ปวดศีรษะ (Headache)

ปวดหัวเป็นอาการที่แทบทุกคนเคยเป็นมามากกว่าหนึ่งครั้งในชีวิต แต่ส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง อาการปวดหัวที่สงสัยว่าจะมีโรคร้ายแรงและควรไปพบแพทย์โดยเร็วได้แก่อาการปวดหัวที่มีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

หรือไม่มีอาการร่วมดังกล่าวแต่เป็นอาการปวดที่

หากท่านไม่จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวข้างต้นร่วม แต่รู้สึกว่าปวดหัวบ่อย หรือปวดมากจนแทบจะทำงานหรือนอนไม่ได้ ลองศึกษาลักษณะอาการของภาวะหรือโรคที่พบบ่อยข้างล่างนี้ก่อน เพื่อลดความกังวลใจก่อนไปปรึกษาแพทย์

ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headache)

ในภาวะที่พักผ่อนน้อย, ใช้สายตาหรือการคิดมากเกินไป, ทำงานอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ, รู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือกดดันในบางเรื่อง ร่างกายจะบอกให้เรา "พักได้แล้ว" จากอาการปวดหนัก ๆ ที่ขมับทั้งสองข้าง หรือปวดตื้อ ๆ ไปทั้งหัว คิดอะไรไม่ออก บางคนอาจรู้สึกปวดที่ต้นคอ หลัง และไหล่ร่วมด้วย

อาการปวดศีรษะแบบนี้จะดีขึ้นเมื่อทานยาแก้ปวด และหายไปเมื่อได้พักผ่อนเต็มอิ่ม

ปวดศีรษะจากโรคไมเกรน (Migraine)

โรคนี้พบในคนอายุน้อยถึงวัยกลางคน มักพบในเพศหญิงมากกว่าชาย เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองถูกกระตุ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ สิ่งกระตุ้นอาจเป็นแสงจ้า เสียงดัง แอลกอฮอล์ ผงชูรส ฮอร์โมน ฯลฯ เมื่อสมองถูกกระตุ้นจะส่งกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้า ๆ (ทำให้มีอาการเตือน) จากนั้นหลอดเลือดสมองจะขยายตัวทำให้ปวดศีรษะในที่สุด

ไม่ใช่ผู้ที่เป็นโรคไมเกรนจะมีอาการเตือนก่อนปวดศีรษะทุกราย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเตือน ผู้ที่มีอาการเตือนอาจมีอาการเห็นแสงซิกแซก วาบวับ หรือระยิบระยับ เห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือเห็นไม่ชัด หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว อาการเตือนอื่น ๆ เช่น ชาที่มือหรือรอบปาก, ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก, มีอาการอ่อนแรงของแขนขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น

อาการนำจะเป็นอยู่ราว 15 นาที จากนั้นภายใน 1 ชั่วโมงถัดมาจะเกิดอาการปวดหัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะปวดตุบ ๆ ที่ขมับข้างเดียว (ส่วนน้อยเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) อาจปวดร้าวไปที่กระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่าเมื่อเห็นแสง อาการจะเป็นอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง ถ้าทำงานหรือเดินจะปวดมากขึ้น ต้องพักผ่อนอยู่นิ่ง ๆ ในห้องที่มืดและเงียบ

หากสิ่งกระตุ้นนั้นเป็นฮอร์โมนเพศ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะก่อนมีประจำเดือนทุกเดือน พอประจำเดือนมาอาการปวดก็จะค่อย ๆ หายไป

ในระหว่างที่ไม่มีอาการผู้ป่วยจะเหมือนคนปกติ สามารถทำงาน วางแผน และใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ผู้ป่วยไมเกรนอาจดูแลตนเองดังนี้

ผู้ป่วยไมเกรนที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมาก คือปวดหัวเป็นประจำหลาย ๆ ครั้งต่อเดือนจนรบกวนคุณภาพชีวิตแพทย์อาจให้ทานยาป้องกัน ยาเหล่านี้ได้แก่ ยากันชักกลุ่ม Topiramate หรือ Valproic acid, ยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม เช่น Flunarizine Cinnarizine Verapamil, ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น Propanolol, Atenolol, Metoprolol เป็นต้น ยาเหล่านี้ต้องรับประทานทุกวัน ซึ่งบางตัวอาจมีผลทำให้ความดันลดลง

ปวดศีรษะจากโรคคลัสเตอร์ (Cluster headache)

