รอบเดือนขาดหายไป (Secondary amenorrhea)
ธรรมชาติสร้างระบบเจริญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตได้อย่างมหัศจรรย์ที่สุด ในมนุษย์เพศหญิงเรามีมดลูกและรังไข่เป็นอวัยวะปลายทางที่มีวงจรการเปลี่ยนแปลงตามการประสานงานกันของฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อผลิตไข่ที่สดใหม่และผนังมดลูกที่หนานุ่มรองรับการเกิดของตัวอ่อนรายใหม่อยู่ทุกเดือน
รอบเดือนของสตรีแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงใหญ่ ๆ คือ ช่วงเติบโตของไข่ ช่วงไข่ตก ช่วงเพิ่มความหนาของมดลูก และช่วงหลุดลอกเป็นระดูถ้าไม่มีการปฏิสนธิของไข่ ถ้ามีการปฏิสนธิ อุณหภูมิของร่างกายและฮอร์โมนต่าง ๆ ก็จะยังคงสูงอยู่ตลอด เพื่อให้ผนังมดลูกยังคงความแข็งแรงพร้อมจะเป็นสถานฟูมฟักของตัวอ่อนจนกระทั่งคลอด และรอบเดือนของหญิงผู้นั้นก็จะขาดหายไปเป็นเวลาประมาณ 1 ปี
ด้วยเหตุนี้ การขาดหายไปของรอบเดือนซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า "อาการขาดประจำเดือนทุติยภูมิ" จึงต้องตรวจภาวะการตั้งครรภ์ก่อนเสมอ ซึ่งอาจต้องตรวจหลายครั้งทั้งในปัสสาวะและในเลือด จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์จริง ๆ จึงจะตรวจหาสาเหตุอื่นต่อ
นิยามความผิดปกติ
ภาวะไม่มีระดูที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ถือเป็นความผิดปกติ ได้แก่
- ระยะก่อนเข้าวัยสาว
- ขณะตั้งครรภ์
- ระยะหลังคลอด หรือ ให้นมบุตร
- วัยหมดระดู
- หลังหยุดยาเม็ดคุมกำเนิด ไม่เกิน 6 เดือน หรือหลังฉีดยาคุมกำเนิด ไม่เกิน 12 เดือน
เนื่องจากรอบเดือนปกติเองก็มีความแปรปรวนค่อนข้างมาก ขึ้นกับสุขภาพและการใช้ชีวิตในเดือนนั้น ๆ ภาวะรอบเดือนขาดหายไป ในที่นี้จะหมายถึง การขาดประจำเดือนรวม 3 รอบติดต่อกันหลังจากที่เคยมีประจำเดือนมาแล้ว โดยที่ตัดสาเหตุของการตั้งครรภ์ออกไป
สาเหตุของภาวะรอบเดือนขาดหายไป (นอกจากการตั้งครรภ์)
สาเหตุของการขาดประจำเดือนทุติยภูมิก็เช่นเดียวกับการขาดประจำเดือนปฐมภูมิ คืออาจเป็นความผิดปกติของรังไข่ มดลูก ต่อมใต้สมอง ไฮโปธาลามัส หรือจากโรค/ภาวะอื่นที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์
1. พยาธิสภาพที่รังไข่
- กลุ่มอาการถุงน้ำที่รังไข่ (Polycystic ovarian syndrome) เป็นภาวะที่รังไข่ทั้งสองข้างเกิดมีถุงน้ำขึ้นมากมายโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่าเกิดจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ผู้ป่วยมักมีรูปร่างอ้วน ขนดก หรือมีหนวด พบได้บ่อยโดยเฉพาะในวัยรุ่น รอบเดือนจะมา ๆ หยุด ๆ บางครั้ง 2-3 เดือนถึงจะมาสักครั้ง
ผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์จะใช้ยาเพื่อกระตุ้นการตกไข่ร่วมกับให้ทานยาคุมกำเนิด บางรายอาจต้องลดน้ำหนักตัวด้วย ภาวะนี้ในระยะยาวอาจส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานและมะเร็งมดลูกได้
- ภาวะรังไข่ไม่ทำงานก่อนวัย (Premature ovarian failure) ซึ่งอาจเกิดจากการฉายรังสีที่อุ้งเชิงกราน, ได้รับยาเคมีบำบัด, โรคคางทูมที่ทำให้รังไข่อักเสบด้วย, ความผิดปกติทางพันธุกรรม, โรคทางภูมิคุ้มกัน, และพวกไม่ทราบสาเหตุ
