ไข้ (Pyrexia, Fever)

ไข้เป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิร่างกายเมื่อมีการอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย เหมือนเป็นการบอกเราว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว และเป็นสัญญาณระดมพลให้ทุกระบบช่วยกันรักษาสภาพสมดุลเดิม

ปกติอุณหภูมิในร่างกายของคนเราจะขึ้นลงอยู่ระหว่าง 37 ± 0.5°C ขึ้นกับอุณหภูมิอากาศภายนอกและกิจกรรมที่เราทำในช่วงเวลาต่าง ๆ รวมทั้งความไม่สบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย ที่เราอาจรู้สึกว่า "ตัวร้อน" แต่การ "มีไข้" ในทางการแพทย์หมายถึงการวัดอุณหภูมิร่างกายได้สูงกว่า 100°F หรือ 37.8°C

การตอบสนองของร่างกายในลักษณะไข้จะรวดเร็วและสูงมากในเด็ก (อาจเป็นเพราะเด็กช่วยตัวเองไม่ได้ ธรรมชาติจึงสร้างให้เกิดปฏิกิริยานี้ชัดกว่าในผู้ใหญ่ เด็กบางคนนอกจากไข้แล้วยังมีชักอีก) พออายุมากขึ้นการตอบสนองจะค่อย ๆ ลดลง ไข้ในผู้สูงอายุอาจไม่มีแม้จะป่วยด้วยการติดเชื้อที่ค่อนข้างรุนแรง

อุปกรณ์วัดไข้ก็มีผลทำให้ค่าที่วัดได้แตกต่างกัน เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ใช้วัดทางหู ใช้เวลาสั้นกว่าการวัดด้วยปรอท แต่มีความคลาดเคลื่อนได้มาก ดังนั้นจึงควรวัดสองครั้งแล้วหาค่าเฉลี่ย เช่นเดียวกับแถบเทปวัดไข้ที่ใช้ทาบลงบนหน้าผากจนกว่าจะเห็นตัวเลขขึ้นที่แถบ ค่าที่ได้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้มาก ทั้งสูงกว่า หรือต่ำกว่าที่เป็นจริง ปกติปรอทแก้วถือเป็นอุปกรณ์วัดไข้มาตรฐานที่คลินิกและโรงพยาบาลใช้กัน โดยก่อนวัดจะต้องสะบัดให้ปรอทลงไปจนสุดก่อนและใช้เวลาในการวัดประมาณ 2-3 นาที

ค่าของอุณหภูมิร่างกายที่วัดทางรักแร้จะต่ำกว่าที่วัดทางปาก และที่วัดทางทวารหนักในเด็กเล็ก

ไข้เฉียบพลัน (2-14 วัน)

ไข้เฉียบพลันมักเกิดจากโรคติดเชื้อ, โรคที่ทำให้มีการอักเสบ, จากการฉีดวัคซีน, จากยาบางชนิด, จากฮอร์โมน และจากมะเร็งระบบเลือดและต่อมน้ำเหลือง

โรคติดเชื้อในเด็กส่วนใหญ่จะเป็นจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาฆ่า สามารถหายได้เองใน 7 วันถ้าให้การพยาบาลและการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่ดี เด็กอาจไม่เป็นอะไรมากถ้ายังทานได้ดี ยิ้มได้ และยังชวนเล่นได้อยู่

ไข้เฉียบพลันในเด็กที่ควรพาไปพบกุมารแพทย์ ได้แก่

  • ไข้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน
  • ไข้ที่สูงกว่า 39°C ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ
  • ไข้ในเด็กที่มีโรคประจำตัวที่สำคัญ เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด เบาหวาน Cystic fibrosis
  • ไข้ 3 วันแล้วยังไม่ทราบเป็นอะไร หรือไข้เป็น ๆ หาย ๆ มากว่า 1 สัปดาห์
  • ไข้ที่มีอาการร่วมดังต่อไปนี้
    • เจ็บคอมาก จนไม่ยอมกินอะไร
    • ไอมาก หายใจเร็ว จมูกบาน หรือหายใจมีเสียงดัง
    • ปวดหู
    • มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือด
    • ซึม เรียกไม่ค่อยตื่น
    • ชัก
    • ปวดหัวมาก
    • ปวดท้องมาก
    • ข้อบวม ไม่ยอมขยับข้อ