โรคนี้พบได้ไม่บ่อย มักพบในผู้ชายอายุ 20 - 40 ปี เป็นความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 และระบบประสาทอัตโนมัติ โรคกำเริบเมื่อมีดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เดินทาง หรือทานอาหารที่มีไนเตรท ลักษณะพิเศษคืออาการปวดจะมาเป็นชุด ๆ (cluster) แต่ละครั้งนาน 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง มักปวดตรงเวลากันทุกวัน วันหนึ่งอาจปวด 3 เวลา และยาวนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

ลักษณะจะปวดศีรษะซีกเดียวหรือใบหน้าครึ่งซีก ปวดออกกระบอกตา มีตาแดง น้ำตาไหล คัดจมูก น้ำมูกไหล หนังตาบวม เหงื่อออกที่หน้าผากด้านเดียวกับที่ปวดหัว มักมีอาการตอนกลางคืน โรคคลัสเตอร์จะไม่มีคลื่นไส้อาเจียนและความผิดปกติทางสายตาเหมือนโรคไมเกรน

ช่วงที่มีอาการหากได้สูดดมออกซิเจน 100% จะช่วยลดอาการปวดได้ดี หรืออาจทานยา Sumatriptan ถ้าปวดนานกว่า 30 นาที

พอชุดของอาการปวดศีรษะหายไปก็จะเป็นปกติเหมือนเดิมทุกอย่าง และอาจจะไม่ปวดอีกเลยเป็นปีจนกระทั่งถูกกระตุ้นใหม่

ปวดศีรษะจากโรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

มักพบในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คันจมูก จาม มีน้ำมูกเป็นประจำ อาการปวดศีรษะจะไม่รุนแรง แต่เป็นร่วมกับการปวดโพรงไซนัสบนใบหน้า เช่นที่แก้ม หน้าผาก สองข้างจมูก และมีน้ำมูกสีเหลืองไหล มีไข้ต่ำ ๆ หูอื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น อาจมีน้ำมูกไหลลงคอ

ปวดศีรษะจากโรค Giant cell arteritis หรือ temporal arteritis

โรคนี้พบในผู้สูงอายุ เพศหญิงมากกว่าชาย เป็นการอักเสบของเส้นเลือดขนาดกลางและใหญ่ได้ทั่วร่างกาย แต่มักเกิดกับเส้นเลือดสมองหรือเส้นเลือดข้างขมับ อาการจะเป็นแบบเจ็บหนังศีรษะและขมับทั้งสองข้าง คือแตะไม่ได้ แตะแล้วจะปวดมาก หวีผมไม่ได้ อาการร่วมที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก อ่อนเพลีย เห็นภาพผิดปกติ และปวดขากรรไกรเวลาเคี้ยวอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้คือตาบอดข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งจะเกิดฉับพลันเพราะเส้นประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง หรือการเกิดอัมพาตของแขนขา, กล้ามเนื้อใบหน้า จากการที่เส้นเลือดสมองตีบตัน

แม้จะดูอันตราย แต่โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ไม่ยากถ้าเริ่มตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีการอักเสบของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอตา

ปวดศีรษะจากโรคต้อหิน (Glaucoma)

โรคนี้เกิดจากการมีความดันภายในลูกตาสูงจนค่อย ๆ ทำลายเส้นประสาทตาจนตาบอด (หากไม่ได้รับการรักษา) มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป มีทั้งชนิดที่เป็นเฉียบพลันและเรื้อรัง ชนิดที่เป็นเฉียบพลันจะมีอาการปวดตาและปวดหัวอย่างฉับพลัน มีตาแดง ตามัว เห็นช่องว่างรอบแสง คลื่นไส้อาเจียน มักเป็นตอนที่เพิ่งออกมาจากที่มืด เช่น โรงภาพยนตร์ หรือเพิ่งเปิดไฟเข้าบ้านตอนกลางคืน ส่วนชนิดที่เป็นเรื้อรังมักไม่มีอาการ แต่สายตาจะมัวลงเรื่อย ๆ

ปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูง (Hypertension)

