โรคหวัด (Acute rhinitis, Coryza, Common cold)
โรคหวัดเกิดได้จากไวรัสหลายชนิด เช่น Rhinovirus, Coronavirus, Parainfluenza virus, Respiratory syncytial virus, Adenovirus, Coxsackie virus เป็นต้น ร้อยละ 40 ของโรคหวัดไม่ทราบเชื้อที่เป็นสาเหตุ การป้ายน้ำมูกจากในโพรงจมูกหรือส่งตรวจเลือดจะช่วยพิเคราะห์หาชนิดของเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุได้แน่ชัดขึ้น แต่ในทางปฏิบัติไม่นิยมทำกัน เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก และโรคก็มีอาการไม่รุนแรง ทุเลาได้เอง ยกเว้นในเด็กเล็กอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายเกิดขึ้นได้
อาการของโรค
อาการของโรคหวัดเกิดขึ้นหลังเชื้อเข้าทางจมูกหรือเยื่อบุตาประมาณ 1-3 วัน อาการสำคัญคือ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ ไอ เสียงแหบ มักมีไข้ต่ำ ๆ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อ่อนเพลียร่วมด้วย ในเด็กไข้มักสูงกว่าผู้ใหญ่ เด็กมักจะนอนซม ไม่วิ่งเล่นเหมือนเคย อาการเหล่านี้จะเป็นมากในวันที่ 2-3 ของโรค และจะทุเลาลงในวันต่อ ๆ มา โรคหวัดที่เกิดจากเชื้อ Adenovirus และ Coxsackie virus อาจมีเยื่อบุตาอักเสบร่วมด้วย อาการโดยเฉลี่ยจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคหวัดคือ หูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ และหลอดลมฝอยอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก และอาจนำไปสู่ความพิการได้
การวินิจฉัย
โรคหวัดเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยมาก อาจเกิดขึ้นนับสิบครั้งในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง และเป็นโรคที่มีอาการเฉพาะตัว ส่วนใหญ่เราจะวินิจฉัยได้เอง แต่ในรายที่เป็นซ้ำ ๆ ตลอดปีต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคภูมิแพ้ ซึ่งมักมีอาการคันจมูกด้วย และแยกจากโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นที่อาการเริ่มต้นอาจเหมือนไข้หวัด แต่อาการแสดงของโรคอื่นจะเห็นได้ชัดขึ้นหลังวันที่สามของโรค ซึ่งถ้าเป็นโรคหวัด อาการต่าง ๆ ควรจะทุเลาลง
การวินิจฉัยที่สำคัญคือการเฝ้าระวังว่าเราหรือผู้ที่เราดูแลจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากโรคหวัดหรือไม่ โดยต้องอ้าปากดูในคอหอย สังเกตอาการหูอื้อและปวดหู คลำต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอ อาการแทรกซ้อนก็มักเกิดหลังวันที่สามของโรคเป็นต้นไป การเฝ้าสังเกตุการเปลี่ยนแปลงอาการของตัวเอง อาจได้ผลที่แม่นยำกว่าการตรวจเพียงบางเวลาของแพทย์ หากเริ่มมีอาการเจ็บคอมาก ดูในคอแดงก่ำหรือมีจุดขาว ๆ เกิดขึ้น หรือมีอาการหูอื้อข้างเดียว หรือไข้ไม่ลดหลังวันที่สาม หรือเริ่มมีผื่นออกตามตัว หรือไอมากจนไม่ได้หลับ หรือคลำข้างลำคอได้ก้อนบวม ๆ กดเจ็บ เหล่านี้ ค่อยไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและเอ็กซเรย์ปอดให้แน่ใจอีกครั้ง
การรักษา
โรคหวัดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอาจรักษาด้วยวิธีการพักร่างกาย ทำร่างกายให้อบอุ่น เช็ดตัวเวลามีไข้ หรือใช้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาระงับการไอ เพื่อบรรเทาอาการในระยะ 2-3 วันแรก โรคหวัดที่มีภาวะแทรกซ้อนต้องรักษาภาวะแทรกซ้อนด้วยเสมอ โดยเฉพาะหูชั้นกลางอักเสบ และหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กเล็ก
การป้องกัน
ยังไม่มียา วัคซีน อาหารเสริม หรือสารต่าง ๆ ที่ป้องกันโรคหวัดได้ผลดี การป้องกันส่วนบุคคลมีความสำคัญกว่า ผู้ที่กำลังเป็นหวัดอยู่ควรล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่เชื้อ ควรแยกสิ่งของเครื่องใช้ และใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันการกระจายเชื่อไปสู่บุคคลอื่นเวลาไอ
ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคก็ไม่ควรเข้าไปอยู่ในที่ชุมชนแออัดที่ไม่มีอากาศถ่ายเทนาน ๆ เช่น ในโรงภาพยนต์ ในรถโดยสารปรับอากาศ ในเครื่องบิน และในสถานที่ชุมนุมที่มีคนมาก ๆ นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้มือเช็ดจมูกและขยี้ตา เพราะมือเป็นแหล่งเก็บกับเชื้อโรคแทบทุกชนิด และจมูกกับตาก็เป็นทางเข้าที่สำคัญของเชื้อไวรัสหวัด