ส่วนโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่จะมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น ซึ่งแม้จะสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่กรณีที่เพิ่งเป็นร่างกายเราก็สามารถกำจัดเชื้อโรคเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งยา

ไข้เฉียบพลันในผู้ใหญ่ที่ควรจะไปพบแพทย์ ได้แก่

  • ผู้ที่มีไข้หลังกลับจากการเดินทางไปต่างถิ่นมา และเป็นเกิน 5 วันโดยไม่ทราบว่าเป็นจากอะไร (ยกเว้นกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดต่อที่ทางสาธารณสุขเฝ้าระวัง กรณีนี้ต้องไปพบแพทย์ตั้งแต่ที่มีไข้ 1-2 วันแรก)
  • ไข้ที่มีอาการหนาวและสั่น (มือสั่น ตัวสั่น)
  • ไข้ที่มีอาการร่วมดังต่อไปนี้
    • เจ็บคอมาก กลืนน้ำลายไม่ได้
    • ไอ เจ็บอก หายใจหอบ
    • ปวดหู
    • มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือด
    • ซึม เรียกไม่ค่อยตื่น
    • ชัก
    • ปวดหัวมาก
    • ปวดท้อง กดเจ็บตรงที่ปวด
    • ปวดเอว อาเจียน ปัสสาวะขัด
    • มีอาการของการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์
    • ปวดข้อ ข้อบวม

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะถามประวัติและอาการร่วมอื่น ๆ พร้อมกับตรวจร่างกายหาหลักฐานประกอบโรคที่ต้องสงสัย โรคติดเชื้อส่วนใหญ่มีลักษณะการดำเนินโรคโดยเฉพาะ ทำให้เกิดอาการแสดงตามลำดับ การไปพบแพทย์ทันทีที่มีไข้ไม่ได้ช่วยให้การรักษาเร็วขึ้น เพราะโรคยังไม่แสดงแยกจากกันชัดเจน แม้จะเจาะเลือดก็อาจยังวินิจฉัยไม่ได้ เมื่อวินิจฉัยไม่ได้ก็ยังรักษาให้ตรงโรคไม่ได้ ได้แต่ให้ยาทุเลาอาการ ซึ่งก็อาจทำให้ผู้ป่วยสังเกตเห็นอาการอื่น ๆ ได้น้อยลง (ยังไม่รวมการที่ต้องถูกเจาะเลือดและเสียค่าตรวจก่อนเวลาที่ควรทำ)

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้

  • พักงาน (หรือให้เด็กพักเรียน) อยู่บ้านพักผ่อนให้พอ
  • ดื่มน้ำบ่อย ๆ ยิ่งถ้ามีท้องเสียยิ่งต้องดื่มน้ำให้มากขึ้น
  • ถ้ามีน้ำมูกให้สั่งออกทุกครั้ง อย่าสูดกลับเข้าไป
  • วัดอุณหภูมิเป็นประจำ ทานยาลดไข้เมื่อวัดไข้ได้ > 38.5°C (ห่างกันทุก 6 ชั่วโมง) เมื่อไข้ลงให้ไปอาบน้ำ จะทำให้ไข้ลงนานขึ้นไม่ต้องทานยาบ่อย ๆ
  • สำหรับเด็ก ให้ป้อนยาลดไข้พร้อมกับเช็ดตัวเมื่อวัดไข้ได้ > 38°C ยาลดไข้จะออกฤทธิ์หลังทานไปแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง การเช็ดตัวด้วยจะช่วยให้ไข้ลงเร็วขึ้น เพราะเด็กบางคนเมื่อไข้ขึ้นสูงอาจชักได้
  • ทานอาการอ่อน และอาการที่ช่วยแก้ร้อนใน เช่น พวกผัก (แตงกวา แตงไทย ปวยเล้ง ตำลึง รากบัว) ผลไม้ (มะเฟือง ส้มโอ กระเจี๊ยบ) น้ำต้มสมุนไพร (เก๊กฮวย หล่อฮั้งก้วย ใบบัวบก) และงดอาหารทอดชั่วคราว

