ชาที่ใบหน้า (Facial numbness)

อาการปวดหรือชาเกิดจากพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับความรู้สึกเหมือนกัน กรณีที่เซลล์ประสาทยังไม่ตายจะเป็นอาการปวด กรณีที่เซลล์ประสาทตายแล้วหรือถูกตัดขาดจากสมองจะเป็นอาการชา บางครั้งอาการก็คร่อมกัน คือทั้งปวดทั้งชา แยกจากกันไม่ได้

ศีรษะ ใบหน้า และลำคอคนเรามีเส้นเลือดและเส้นประสาทเลี้ยงเป็นส่วน ๆ เส้นประสาทเหล่านี้มาจากแขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ V, VII, IX, X และเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอ (Cervical plexus)

  • เส้นประสาทสมองคู่ที่ V (Trigeminal nerve) รับความรู้สึกของอวัยวะบนใบหน้าเป็นส่วนใหญ่ โดยแบ่งเป็น 3 แขนง
    - Ophthalmic branch รับความรู้สึกบริเวณหน้าผาก ดวงตา และจมูก (สีเขียว)
    - Maxillary branch รับความรู้สึกบริเวณแก้มทั้งสองข้าง (สีเหลือง)
    - Mandibular branch รับความรู้สึกบริเวณคาง ขากรรไกร ด้านข้างของใบหน้า และใบหูเล็กน้อย (สีส้ม)
  • เส้นประสาทสมองคู่ที่ VII (Facial nerve) รับความรู้สึกจากลิ้นส่วนหน้าและในหูชั้นกลาง สั่งการให้กล้ามเนื้อใบหน้าขยับแสดงสีหน้า หลับตา
  • เส้นประสาทสมองคู่ที่ IX (Glossopharyngeal nerve) รับความรู้สึกจากบางส่วนของใบหู หลังโพรงจมูก คอหอย ลิ้นส่วนหลัง ทอนซิล และกล่องเสียง ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเปล่งเสียงและการกลืน กระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำลาย
  • เส้นประสาทสมองคู่ที่ X (Vagus nerve) รับความรู้สึกจากบริเวณใบหูส่วนใน ควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจ การกลืน การหลั่งน้ำย่อย
  • เส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอ รับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อบริเวณคอและหลังกะโหลกศีรษะ (สีม่วงและสีฟ้า)

เส้นประสาทเหล่านี้ในระดับที่สูงขึ้น (คือใกล้สมองหรือไขสันหลังยิ่งขึ้น) จะอยู่ใกล้กันมาก รอยโรคหนึ่ง ๆ อาจทำลายเส้นประสาทใกล้เคียงได้มากกว่าหนึ่งเส้น ทำให้เกิดอาการชาและเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทเหล่านั้นควบคุม

สาเหตุของอาการชาที่ใบหน้า

  1. จากการบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด การฉายรังสี
  2. จากการอักเสบ เช่น Scleroderma, Sjögren's syndrome, Sarcoidosis, Multiple sclerosis
  3. จากโรคของหลอดเลือด เช่น สมองขาดเลือด เส้นเลือดแตก กลุ่มเส้นเลือดผิดปกติ
  4. จากเนื้องอกต่าง ๆ
  5. จากการติดเชื้อ เช่น โรคเรื้อน งูสวัด ไลม์ ซิฟิลิส ฯลฯ
  6. จากความเสื่อม เช่น Kennedy's disease
  7. จากสารพิษ เช่น Stilbamidine, Trichloroethylene, Oxaliplatin
  8. จากความผิดปกติแต่กำเนิด
  9. จากโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน, Amyloidosis, Pseudotumor cerebri
  10. ไม่ทราบสาเหตุ ได้แก่ ภาวะ Idiopathic trigeminal neuropathy

แนวทางการวินิจฉัย

การวินิจฉัยต้องอาศัยประวัติการบาดเจ็บ การรักษาโรคในช่องปากและศีรษะมาก่อนหน้านี้ โรคประจำตัว การสัมผัสกับสารพิษ ลักษณะของอาการ อาการร่วม และการดำเนินโรค จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจหาความผิดปกติทางระบบประสาททั้งหมด รวมทั้งความบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นของอวัยวะที่ไม่สามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดจนป้องกันตัวเองได้ เช่น กระจกตา ก่อนที่จะส่งตรวจ MRI และตรวจเลือดเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็น