คลื่นไส้อาเจียน (Nausea vomiting)
อาการคลื่นไส้และอาเจียนเกิดจากกลไกเดียวกัน เมื่อยังอาการน้อยจะมีแค่คลื่นไส้ เมื่อเป็นมากขึ้นจึงมีอาเจียนตามมา ในทางการแพทย์จึงถือเสมือนเป็นอาการเดียวกัน
อาการอาเจียนโดยไม่มีคลื่นไส้ต้องแยกจากภาวะที่มีการขย้อนอาหารออก (regurgitation) ด้วยเหตุใดก็ตาม ภาวะนี้ไม่ถือว่าเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียน
อาการคลื่นไส้อาเจียนส่วนมากจะพบร่วมกับอาการอื่น เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย อาการร่วมเหล่านี้จะช่วยบอกถึงสาเหตุของโรค
สาเหตุของอาการคลื่นไส้อาเจียน
- โรคทางระบบประสาท
- มีการเพิ่มความดันในกระโหลกศีรษะ เช่น มีก้อน/ฝี/เลือดออกในสมอง
- มีความผิดปกติที่ระบบการทรงตัว เช่น เมารถ เมาคลื่น โรค Ménière
- โรคไมเกรน
- โรคทางจิต เช่น Bulimia nervosa
- โรคในช่องท้อง
- ระบบย่อยอาหาร เช่น โรคกระเพาะ อาหารเป็นพิษ ท้องอืด ลำไส้ไม่ทำงาน ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ โรคมะเร็ง ฯลฯ
- ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคกรวยไตอักเสบ
- ความผิดปกติทางเมตาบอลิก
- ภาวะไตวาย
- ภาวะตับแข็ง
- ภาวะเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด เช่น แคลเซียมในเลือดสูง โปแตสเซียมในเลือดสูง โซเดียมในเลือดต่ำ
- โรคเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูง
- โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไม่พอ
- ภาวะอื่น ๆ
- แพ้ท้อง
- แพ้ยา
- แพ้อาหาร
- พิษสุรา
- โรคติดเชื้อโดยทั่วไป
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ในเด็กเล็กอาจอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ
แนวทางการตรวจรักษา
สิ่งแรกคือผู้ป่วยควรให้ประวัติอาการร่วมให้ละเอียด ความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ใด ลักษณะของสิ่งที่อาเจียนออกมา การดำเนินโรค อาการใดเกิดก่อน-หลัง ความเร็วและความรุนแรง การใช้ยา โรคประจำตัว น้ำหนักตัว พฤติกรรมที่ผ่านมา
จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายโดยละเอียด ถ้าประวัติค่อนข้างชัดว่าเป็นจากสาเหตุใดก็จะตรวจสอบไปในทางนั้น ถ้ายังไม่แน่ชัดก็จำเป็นต้องตรวจเลือด เอกซเรย์ หรือตรวจอย่างอื่นเพิ่ม การตรวจส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
นอกจากการตรวจเพื่อหาสาเหตุแล้ว แพทย์อาจยังต้องตรวจเลือดเพื่อหาผลกระทบจากการอาเจียนด้วย ซึ่งมักเป็นภาวะเสียสมดุลทางเกลือแร่ หากพบก็จำเป็นต้องรักษาควบคู่ไปกับการรักษาสาเหตุด้วย