วิธีการเช็ดตัวเด็ก

  1. ถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด
  2. ใช้ผ้าชุบน้ำที่อุณหภูมิห้อง เช็ดตามใบหน้า ลำคอ รักแร้ อก ท้อง ขาหนีบ หลัง และแขนขา
  3. ถ้าอากาศร้อนให้เปิดพัดลมช่วยด้วย
  4. หลังเช็ดเสร็จรอให้ตัวแห้งก่อนค่อยใส่เสื้อผ้าชุดใหม่

เมื่อเด็กเป็นไข้แล้วชัก

  1. จับตัวเด็กให้นอนตะแคง เพื่อกันการสำลัก
  2. กอดเด็กไว้ เพื่อไม่ให้แขนขาฟาดกับวัตถุ
  3. อย่าสอดสิ่งใดเข้าในปากเด็กเอง เพราะเด็กอาจกัดจนฟันหัก หรือวัตถุนั้นอาจตกลงไปในคอ
  4. อาการชักส่วนใหญ่จะหยุดเอง หลังหยุดชักแล้วให้คลายเสื้อผ้าเด็กแล้วใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ห่อไว้ภายใน แล้วรีบพาไปพบแพทย์

ไข้เรื้อรัง (> 14 วัน)

ไข้ที่เป็นนานกว่า 14 วันจะคิดถึงโรคติดเชื้อน้อยลง จะเหลือแต่โรคติดเชื้อเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคทางภูมิคุ้มกัน และโรคที่พบน้อยอื่น ๆ ผู้ป่วยเหล่านี้ควรที่จะเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล เพราะจะได้วัดอุณหภูมิทุก 6 ชั่วโมง และบันทึกเป็นกราฟขึ้นลงของไข้

สาเหตุที่พบบ่อยของไข้เรื้อรัง

เมื่อทบทวนเวชระเบียนของผู้ป่วยที่เป็นไข้มานาน ๆ จากทั่วโลก สาเหตุที่พบบ่อยจะเป็นโรคใน 4 กลุ่ม ดังนี้

โรคติดเชื้อโรคเนื้องอกโรคภูมิคุ้มกันโรคอื่น ๆ
- วัณโรค
- ฝีในช่องท้อง
- ฝีที่ฟัน
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ
- กระดูกอักเสบ
- ไซนัสอักเสบ
- ต่อมลูกหมากอักเสบ
- โรคติดเชื้อ CMV
- โรคติดเชื้อ Epstein-Barr
- โรคติดเชื้อ HIV
- โรค Lyme
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มะเร็งไต
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งตับ
- มะเร็งตับอ่อน
- มะเร็งระยะแพร่กระจาย
- กลุ่มอาการ Myelodysplastic
- มะเร็งชนิดซาร์โคมา
- Still's diseases
- Polymyalgia rheumatica
- Temporal arteritis
- ไข้รูห์มาติก
- ลำไส้อักเสบ
- กลุ่มอาการไรเตอร์
- โรค SLE
- โรคที่มี vasculitis อื่น ๆ
- ไข้จากยา
- ไข้ปลอม
- ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์
- โรคแทรกซ้อนจากตับแข็ง
- หลอดเลือดดำอักเสบ
- โรค Sarcoidosis

ยาที่ทำให้เกิดไข้

ไข้จากยามักเริ่มประมาณวันที่ 7-10 หลังใช้ยาติดต่อกัน และจะหายไปภายใน 48 ชั่วโมงหลังหยุดยา ผู้ป่วยที่เป็นไข้จากยาจะไม่ค่อยซมเพราะพิษไข้แม้จะมีไข้สูง ยาที่พบบ่อยว่าทำให้เกิดไข้ในลักษณะนี้ได้แก่ (รายชื่อข้างล่างนี้เป็นชื่อสามัญ/ชื่อทางเคมีของยา)

