แผลริมอ่อน (Chancroid)
แผลริมอ่อนเป็นกามโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกรัมลบที่ไม่ชอบออกซิเจน ชื่อ Haemophillus ducreyi เชื้อเข้าทางผิวหนังที่มีรอยถลอกระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ จากนั้นจะสร้างสารพิษ (HdCDT) ขึ้นมาทำให้เกิดเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศและมีหนองไหล ไม่สามารถหายได้เองถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีแผลริมอ่อนจะง่ายต่อการติดเชื้อเอดส์มากขึ้นขณะมีเพศสัมพันธ์
อาการของโรค
อาการจะเกิดหลังจากรับเชื้อแล้ว 3-5 วัน โดยในเพศชายจะเริ่มจากมีตุ่มนูน เจ็บ ที่บริเวณเส้นสองสลึง จากนั้นจะมีแผลเล็ก ๆ หลายแผลที่องคชาต ขอบแผลนูน ไม่เรียบ ก้นแผลมีหนอง และเจ็บมาก ต่อมาแผลเล็ก ๆ เหล่านี้จะขยายรวมกันเป็นแผลใหญ่ แผลจะนุ่มไม่แข็ง ซึ่งต่างจากโรคซิฟิลิสที่ขอบแผลจะแข็งและไม่เจ็บ ส่วนผู้หญิงแผลจะอยู่บริเวณแคมเล็กและมักไม่เจ็บ แต่จะมีตกขาวมากและมีกลิ่นเหม็น ทั้งเพศชายและหญิงอาจมีไข้และต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต กดเจ็บได้
เชื้อ Haemophillus ducreyi จำนวนมากจะอยู่ที่หนอง หากใช้มือสัมผัสกับแผลหนองโดยตรงแล้วไม่ได้ล้างให้สะอาด เวลาเอามือไปเกาที่อื่นก็อาจพาเชื้อไปติดที่อวัยวะส่วนอื่นได้
การวินิจฉัยโรค
แผลริมอ่อนแยกจากแผลของโรคเริมตรงที่มีหนองมากกว่า และไม่แห้งหายไปเองใน 7 วันเหมือนโรคเริม ในรายที่มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต กดเจ็บ ต้องแยกจากโรคฝีมะม่วงด้วย แต่แผลของโรคฝีมะม่วงมักจะหายไปแล้วหรือกำลังจะดีขึ้นในตอนที่มีต่อมน้ำเหลืองโต
การวินิจฉัยคร่าว ๆ อาจทำได้โดยการเอาหนองมาย้อมสีกรัม จะพบแบคทีเรียสีแดงต่อกันเป็นสายจำนวนมาก
ส่วนการวินิจฉัยที่แน่ชัดต้องอาศัยการตรวจ Polymerase chain reaction (PCR) แต่ก็มีราคาแพง และใช้เวลา ส่วนการเพาะเลี้ยงเชื้อทำได้ยาก เพราะเชื้อนี้เจริญในสภาพที่ไร้ออกซิเจน การตรวจด้วย Immunochromatography ก็มีความไวต่ำ
องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดเกณฑ์ในการวินิจฉัยแผลริมอ่อนไว้ดังนี้ (ต้องมีครบทั้ง 5 ข้อ)
- มีแผลเจ็บที่อวัยวะเพศ
- ตรวจหนองที่แผลด้วยกล้อง darkfield ไม่พบเชื้อซิฟิลิส
- VDRL หลังเกิดแผล 7 วันให้ผลลบ
- ไม่พบหลักฐานของการติดเชื้อเริม
- อาการของโรคเข้าได้กับแผลริมอ่อน (เกิดแผลเร็วภายใน 7 วันหลังรับเชื้อ แผลเจ็บ มีหนองมาก ไม่หายเอง มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ย้อมกรัมพบแบคทีเรียกรัมลบเป็นสาย)
ผู้ป่วยที่เป็นแผลรีมอ่อนควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองโรคเอดส์ด้วย
การรักษา
แผลริมอ่อนรักษาได้ไม่ยาก แต่ที่สำคัญต้องรักษาไปพร้อม ๆ กับคู่นอน เพื่อไม่ให้ติดโรคซ้ำไปซ้ำมาอีก และควรงดมีเพศสัมพันธ์ขณะมีแผลจนกว่าแผลจะหายปกติ
ยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้ผลมีหลายชนิด เช่น
- Azithromycin รับประทาน 1 กรัม ครั้งเดียว
- Ceftriaxone ขนาด 250 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว
- Erythromycin รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งนาน 7 วัน
- Ciprofloxacin รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน (ยานี้ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และช่วงที่ให้นมบุตร)
ในกรณีที่มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตมากจนเป็นหนอง แพทย์อาจใช้เข็มดูดหนองออก หรือทำการผ่าฝีไล่หนองออกมา
โดยทั่วไปแผลจะดีขึ้นมากภายใน 3 วัน และหายสนิทใน 1-2 สัปดาห์ หากแผลไม่หายต้องคิดว่าอาจวินิจฉัยโรคผิด หรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ ซึ่งจะทำให้ผลการรักษาไม่ดี ส่วนต่อมน้ำเหลืองที่โตอาจหายช้ากว่าแผลที่อวัยวะเพศ โดยมากจะค่อย ๆ ยุบลงช้า ๆ
การป้องกัน
การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์เสมอ, หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีแผลที่อวัยวะเพศ นอกจากนั้นก็รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศหลังมีเพศสัมพันธ์เสมอ และไม่สำส่อนทางเพศ