โรคเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัส (Viral conjunctivitis)

โรคเยื่อบุตาอักเสบอาจเกิดจากเชื้อโรค ภูมิแพ้ สารเคมี หรือภาวะอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาจเรียกว่า "โรคตาแดง" ที่คนทั่วไปเป็นกัน โรคเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสติดต่อกันง่าย เพราะเชื้อจะอยู่ในน้ำตาและขี้ตา หากผู้ป่วยเอามือไปขยี้ตาแล้วไม่ได้ล้างมือทันที แต่ไปสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ต่อ ผู้ที่จับข้าวของเครื่องใช้นั้นแล้วมาขยี้ตาตัวเองในภายหลังก็อาจติดโรคนี้ได้โดยง่าย แม้โรคนี้จะไม่รุนแรงและหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ก็มีโอกาสเกิดโรคกระจกตาอักเสบที่ร้ายแรงแทรกซ้อนมาในภายหลัง

ไวรัสที่ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบที่พบบ่อยคือ adenovirus, picornarvirus ส่วนไวรัสที่ทำให้เกิดระบาดตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน เป็นครั้งคราว ได้แก่ enterovirus type 70, coxsackie virus A type 24 เป็นต้น โรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น เช่น โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และเริม ก็ทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้

อาการของโรค

อาการจะเกิดภายใน 1-3 วันหลังรับเชื้อหรือคลุกคลีกับคนที่เป็นโรค ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดงอย่างฉับพลัน มักเป็นกับตาข้างหนึ่งก่อน ต่อมาอีก 2-3 วันจึงค่อยลามไปที่ตาอีกข้างหนึ่ง ตาข้างที่แดงจะเคือง น้ำตาไหล ลืมตาไม่ได้ตามปกติ บางรายมีเยื่อบุตาบวมเป็นถุงน้ำใส ๆ ที่ตาขาว มักไม่มีขี้ตาหรือมีก็เป็นเพียงเมือกใส ๆ เล็กน้อย ผู้ป่วยบางรายจะมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูโตและกดเจ็บด้วย ระยะเวลาของโรคนี้จะเป็นนานประมาณ 10-14 วัน

ในบางรายเมื่ออาการตาแดงดีขึ้น อาจเกิดมีกระจกตาอักเสบตามมา โดยจะสังเกตได้จากอาการตามัวลงและปวดตามากขึ้นโดยเฉพาะเวลากรอกตา และอาจมีไข้ขึ้นด้วย มักเกิดในช่วงวันที่ 7-10 หลังเริ่มเป็นตาแดง กระจกตาอักเสบนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเป็นนานเป็นเดือนกว่าจะหาย

การวินิจฉัย

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสต้องแยกจากโรคที่มีอาการตาแดงเหมือนกัน เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งมักเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง และมีอาการคันตาร่วมด้วย, โรคเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งมักมีขี้ตาสีเหลืองเหลว ๆ คล้ายหนองไหลออกมาก, โรคม่านตาอักเสบ ซึ่งจะมีม่านตาหดเล็กและสู้แสงไม่ได้, หากมีอาการปวดตามากและตามัวต้องนึกถึงภาวะที่กระจกตา (เช่น มีแผลหรือรอยถลอกที่กระจกตา, กระจกตาอักเสบ) และโรคต้อหิน

การวินิจฉัยโรคอาศัยจากประวัติและอาการแสดงเป็นหลัก การตรวจหาเชื้อไวรัสมีราคาแพงและใช้เวลา ไม่คุ้มกับโรคที่เป็นไม่รุนแรง การตรวจหาเชื้ออาจทำในรายที่
- อาการเป็นมาก สงสัยว่าอาจเป็นเชื้ออื่น
- เป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือหายแล้วเป็นซ้ำอีกในเวลาไล่เลี่ยกันโดยไม่ได้ไปคลุกคลีกับผู้ที่เป็นโรคอีก
- ไม่ตอบสนองต่อการรักษา

โดยอาจนำของเหลวจากตาไปเพาะเชื้อแบคทีเรีย ย้อม Gram และ Giemsa รวมทั้งดูสดจากกล้องจุลทรรศน์ หรืออาจส่งตรวจ ELISA หรือ PCR ก็ได้

การรักษา

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส จึงยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ยาต้านไวรัสต่าง ๆ ที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลกับโรคนี้ ส่วนใหญ่จึงให้การรักษาตามอาการ เช่น

  • ถ้ามีขี้ตาให้ใช้สำลีชุบน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดบริเวณเปลือกตาให้สะอาด
  • ใส่แว่นกันแดดเพื่อลดอาการเคืองแสง งดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าจะหายอักเสบ และพักการใช้สายตา
  • แพทย์มักให้ยาปฏิชีวนะหยอดตาและป้ายตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ซึ่งพบได้บ่อย ควรหยอดยาเฉพาะตาข้างที่เป็น ไม่ควรหยอดตาข้างที่ยังไม่เป็น เพราะจะเป็นการแพร่เชื้อไปยังตาข้างนั้น และไม่ควรใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น ล้างมือหลังหยอดยาเสร็จทุกครั้ง
  • ประคบเย็นรอบดวงตาวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ10-15 นาที เพื่อบรรเทาอาการปวด รับประทานยาแก้ปวดถ้ามีอาการเจ็บตามาก

การป้องกัน

การป้องกันการติดโรคตาแดงจากเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก ผู้ที่กำลังเป็นโรคควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน ไม่ควรจับต้องบริเวณดวงตา และล้างมือบ่อย ๆ ระหว่างที่เป็นตาแดงก็ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ

บุคคลทั่วไปสามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้โดยการไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น ล้างมือบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย และไม่ควรใช้มือที่ยังไม่ได้ล้างขยี้ตา