ยาต้านจุลชีพกลุ่ม Aminoglycosides, กลุ่ม Cephalosporins, กลุ่ม Macrolides, กลุ่ม Penicillins, กลุ่ม Sulfonamides, Amphotericin B, Clindamycin, Minocycline, Nitrofurantoin, Vancomycin
ยารักษาวัณโรคEthambutol (พบน้อย), Isoniazid, Pyrazinamide, Rifampicin
ยาโรคหัวใจAtropine, Procainamide, Quinidine
ยาลดความดันCaptopril, Hydralazine, Hydrochlorothiazide, Methyldopa, Nifedipine
ยาลดไขมันในเลือดClofibrate
ยารักษาโรคกระเพาะCimetidine, Ranitidine
ยาแก้อาเจียนMeperidine
ยาแก้ปวด ลดการอักเสบAspirin, Ibuprofen, Sulindac
ยารักษาโรคเก๊าท์Allopurinol
ยาต้านการแข็งตัวของเลือดHeparin
ยากันชักกลุ่ม Barbiturates, Carbamazepine, Phenytoin
ยาควบคุมอาการทางจิตกลุ่ม Phenothiazines, กลุ่ม Tricyclic antidepressants
ยากระตุ้นภูมิต้านทานInterferons

แนวทางการวินิจฉัย

การวินิจฉัยต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ดูรูปแบบการขึ้นลงของไข้สัก 2-3 วัน สอบถามถึงแหล่งที่อยู่อาศัย การเดินทาง การรักษามาก่อนหน้านี้ หากมีไข้จริงและตรวจร่างกายไม่พบระบบที่ต้องสงสัยจะได้รับการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ทรวงอก เพาะเชื้อในเลือดและปัสสาวะ หากผลกลับมาปกติ อาการเวียนศีรษะต้องอาศัยประวัติที่ละเอียด เช่น ลักษณะของอาการเวียนศีรษะ ระยะเวลาและช่วงเวลาที่มีอาการ อาการร่วมทางหูและทางระบบประสาท ตลอดจนประวัติโรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำ ประวัติโรคทางหู ประวัติการได้รับอุบัติเหตุและการผ่าตัดต่าง ๆ

ในการตรวจร่างกายก็เช่นกัน นอกจากจะต้องตรวจทุกระบบ วัดความดันโลหิตทั้งท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน (เพื่อตรวจหาความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนท่า) แล้ว ยังต้องตรวจหู ตรวจระบบประสาทและการทรงตัว ตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ตรวจดูการกลอกของลูกตาและการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ อีก

เมื่อแพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติของการทำงานในหูชั้นในอาจได้รับการตรวจพิเศษเพิ่ม เช่น ตรวจการได้ยิน (audiogram) ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (videoelectronystagmography, VNG) ตรวจวัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (electrocochleography, ECOG) ตรวจการทรงตัว (posturography) ตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน (evoke response audiometry) เป็นต้น ในรายที่สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกของเส้นประสาทการทรงตัว หรือความผิดปกติที่สมอง จะตรวจพิเศษทางรังสี เช่น CT scan หรือ MRI

หากไม่สงสัยความผิดปกติที่หูหรือที่สมองเลย แพทย์ก็อาจส่งตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับเกลือแร่ในเลือด เป็นต้น ในกลุ่มนี้กว่าครึ่งหนึ่งอาจไม่พบความผิดปกติอะไร อาการเวียนศีรษะที่เกิดขึ้นจึงตกอยู่ในกลุ่มที่ 4 คือ ไม่ทราบสาเหตุ หรือ ยังไม่ทราบสาเหตุ จนกว่าจะมีอาการร่วมอื่น ๆ แสดงออกมาในเวลาต่อไป