ปัจจุบันภาวะนี้พบได้น้อยลงมากเพราะมีการวัดความดันเพื่อคัดกรองกันอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะไปปรึกษาที่อนามัย คลินิก หรือที่โรงพยาบาล ความดันโลหิตสูงที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ต้องเป็นระดับที่สูงมาก ๆ (> 180 mmHg) ซึ่งอาจพบในผู้ที่ขาดยาลดความดันที่เคยทานประจำ หรือผู้ที่เป็นความดันสูงอยู่แล้วเกิดความเครียดมาก ๆ อาการจะเป็นทั้งปวดและวิงเวียนศีรษะ ถ้านั่งนิ่ง ๆ จะรู้สึกว่าหัวเต้นตุบ ๆ ตามการเต้นของชีพจร บางคนจะแน่นหน้าอกด้วย กรณีนี้ต้องรีบพัก ผ่อนคลาย และเรียกรถพยาบาลโดยด่วน

หากเป็นในผู้ที่ไม่เคยวัดความดันมาก่อน อาการปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูงมักจะปวดตื้อ ๆ ตอนตื่นนอนตอนเช้า ตื่นมาก็รู้สึกไม่สดชื่น หนักหัว และเป็นอย่างนี้ประจำ

ปวดศีรษะจากการทานยาแก้ปวดเป็นประจำ

ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดหรือยากล่อมประสาทเป็นประจำจะเกิดอาการต้องพึ่งยาไปตลอด พอหมดฤทธิ์ยาอาการปวดก็จะกำเริบขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันจึงมีแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตแทนการใช้ยา ใจที่เป็นสุขร่างกายก็จะทำงานเป็นระบบระเบียบไปด้วย

ปวดศีรษะจากดื่มสุรา กาแฟ มากเกินไป

แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว (เราถึงรู้สึกอุ่นขึ้น) รวมทั้งหลอดเลือดที่สมองด้วย จึงทำให้ปวดศีรษะ กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจะกระตุ้นสมองให้ตื่นอยู่เสมอ แต่การดื่มมากเกินไปจะทำให้สมองที่ไม่ได้พักอ่อนล้าลงในที่สุด ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ แต่ก็หลับไม่ได้ ซึ่งค่อนข้างจะทรมาณจนกว่าจะหมดฤทธิ์ของคาเฟอีน

แนวทางการตรวจรักษา

โดยปกติแพทย์จะสอบถามลักษณะอาการ, ประวัติเกี่ยวกับความเครียด ซึมเศร้า นอนไม่พอ ปัญหาในครอบครัว ปัญหาที่ทำงาน, และอาการแสดงทางระบบประสาท รวมทั้งตรวจร่างกายทางระบบประสาทและตรวจอย่างอื่นที่จำเป็นเพื่อแยกโรคต่าง ๆ ที่ไม่ใช่โรคทางสมองออกไปก่อน เช่น

  • วัดไข้ (เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นหลอดเลือด ขยายตัวจะทำให้ปวดศีรษะได้ง่าย)
  • วัดความดันโลหิต
  • ดูอาการแสดงของคอพอกเป็นพิษ
  • ตรวจสายตา ความคมชัด หรือการเห็นภาพซ้อน
  • ตรวจการอักเสบของโพรงจมูก และบริเวณไซนัส
  • การเจ็บของฟัน ข้อต่อขากรรไกร กล้ามเนื้อต้นคอ ฯลฯ

อาการปวดศีรษะที่ตรวจไม่พบอาการแสดงทางระบบประสาทและไม่เข้ากับโรคเฉพาะใด ๆ อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากภาวะเครียดและได้ยาบรรเทาอาการไปก่อน การเอกซเรย์สมองจะทำเฉพาะในรายที่สงสัยเป็นโรคเกี่ยวกับสมองเท่านั้น เพราะการตรวจครั้งหนึ่ง ๆ มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก (ไม่ว่าท่านจะเบิกได้หรือไม่ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้) ผู้ที่พยายามพักผ่อน ตัดเรื่องวุ่นวาย และทานยาแล้วไม่หายควรกลับไปตรวจยังสถานที่เดิมอีกครั้ง เพราะแพทย์จะมีประวัติเก่าไว้แล้ว และอาจพิจารณาส่งตรวจให้ละเอียดขึ้น ดีกว่าไปตรวจยังสถานที่ใหม่ซึ่งแพทย์ท่านใหม่ก็จะต้องเริ่มต้นด้วยวิธีการเดียวกัน

Simple Collapsible

Simple collapsible
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipisicing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna aliqua. Ut enim ad minim veniam, quis nostrud exercitation ullamco laboris nisi ut aliquip ex ea commodo consequat.