เชื้ออื่น ๆ
จุลชีพที่ก่อโรคในคนได้นอกเหนือจากที่กล่าวมายังมีพวกมัยโคพลาสมา, คลาไมเดีย, ริกเค็ทเซีย, ตระกูลของแบคทีเรียชั้นสูง, และตระกูลเชื้อกึ่งแบคทีเรียกึ่งเชื้อรา
มัยโคพลาสมา (Mycoplasma)
มัยโคพลาสมาอาจจัดเป็นแบคทีเรียชั้นต่ำ มันมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย และไม่มีผนังเซลล์ ทำให้มันสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปต่าง ๆ ได้ การเพาะเชื้อมัยโคพลาสมาต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดพิเศษ และใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์ เชื้อที่ก่อโรคในคนได้แก่
- M. pneumoniae ทำให้เกิดโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดบวม, หลอดลมอักเสบ
- M. hominis เป็นส่วนน้อยที่ทำให้เกิดโรคกรวยไตอักเสบ, อุ้งเชิงกรานอักเสบ, และภาวะไข้หลังคลอด (postpartum fever)
- M. genitalium, U. urealyticum เป็นส่วนน้อยที่ทำให้เกิดโรคท่อปัสสาวะอักเสบ
มัยโคพลาสมาก่อโรคขึ้นที่ภายนอกเซลล์ โดยตัวมันมีโปรตีนที่เกาะติดกับเยื่อหุ้มเซลล์ของคน ทำให้ขนอ่อนของเซลล์ที่คอยโบกพัดสิ่งสกปรกออกไปทำงานไม่สะดวก และขบวนการสันดาป (metabolism) ภายในตัวมันก็เกิด hydrogen peroxide และ superoxide ที่ทำลายเซลล์ของมนุษย์ แต่อาการของโรคเกิดจริงเมื่อมีการติดเชื้อตัวเดิมซ้ำและระบบภูมิคุ้มกันเริ่มจำเชื้อได้ โดยทั่วไปร่างกายสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เองในเวลาประมาณ 3 สัปดาห์
คลาไมเดีย (Chlamydia)
คลาไมเดียอาจจัดเป็นไวรัสชั้นสูง คือ ตัวมันต้องอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่นเท่านั้น แต่มันมีทั้ง DNA, RNA, ribosome และยังสามารถสร้างโปรตีนและกรดนิวคลีอิกของมันเองเหมือนแบคทีเรีย เชื้อที่ก่อโรคในคนได้แก่
- Chlamydia trachomatis ทำให้เกิดโรคริดสีดวงตา, หนองในเทียม, และโรคฝีมะม่วง
- Chlamydophila pneumoniae เป็นส่วนน้อยที่ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ, ปอดบวม, ไซนัสอักเสบ
- Chlamydophila psittaci ทำให้เกิดโรคนกแก้ว (Psittacosis)
ริกเค็ทเซีย (Rickettsia)
ริกเค็ทเซียจะคล้ายคลาไมเดีย คือ ต้องเป็นปรสิตอยู่ในสิ่งมีชีวิตอื่น แต่โฮสต์ประจำของมันคือสัตว์ มีพวกเห็บ ไร หมัด และเหา ของสัตว์เหล่านั้นเป็นตัวนำเชื้อมาสู่คน คนติดโรคโดยการโดนแมลงพาหะพวกนี้กัด เชื้อริกเค็ทเซียชอบที่จะทำลายผนังของหลอดเลือดมาก แต่เนื่องจากตัวมันเล็ก ผนังหลอดเลือดที่รั่วจึงเป็นเพียงรูเล็ก ๆ มีเลือดออกมาในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ไม่มาก ริกเค็ทเซียแต่ละสายพันธุ์ทำให้เกิดโรคที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามแต่ละภูมิภาค เช่น
ชื่อโรค | ชื่อเชื้อ | แหล่งที่พบ | พาหะ | โฮสต์ประจำ |
Rocky Mountain spotted fever | R. rickettsii | ซีกโลกตะวันตก | เห็บ | สัตว์ฟันแทะ |
Rickettsial pox | R. akari | อเมริกา, รัสเซีย | ไร | สัตว์ฟันแทะ |
Scrub typhus | R. tsutsugamushi | เอเชีย, ออสเตรเลีย | ไร | สัตว์ฟันแทะ |
Epidemic typhus | R. prowazekii | ทวีปแอฟริกา, อเมริกาใต้ | เหา | กระรอก |
Murine typhus | R. typhi | ทั่วโลก | หมัด | สัตว์ฟันแทะ |
เชื้อริกเค็ทเซียตอบสนองดีกับยา Doxycycline มาก ไข้จะหายไปภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มให้ยา
มัยโคแบคทีเรียม (Mycobacterium)
เชื้อในกลุ่มนี้เป็นแบคทีเรียรูปแท่ง ผอมเรียว ติดสี acid-fast เจริญเติบโตช้าเหมือนเชื้อรา แต่ไม่แตกกิ่งก้าน ตัวทำให้เกิดโรคในคนได้แก่ M. tuberculosis หรือเชื้อวัณโรค, M. avium ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบเรื้อรังในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ M. leprae ที่ทำให้เกิดโรคเรื้อน
เชื้อวัณโรคเพาะขึ้นได้ในอาหารเลี้ยงเชื้อ แต่ใช้เวลานานถึง 3 เดือน เชื้อโรคเรื้อนต้องเพาะในตัวนิ่ม (armadillo) ส่วนเชื้อ M. avium ไม่สามารถเพาะขึ้นได้ การวินิจฉัยเชื้อกลุ่มนี้ส่วนใหญจะอาศัยการย้อมติดสี acid-fast
แบคทีเรียชั้นสูง (Higher bacteria)
แบคทีเรียตระกูลนี้คือแบคทีเรียที่มีรูปร่างแตกกิ่งก้านเหมือนเชื้อรา และโตค่อนข้างช้าในอาหารเลื้ยงเชื้อ โคโลนีมีสีต่าง ๆ กัน เพราะมันสร้างเม็ดสีได้ เชื้อในตระกูลนี้มี 3 กลุ่ม คือ แอคติโนมัยเซส (Actinomyces), โนคาร์เดีย (Nocardia), และ สเตรปโตมัยเซส (Streptomyces) ทำให้เกิดฝีเรื้อรังตามอวัยวะต่าง ๆ ที่รักษาได้ยากคล้ายกัน กลุ่มแอคติโนมัยเซสเป็นพวกที่ไม่ชอบออกซิเจน (anaerobe) ต้องเพาะเชื้อในภาวะที่ไม่มีอากาศ กลุ่มโนคาร์เดียแม้จะไม่ได้ผลิตเม็ดสี แต่โคโลนีของมันก็มีสีส้มอำพัน และย้อมติดสี acid-fast บางส่วน