โรคพยาธิสตรองจีลอยด์ (Strongyloidiasis)
โรคนี้เกิดจากพยาธิตัวกลมขนาดเล็กมาก ยาวเพียง 2 มม. ชื่อ Strongyloides stercoralis ในประเทศไทยพบมากในภาคอีสาน พยาธิตัวแก่จะฝังตัวอยู่ในเยื่อบุของลำไส้เล็กแถวดูโอดินั่มและเจจูนั่ม ตัวเมียออกไข่ แล้วฟักเป็นตัวอ่อนอยู่ภายในลำไส้นั้นเลย ตัวอ่อนอาจถูกถ่ายปนออกมากับอุจจาระ ตัวอ่อนที่ออกมาสามารถไชทะลุผิวหนังกลับเข้าไปในตัวคนได้ใหม่ ตัวอ่อนที่อยู่ภายในลำไส้ก็สามารถไชเข้ากระแสโลหิต ไปที่ปอด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้
อาการของโรค
ในขณะที่ตัวอ่อนไชเข้าผิวหนัง จะเกิดปฏิกิริยาของผื่นลมพิษ คัน ระหว่างที่พยาธิยังอยู่ที่ผิวหนัง อาจเห็นลักษณะของพยาธิที่ไชเป็นเส้นตรงหรือคดเคี้ยวอยู่ใต้ผิวหนัง ระยะนี้จะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ เมื่อพยาธิไชไปถึงปอด จะมีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอบ อาจมีไอเป็นเลือดได้ ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการที่ปอดนี้จะเป็นรุนแรง และวินิจฉัยได้ลำบาก เว้นแต่ว่าการตรวจเสมหะจะพบตัวอ่อนของพยาธิออกมาด้วย
อาการของพยาธิตัวแก่ในลำไส้เล็ก จะทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืดเหมือนอาหารไม่ย่อย อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ คล้าย sprue-like syndrome ในเด็กที่เป็นนาน ๆ จะเกิดอาการขาดอาหาร ซีด บวม ตับโต
ในผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน หรือได้รับสารสเตียรอยด์ หรือยาที่กดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ หากตัวอ่อนของพยาธิไชเข้ากระแสโลหิตไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต ปอด สมองได้แล้ว จะเรียกว่าเป็นภาวะแพร่กระจายของสตรองจีลอยด์ (disseminated strongyloidiasis) ซึ่งมักมีการติดเชื้อแบคทีเรียกรัมลบร่วมด้วย โอกาสเสียชีวิตจะสูงมาก
การวินิจฉัย
โรคนี้วินิจฉัยโดยการตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิในอุจจาระ หรือเสมหะ หรือที่ผิวหนัง หากไม่พบให้สงสัยในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงและมีภาวะอีโอซิโนฟิลในเลือดสูง