อาการของโรคติดเชื้อ

โรคติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีระยะฟักตัว หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่ที่ได้รับเชื้อจนถึงแสดงอาการ ซึ่งยาวไม่เท่ากันในแต่ละคนและแต่ละโรค อาการของโรคติดเชื้อประกอบด้วยอาการพื้นฐาน (ซึ่งเหมือนกันหมด คือ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเนื้อตัว) กับอาการตามระบบที่ติดเชื้อ ในช่วงเริ่มต้น ในคนปกติที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องอายุ ระบบภูมิคุ้มกัน และโรคประจำตัว เมื่อรู้ตัวว่าป่วยควรเริ่มพัก และเปิดโอกาสให้ระบบตามธรรมชาติที่ถูกสร้างมาพร้อม ๆ กับตัวเราทำงานก่อน ส่วนใหญ่ร่างกายมักจะสามารถรักษาตัวเองได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

ควรพบแพทย์เมื่อไรดี

อาการที่บ่งชี้ว่าควรเริ่มไปพบแพทย์คือ

  • มีไข้เกือบตลอดวันติดต่อกันนานเกิน 48 ชั่วโมง หรือมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ เกินกว่า 1 สัปดาห์
  • มีไข้ร่วมกับอาการอื่นที่รุนแรง เช่น ปวดท้องมาก, ปวดศีรษะมาก, ชัก, ไอจนเหนื่อย, เจ็บคอมากจนกลืนลำบาก, ปัสสวะแสบขัดและกลั้นไม่ได้, ปวดบวมแดงร้อนที่ผิวหนังหรือที่ข้อ, อ่อนแรงจนทำงานไม่ไหว เป็นต้น

ในการไปพบแพทย์ ควรเตรียมเล่าอาการที่เกิดอย่างละเอียดและเป็นลำดับเวลา แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อจากลักษณะอาการที่จำเพาะของโรคนั้นเป็นหลัก ร่วมกับผลการตรวจที่สนับสนุนว่าเป็นการติดเชื้อโรคชนิดเดียวกับที่ต้องสงสัย ในช่วง 2-3 แรกของไข้ ลักษณะที่จำเพาะของแต่ละโรคอาจยังไม่ดำเนินไปจนแยกจากกันได้ชัด และยิ่งไม่ต้องพูดถึงผลตรวจ หลักฐานทางห้องปฏิบัติการมักปรากฏช้ากว่าอาการเสมอ การไปพบแพทย์ทันทีที่มีไข้ แพทย์มักทำได้เพียงให้ยาทุเลาอาการและอาจนัดตรวจซ้ำอีกครั้งหรือเตือนให้เฝ้าสังเกตอาการต่อไป ซึ่งบ่อยครั้งไข้ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อ อาจเป็นเพียงสัญญาณเตือนของร่างกายว่า เรากำลังหักโหมเกินไปนะ ควรที่จะพักได้แล้ว

การมีไข้ร่วมกับอาการอื่นที่รุนแรงเป็นสัญญาณบอกเราอีกเหมือนกันว่า ร่างกายกำลังเอาไม่อยู่แล้วนะ ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือทันที ไม่ต้องรอให้เกินระยะเวลาที่แนะนำไปในเบื้องต้น

ไข้ในเด็กและผู้สูงอายุ

ในเด็กเวลาที่มีการติดเชื้อ ปฏิกิริยา "ระดมพล" (มีไข้) ของร่างกายมักน่ากลัว ไข้จะสูงปรี๊ด และอาจไม่ลดเลยแม้จะเช็ดตัวหรือให้ยาลดไข้ ในกรณีนี้ผู้ปกครองควรพิจารณาอาการตื่นตัวกระฉับกระเฉงของเด็กเป็นหลัก หากเด็กซึม ไม่เล่นหัวอย่างเช่นทุกวัน หรือหายใจเร็วจนรูจมูกบาน ก็ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์เช่นกัน มีบ่อยครั้งที่เด็กมีไข้แต่ก็ยังวิ่งเล่น ทานอาหารได้ เกือบจะเป็นปกติ นั่นแสดงว่าร่างกายของเด็กสมบูรณ์แข็งแรง และกำลังเรียนรู้ที่จะจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ด้วยทรัพยากรที่ธรรมชาติได้ให้เขามาแต่กำเนิด

ในทารกวัยต่ำกว่า 1 เดือนหรือในทารกที่คลอดก่อนกำหนดวัยต่ำกว่า 2 เดือน ร่างกายเขายังใหม่ต่อโลกมาก การติดเชื้อใดใดมักนำไปสู่การเจ็บป่วยได้ง่าย คุณแม่มือใหม่ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์หากลูกมีอาการผิดปกติ ในเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบเวลามีไข้มีโอกาสจะชักได้ เมื่อลูกมีไข้ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นทันที นั่นคือสิ่งแรกที่ควรทำเสมอก่อนที่จะให้ยาลดไข้ การเช็ดตัวให้เด็กและอยู่กับเขาจนตัวแห้งก่อนที่จะใส่เสื้อผ้าให้เขาจะทำให้เขารู้ว่ามีคนที่รักเขาและเป็นหลักให้เขาได้เสมอยามที่เขาทรุด สิ่งนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้เขาเมื่อเติบใหญ่

ในผู้สูงอายุมักตรงกันข้าม ปฏิกิริยา "ระดมพล" อาจไม่มีให้เห็น ผู้สูงอายุบ่อยครั้งที่มีอาการป่วยของอวัยะที่ติดเชื้อชัดเจนแต่ไม่มีไข้ หรือมีเพียงไข้ต่ำ ๆ ผู้ดูแลก็ควรที่จะพิจารณาจากอาการที่เป็นว่า ท่าน ไหวไหม (ไม่ใช่ เรา ไหวไหม) ควรเฝ้าดูท่านอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะเวลาที่ท่าน ไม่ไหว มักเกิดฉับพลัน และล้มเป็นกระดาน หากไม่แน่ใจก็ไม่เป็นการเสียหายที่จะพาท่านไปพบแพทย์เสียแต่เนิ่น ๆ

สิ่งที่ควรตระหนัก

ในยุคที่มีการผลิตยาปฏิชีวนะ (หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ยาฆ่าเชื้อ) ออกมามากมาย อันตรายของโรคติดเชื้อไม่ได้อยู่ที่การรักษาโรคไม่ได้(เพราะไปพบแพทย์ช้าไปหรืออะไรก็ตามที) แต่อยู่ที่การใช้ยารักษาโรคเร็วเกินไป ไม่ได้รอให้กลไกการกำจัดเชื้อของร่างกายทำงานตามธรรมชาติก่อน การใช้ยาทำให้เชื้อโรคมีการพัฒนาตัวมันเองให้ดื้อยาหรือเกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีการแสดงออกที่ดุร้ายมากยิ่งขึ้น