา ตามลำดับ ผื่นจะขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในวันเดียวก็เต็มตัว ลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีชมพูอ่อน ซึ่งต่างจากผื่นของไข้อีดำอีแดงที่เป็นสีแดงจัด ผื่นของโรคหัดเยอรมันส่วนใหญ่จะหายไปเองใน 3 วัน

ลักษณะสำคัญที่พบประจำสำหรับโรคหัดเยอรมันคือต่อมน้ำเหลืองโต มักคลำได้ที่หลังกกหู หลังคอ รักแร้ ในเด็กมักไม่เจ็บ ในผู้ใหญ่อาจเจ็บบ้าง ต่อมน้ำเหลืองที่โตนี้จะโตก่อนผื่นขึ้น และจะโตอยู่นานหลาย ๆ วันแม้ผื่นจะหายไปแล้วก็ตาม

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดของโรคหัดเยอรมันคือข้ออักเสบ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่เพศหญิง มักเป็นตามข้อเล็ก ๆ ที่นิ้วมือ ข้อจะบวม แดง ร้อน และเจ็บ เริ่มเกิดในช่วงที่ออกผื่น และจะเป็นอยู่หลายวันถึงหลายสัปดาห์ บางรายมีอาการปวดย้ายข้อหลายข้อคล้ายไข้รูห์มาติค

ภาวะสมองอักเสบก็มีรายงาน อาการเกิดภายใน 1-2 วันหลังผื่นขึ้น ผู้ป่วยจะปวดศีรษะรุนแรง ซึมลง แล้วชัก ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่มีพยาธิสภาพเหลือ

การวินิจฉัย

ผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันส่วนใหญ่จะไปพบแพทย์ในช่วงที่ผื่นออกเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของผื่น เพราะช่วงที่มีอาการนำจะเป็นน้อยมาก แทบไม่รู้สึกว่าป่วยเลย หากคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่คอ, ลักษณะของผื่นเป็นสีชมพูอ่อน, และตรวจไม่พบไข้แล้ว ให้นึกถึงโรคหัดเยอรมันไว้ ในผู้ป่วยหญิงต้องดูว่ากำลังตั้งครรภ์หรือไม่

การวินิจฉัยโรคหัดเยอรมันอย่างแน่ชัดต้องตรวจหาแอนติบอดี้ย์ของโรคจากในเลือด 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อดูการเพิ่มขึ้น 4 เท่าของไตเตอร์เมื่อมีการติดเชื้อเฉียบพลัน แต่ถ้าผู้ป่วยมาในระยะที่ผื่นหายไปแล้วเกิน 3 สัปดาห์ แอนติบอดี้ย์จะขึ้นเต็มที่แล้ว และจะคงอยู่นานหลายปี จึงบอกไม่ได้ว่าเป็นการติดเชื้อหัดเยอรมันแบบเฉียบพลันหรือไม่

ผื่นของโรคหัดเยอรมันต้องวินิจฉัยแยกจากผื่นแพ้ยา โดยอาศัยประวัติการกินยา และการคลำพบต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในรายที่แพ้ยามักไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต

การรักษา

ยังไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับโรคหัดเยอรมัน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการน้อยจนไม่ต้องทานยาบรรเทาอะไร ยกเว้นในรายที่มีข้ออักเสบ อาจต้องให้ยารักษาอาการปวดข้อ ในรายที่มีสมองอักเสบก็ให้การรักษาแบบประคับประคอง

การป้องกัน

การป้องกันที่สำคัญหมายถึงการป้องกันหัดเยอรมันแต่กำเนิดมากกว่า เพราะแม่อาจไม่มีอาการอะไร แต่ลูกที่เกิดมามีโอกาสพิการสูง วัคซีน MMR ที่ฉีดให้กับเด็กทุกรายสามารถป้องกันโรคหัดเยอรมันได้หลายสิบปี แต่อย่างไรก็ตาม หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงจากสถานที่แออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการหายใจ