โรคพยาธิแองจิโอสตรองจีลัส (Angiostrongyliasis)
โรคนี้เกิดจากพยาธิตัวกลมขนาดเล็กชื่อ Angiostrongylus cantonensis อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พบมากทางภาคอีสานและภาคกลางของไทย พยาธิตัวแก่จะออกไข่แล้วฟักเป็นตัวอ่อนในปอดหนู ตัวอ่อนเดินทางขึ้นไปตามหลอดลมจนถึงคอหอย ก็จะถูกหนูกลืนลงไปในกระเพาะอาหาร ผ่านลำไส้ แล้วหนูถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระ
ตัวอ่อนจะไชเข้าโฮ้สท์กลางซึ่งได้แก่พวกหอยโข่ง หอยปัง หอยทาก กุ้ง เจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ เมื่อคนกินหอยหรือกุ้งสุก ๆ ดิบ ๆ เช่นทำเป็นยำหรือพล่า ก็จะได้พยาธิเข้าไปในตัว ตัวอ่อนของพยาธิจะเดินทางไปที่สมอง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ
อาการของโรค
อาการแต่ละรายจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก บางรายเริ่มมีอาการหลังรับประทานหอยโข่งดิบเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่บางรายมีระยะฟักตัวนานถึง 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนก่อนจะมีอาการทางสมอง แต่บางรายก็เริ่มมีอาการทางสมองเลย
อาการหลักคือปวดศีรษะและมีไข้ มีอัมพาตของแขนขา หรือกล้ามเนื้อใบหน้า คอแข็ง ไม่ค่อยรู้สึกตัว พยาธิอาจไชเข้าไปในลูกตาทำให้ตาเหล่ เห็นภาพซ้อน หรืออาจทำให้ตาบอดได้
การวินิจฉัย
ต้องอาศัยประวัติการกินหอยหรือกุ้งสุก ๆ ดิบ ๆ ตรวจเลือดและน้ำไขสันหลังพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลเป็นจำนวนมาก และผลการตรวจ ELISA สำหรับพยาธิชนิดนี้มาประกอบ การวินิจฉัยตัวพยาธิแน่นอนต้องพบตัวอ่อนของพยาธิในอวัยวะที่มันอยู่ ซึ่งเป็นไปได้ยาก นอกจากผู้ป่วยจะเสียชีวิต
โรคนี้ต้องแยกจากโรคพยาธิชนิดอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายกันทางสมอง เช่น โรคพยาธิตัวจี๊ด โรคทริฆิโนสิส โรคท็อกโซคาริเอสิส โรคพยาธิตืดหมู โรคพยาธิใบไม้ในปอด และโรคพยาธิใบไม้ในเลือด
การรักษา
ยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ มีการศึกษาใช้ยา Albendazole ควบคู่ไปกับ Dexamethasone พบว่าให้ผลดีพอสมควร อาจเป็นเพราะโรคนี้มีอัตราตายต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง เพราะสมองคนไม่ใช่ที่อยู่เฉพาะของเชื้อนี้ พยาธิตัวอ่อนจะเจริญไม่ดี และจะตายไปเองใน 1-2 เดือน การรักษาส่วนใหญ่ใช้การประคับประคองอาการ โดยให้พัก ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด และควรเจาะน้ำไขสันหลังออกเสียบ้างเพื่อลดความดันในช่องกะโหลกศีรษะ
การป้องกัน
การป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ดูจะง่ายที่สุด โดยเลิกรับประทานหอยหรือกุ้งสุก ๆ ดิบ ๆ เนื้อสัตว์ทุกชนิดควรปรุงสุกก่อนรับประทานเสมอ