โรคพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)

ที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะพยาธิตัวแก่ (Trichuris trichiura) มักจะขดม้วนส่วนหัวแล้วปล่อยหางที่เล็กบางไว้ยาวคล้ายแส้ พบมากทางภาคใต้คล้ายพยาธิไส้เดือนกลม พยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ในลำไส้ส่วนซีคั่ม ตัวเมียตัวหนึ่งออกไข่วันละ 3,000-7,000 ฟอง ไข่จะออกมากับอุจจาระ หากลงดิน เมื่อมีความชื้นและอุณหภูมิพอเหมาะ เซลล์ในไข่จะเจริญเป็นตัวอ่อนภายในเวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อคนกินไข่ระยะติดต่อนี้เข้าไป เปลือกไข่จะถูกย่อย แล้วตัวอ่อนจะออกมาเจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้ส่วนซีคั่ม

อาการของโรค

โรคนี้พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน อุจจาระเป็นมูกเลือด เพราะพยาธิฝังหัวและลำตัวส่วนหน้าเข้าไปในเยื่อบุลำไส้ ทำให้เกิดแผล หากมีพยาธิเป็นเวลานานจะทำให้ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลด แผลที่ซีคั่มอาจติดเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระที่พักไว้ ทำให้ลำไส้อักเสบ ผู้ป่วยจะปวดท้องด้านขวาล่างคล้ายไส้ติ่งอักเสบ ตัวพยาธิเองก็อาจไชเข้าไปในไส้ติ่งที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดไส้ติ่งอักเสบจริง ๆ

ในเด็กที่เป็นรุนแรงอาจมีลำไส้ส่วนเร็คตั้มปลิ้นออกมา (rectal prolapse) พร้อมกับมีพยาธิแส้ม้าตัวแก่เกาะติดอยู่ที่เยื่อบุลำไส้

การวินิจฉัย

โดยการตรวจพบไข่ของพยาธิชนิดนี้ในอุจจาระ ไข่ของพยาธิแส้ม้าจะมีลักษณะเป็นวงรี มีฝาปิดสองด้าน