- มีเนื้องอกรังไข่ที่สร้างฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการหลั่งน้ำนมและยับยั้งการตกไข่ รังไข่ที่มีเนื้องอก เช่น dermoid cyst อาจทำให้รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือหยุดไปเลยก็ได้ รายที่มีอาการชัดก็จะมีน้ำนมไหลผิดปกติด้วย
2. พยาธิสภาพที่มดลูก
- กลุ่มอาการแอสเชอร์แมน (Asherman's syndrome) เป็นภาวะพังผืดในโพรงมดลูกตามหลังการมีบาดแผลที่ผนังมดลูก ซึ่งเกิดจากการขูดมดลูก การผ่าท้องคลอด การผ่าตัดมดลูกเพื่อรักษาเนื้องอกหรือครรภ์ไข่ปลาอุก
- ภาวะปากมดลูกตีบตัน (Cervical stenosis) ซึ่งอาจเกิดจากมะเร็ง การผ่าตัด การฉายแสง หรือการขูดมดลูก
3. พยาธิสภาพที่ต่อมใต้สมองและไฮโปธาลามัส
- เนื้องอกสมอง ทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และเนื้องอกของต่อมใต้สมองโดยตรง
- การฉายรังสีที่สมอง
- ภาวะต่อมใต้สมองขาดเลือด จากการตกเลือดหลังคลอดมากเกินไป (Sheehan's syndrome)
4. โรคเรื้อรังทางกายที่รุนแรง
- โรคทั่วไป เช่น เบาหวาน ไตวาย โรคตับเรื้อรัง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease) โรคขาดอาหาร
- โรคของต่อมไร้ท่ออื่น ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต
5. โรคทางจิตที่รุนแรง
- Anorexia nervosa, Bulimia nervosa
- โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง หรือโรคเครียดขั้นรุนแรง (ความเครียดจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งฮอร์โมน GnRH จากไฮโปธาลามัส)
6. การใช้ยาบางชนิด
- ยาคุมกำเนิด
- ยารักษาโรคจิต เช่น haloperidol, chlorpromazine, thioridazine, thiothixene, risperidone, amisulpride, molindone, zotepine
- ยาต้านซึมเศร้า เช่น amitriptyline, desipramine, clomipramine, amoxapine, sertraline, fluoxetine, paroxetine, pargyline, clorgyline
- ยากล่อมประสาท เช่น buspirone, alprazolam
- ยาลดความดัน เช่น alpha-methydopa, reserpine, verapamil
- ยารักษาโรคกระเพาะ เช่น cimetidine, ranitidine
- อื่น ๆ เช่น morphine, metoclopramide, domperidone, fenfluramine, physostigmine เป็นต้น
7. ภาวะเฉพาะ
- การออกกำลังกายมากเกินไป มักพบในพวกนักกีฬา
- คนที่อ้วนมาก ๆ เนื่องจากผิวหนังสามารถเปลี่ยนเซลล์ไขมันไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะไปยังยั้งการหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH จากต่อมใต้สมอง ทำให้ไม่มีการตกไข่
- คนที่ผอมมาก ๆ มักพบในพวกดาราหรือนางแบบ รอบเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอด้วยหลายปัจจัย
แนวทางการวินิจฉัย
เนื่องจากสาเหตุมีมากมาย ในทางปฏิบัติแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และดูยาที่เคยใช้ทั้งหมดก่อน จากนั้นจะดำเนินการตามแผนผังข้างล่าง โดยจะตรวจระดับของฮอร์โมนเพื่อจัดกลุ่มภาวะที่ต้องสงสัย จะเห็นได้ว่าการตรวจหาสาเหตุของการขาดรอบเดือนค่อนข้างยุ่งยากและสลับซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายมาก และอาจตกอยู่ในกลุ่ม Functional amenorrhea ดังนั้น การค้นหาสาเหตุจึงต้องมั่นใจว่าผิดปกติจริง เช่น รอดูอย่างน้อย 3 รอบเดือน หรือสำรวจหาอาการร่วมอื่น ๆ แล้วเล่าให้แพทย์ฟังโดยละเอียด