โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (Congenital rubella)
อุบัติการณ์ของโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดพบมากที่สุดเมื่อมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ถ้ามารดาติดเชื้อในช่วงเดือนแรกของอายุครรภ์ ทารกจะเป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิดร้อยละ 60-100 ถ้ามารดาติดเชื้อในช่วงเดือนที่สองของอายุครรภ์ ทารกจะเป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิดได้ร้อยละ 33-40 ถ้ามารดาติดเชื้อในช่วงเดือนที่สามของอายุครรภ์ ทารกจะเป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิดเพียงร้อยละ 5-10
ทารกที่เป็นหัดเยอรมันตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อาจจะแท้ง ตายคลอด หรือคลอดออกมาแต่พิการ หรือคลอดออกมาแล้วปกติก็ได้
อาการของโรค
โดยทั่วไปเด็กที่เป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดมักมีทั้งต้อกระจก หูหนวก และรูปพิการของหัวใจและหลอดเลือดใหญ่ เพราะอวัยวะทั้งสามมีช่วงการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกัน ความผิดปกตินี้เกิดจากการที่ไวรัสขัดขวางการกำเนิดของอวัยวะ ภาวะปัญญาอ่อนอาจเกิดขึ้นในบางราย
ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ตับม้ามโต กระดูกจางผิดปกติจากภาพเอ็กซเรย์ อาจพบในช่วงแรกเกิด แต่จะหายได้หลังอายุ 6 เดือนขึ้นไป
การวินิจฉัย
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดมี 2 ประเภท คือ
เกณฑ์วินิจฉัยทางคลีนิก ต้องมีอย่างน้อย 2 อย่างในข้อ ก. หรือมี 1 อย่างในข้อก. บวกกับอีก 1 อย่างในข้อข.
ก. ต้อกระจก เสียการได้ยิน โรคหัวใจแต่กำเนิด (PDA, peripheral pulmonic stenosis, ASD, VSD) ต้อหินแต่กำเนิด กระดูกจางจากเอ็กซเรย์
ข. จ้ำเลือดที่ผิวหนัง ตับม้ามโต อาการเหลืองในระยะแรกเกิด ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน
เกณฑ์วินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ต้องสามารถเพาะเชื้อไวรัสหัดเยอรมันได้จากอวัยวะที่ผิดปกติ ภายใน 4 สัปดาห์แรกหลังเกิด หรือ มีหลักฐานทางซีโรโลยี่อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ระดับของ HI แอนติบอดี้ย์สูงชัดเจนเมื่อตรวจระหว่างอายุ 6-11 เดือน (เพราะระยะนี้ระดับแอนติบอดี้ย์จากแม่ที่ผ่านทางรกหมดไปแล้ว ถ้าระดับแอนติบอดี้ย์ยังสูง แสดงว่าเด็กมีการติดเชื้อและเริ่มสร้างแอนติบอดี้ย์ขึ้นมาเอง)
- มีระดับของ rubella specific IgM antibody สูงตั้งแต่ระยะแรกเกิด (เนื่องจาก IgM ของแม่ไม่ผ่านรก)
การรักษา
ความพิการที่เกิดขึ้นในโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดส่วนใหญ่รักษาได้ ภาวะต้อกระจก ต้อหิน และโรคหัวใจแต่กำเนิดรักษาได้ด้วยการผ่าตัด การเสียการได้ยินก็สามารถบรรเทาได้โดยการใช้เครื่องช่วยฟัง การทำอรรถบำบัด (speech therapy) หรือการผ่าตัด
การป้องกัน
หญิงมีครรภ์ที่บังเอิญไปสัมผัสกับผู้ป่วยโรคหัดเยอรมัน ให้เจาะเลือดหา HI antibody ทันที ถ้าให้ผลบวก ไม่ต้องรักษา เพราะแสดงว่ามีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ถ้าให้ผลลบอาจทำดังนี้
- ถ้าอยู่ในระหว่าง 3 เดือนแรกของอายุครรภ์ และไม่สามารถทำแท้งได้ ให้ฉีด gamma globulin 20-30 มล. เข้ากล้ามเนื้อทันที ถึงแม้ว่าจะไม่ป้องกันโรคได้เด็ดขาดก็ยังดีกว่าไม่ป้องกันเสียเลย
- ถ้าอยู่ในระหว่าง 3 เดือนแรกของอายุครรภ์และทำแท้งได้ ให้ตรวจ HI antibody ซ้ำอีกครั้งใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา ถ้าให้ผลบวก ควรพิจารณาทำแท้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนแรก การทำแท้งนี้ถือเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
ถ้าเลือดครั้งแรกเจาะหลังจากสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคเกิน 1 สัปดาห์ไปแล้ว หรือเริ่มมีอาการที่สงสัยว่าจะติดเชื้อแล้ว ถ้าให้ผลบวก แอนติบอดีย์นั้นอาจเป็นภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ก่อนหรือเป็นจากการสร้างขึ้นใหม่เมื่อได้รับเชื้อครั้งนี้ก็ได้ จึงควรเจาะหา HI antibody ซ้ำในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา หากมีการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดี้ย์แสดงว่าเป็นการติดเชื้อใหม่ หากไม่มีการเพิ่มขึ้นแสดงว่าเป็นภูมิคุ้มกันเดิม และอาการที่เป็นครั้งนี้ไม่ใช่เป็นโรคหัดเยอรมัน เพราะภูมิคุ้มกันที่มีอยู่แล้วสามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต