โรคบาดทะยัก (Tetanus)
โรคบาดทะยักเกิดจากเชื้อ Clostridium tetani เป็นแบคทีเรียรูปแท่ง กรัมบวก เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีออกซิเจนน้อย เวลาที่อยู่ตามพื้นดินจะอยู่ในรูปของสปอร์ที่มีความทนทาน สามารถอยู่ในที่ร้อนและแห้งได้นานเป็นเดือน ๆ
เชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ที่พบบ่อยคือทางบาดแผล ทางสายสะดือในทารกแรกเกิด ทางหูในรายที่เป็นหูน้ำหนวก ทางฟันผุ และทางต่อมทอนซิล เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะสร้างสารพิษ (exotoxin) เข้าสู่ระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง
อาการของโรค
อาการเกิดขึ้นหลังจากรับเชื้อบาดทะยักเข้าไปประมาณ 5-10 วัน ความรุนแรงของโรคขึ้นกับระยะฟักตัว ถ้าระยะฟักตัวสั้นโรคจะมีความรุนแรงมาก
อาการสำคัญ 5 อย่างของโรคบาดทะยักคือ
- อ้าปากไม่ค่อยได้เพราะขากรรไกรแข็ง (trismus/lock jaws)
- กลืนอาหารลำบาก
- คอแข็ง ท้องแข็ง หลังแข็ง ก้มตัวไม่ได้
- ขาเกร็ง เดินไม่ถนัด เดินทื่อ ๆ มีการกระตุกเกร็งที่ขา
- อาการชัก
อาการอาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกันหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไปมักมีอาการเหล่านี้ครบ
ผู้ป่วยโรคบาดทะยักจะรู้สึกตัวดี อาจมีไข้หรือไม่มีก็ได้ กล้ามเนื้อมักหดเกร็งเวลาที่ถูกกระตุ้น เช่น เวลามีคนไปจับตัวหรือได้ยินเสียงดัง ใบหน้าจะดูคล้ายคนแสยะยิ้ม (risus sardonicus) เพราะกล้ามเนื้อใบหน้าหดเกร็ง บางรายที่เป็นรุนแรงจะมีเหงื่อออกมาก ใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงเป็นพัก ๆ พยากรณ์โรคจะไม่ดีในรายที่อายุมาก, ระยะฟักตัวของโรคสั้น, ระยะเวลาที่ขากรรไกรเริ่มแข็งจนถึงชักใช้เวลาน้อยกว่า 48 ชั่วโมง, มีไข้สูง, หรือชักตลอดเวลา
โรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิดมักได้ประวัติว่ามารดาไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีการคลอดและการดูแลสายสะดือที่ไม่สะอาด เด็กจะไม่ยอมดูดนม หรือดูดแล้วน้ำนมไหลออกทางด้านข้างของปาก แล้วจะเริ่มมีชักเกร็ง หลังแอ่น (opisthotonos) โรคบาดทะยักในทารกมีอัตราตายถึงร้อยละ 50
การวินิจฉัย
เนื่องจากโรคบาดทะยักเกิดจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย และโอกาสจะพบเชื้อ C. tetani ในกระแสเลือดมีน้อยมาก การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยประวัติและอาการทางคลีนิค
การรักษา
การรักษาโรคบาดทะยักที่สำคัญคือการให้ Tetanus antitoxin (TAT) หรือ Tetanus immunoglobulin (TIG) เพื่อป้องกัน toxin ที่ยังไม่ได้รวมตัวกับเนื้อเยื่อประสาทเข้าสู่ระบบประสาทได้ (แต่ไม่สามารถทำลาย toxin ที่เข้าสู่ระบบประสาทไปแล้ว) นอกจากนั้นควรทำล้างความสะอาดแผล ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียไม่ให้สร้าง exotoxin เพิ่ม ให้ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ และยากันชักเพื่อลดอาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยควรจะอยู่ในห้องที่เงียบสงบปราศจากสิ่งเร้า ส่วนใหญ่ต้องให้อาหารและสารน้ำทางสายยาง บางรายอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อป้องกันการขาดออกซิเจนระหว่างที่ชักบ่อย ๆ และป้องกันภาวะปอดอักเสบจากการสำลักน้ำลายหรืออาหาร ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย
ผู้ป่วยที่เป็นบาดทะยักต้องอาศัยเวลาและความอดทนอย่างมากเพราะผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดี แต่กว่าที่โรคจะดีขึ้นอาจกินเวลานานถึง 3-4 สัปดาห์ และกว่าจะหายสนิทก็อีกหลายเดือน
การป้องกัน
การป้องกันโรคบาดทะยักแบ่งออกเป็น การป้องกันก่อนการสัมผัสกับโรค (pre-exposure prevention) และการป้องกันการเกิดโรคหลังสัมผัสกับเชื้อแล้ว (post-exposure prevention)
การป้องกันก่อนการสัมผัสกับโรคบาดทะยักได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักในหญิงที่ตั้งครรภ์ทุกราย และการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน ในเด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน, 12-18 เดือน, และ 4-6 ปี
การป้องกันการเกิดโรคบาดทะยักหลังเกิดบาดแผลขึ้นแล้วได้แก่ การฉีดวัคซีนและอาจร่วมกับอิมมูโนโกลบูลินในแผลฉีกขาดที่สกปรก ลึก หรือเกิดขึ้นนานกว่า 6 ชั่วโมง ศัลยแพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้ตัดสินความเหมาะสมของการป้องกันประเภทนี้