กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส (Viral myocarditis)
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นโรคที่เกิดได้หลายสาเหตุ การติดเชื้อจุลชีพเป็นสาเหตุหนึ่ง เข้าใจว่าไวรัสเป็นสาเหตุประมาณครึ่งหนึ่งของเชื้อทั้งหมดที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เชื้อที่พบได้บ่อยคือ Coxsackie B และ A virus, Echovirus, Influenza A virus นอกนั้นเช่น Mumps, Measles, Rubella, Varicella zoster, Herpes simplex EBV และ Cytomegalovirus ก็ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้หมด
อาการของโรค
ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่จะไม่มีอาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด มีแต่ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจชั่วคราว ซึ่งมักกลับเป็นปกติเองใน 2-4 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการยังแบ่งออกได้เป็นอาการแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
อาการแบบเฉียบพลันจะเริ่มด้วยไข้ ชีพจรเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหนื่อย เจ็บหน้าอก หากเป็นในเด็กเล็กเด็กจะซึม หายใจหอบ เขียว ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการของหัวใจวาย มีเลือดคั่งในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
อาการแบบเรื้อรังพบไม่บ่อย มักเริ่มด้วยอาการคล้ายหวัด ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก และเหนื่อยง่าย อาการจะคงอยู่หลายสัปดาห์ แล้วค่อย ๆ เลวลงในระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี
การวินิจฉัย
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัสวินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก สิ่งแรกคือต้องมีอาการทางคลีนิกแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องตรวจพบเชื้อไวรัสจากอุจจาระหรือเมือกในคอหรือจากซีโรโลยี่ในเลือด และสุดท้ายต้องมีข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บ่งว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ทำ Echocardiography แล้วพบการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจผิดปกติ
- ตรวจพบเชื้อไวรัสในกล้ามเนื้อหัวใจ
การรักษา
ยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส ใช้การรักษาตามความผิดปกติของหัวใจที่เกิดขึ้น ในระยะเฉียบพลันควรให้นอนพักนาน 1-3 เดือน แม้ไข้จะหายแล้ว หากมีภาวะหัวใจล้มเหลวต้องจำกัดน้ำดื่ม และทานยาขับปัสสาวะ ในรายที่เป็นเรื้อรังจนเยื่อหุ้มหัวใจหนา เสียความยืดหยุ่นไปแล้ว ต้องให้ยารักษาแบบหัวใจล้มเหลวตลอดไป