เวียนศีรษะ (Dizziness, Vertigo)
ปกติการทรงตัวของคนเรามาจากการรับภาพของตา การรับสัมผัสของร่างกายกับวัตถุรายรอบ และการรับการเคลื่อนไหวของอวัยวะในหูชั้นใน ทั้ง 3 ส่วนจะมาประมวลกันที่สมอง ถ้าไม่มีสัญญาณอะไรขัดกัน สมองจะรับรู้ท่าที่เราอยู่ขณะนั้น และสั่งให้กล้ามเนื้อตาตลอดจนกล้ามเนื้อข้อต่อต่าง ๆ ทำงานสอดประสานกันจนเราเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ถ้ามีสัญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ทำงานหรือให้ข้อมูลขัดกัน สมองก็จะสับสนและทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ
อาการเวียนศีรษะที่เป็นน้อย ๆ จะแค่โคลงเคลงเหมือนเมารถหรือเมาเรือ ทางการแพทย์เรียกว่า "dizziness" (วิงเวียน) แต่ถ้าเป็นมากจะถึงขั้นรู้สึกว่ามีสิ่งแวดล้อมหมุน ไม่สามารถยืนทรงตัวอยู่ได้ และอาจมีตากระตุกหรืออาเจียนออกมา ทางการแพทย์เรียกว่า "vertigo" (บ้านหมุน)
อาการเวียนศีรษะนี้ไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อยก็มักเป็นชั่วคราว เมื่อตัวรับทั้งสามปรับตัวเข้ากันได้ เราก็จะรู้สึกสมดุล และอาการก็จะหายไป แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อย หรือใช้เวลานานกว่าจะหาย หรือไม่หายไปเลย แสดงว่าพยาธิสภาพร้ายแรงกว่าที่คิด กรณีนี้ท่านควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด
สาเหตุของอาการเวียนศีรษะแบบวิงเวียน
- การอยู่ในวัตถุที่เคลื่อนที่และโคลงเคลง ไม่สามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ทั้งหมด
- การหมุนตัวเร็ว ๆ โดยสายตาจับภาพที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน
- ปัญหาทางสายตา (สั้น ยาว เอียง) แล้วอ่านหนังสือตัวเล็ก ๆ นานเกินไป
- ตั้งครรภ์ในระยะแรก (แพ้ท้อง)
- โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ภาวะโลหิตจาง
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในคนที่กินหรือฉีดยารักษาโรคเบาหวาน
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
- พยาธิสภาพในหูหรือในสมองที่เป็นไม่มาก (ดังสาเหตุของอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน)
สาเหตุของอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน
สาเหตุหลักจะอยู่ที่หูชั้นใน สมอง และเส้นประสาท
1. พยาธิสภาพของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน
- ภาวะก้อนหินปูนเคลื่อนที่ในหูชั้นใน (benign paroxysmal positional vertigo หรือ BPPV) อาการเวียนศีรษะจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ศีรษะหันไปทางใดทางหนึ่ง และมักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ (มักเป็นวินาที มักไม่เกิน 1 นาที)
- การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) โดยเชื้ออาจลุกลามมาจากหูชั้นกลางที่อักเสบ หรือจากเยื่อหุ้มสมองที่อักเสบ ซึ่งอาจเป็นทั้งไวรัส, แบคทีเรีย, ปรสิต
- การอักเสบของหูชั้นในจากสารพิษ (toxic labyrinthitis) ได้แก่ ยาที่มีพิษต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน เช่น ยาต้านจุลชีพกลุ่ม aminoglycoside, ยากลุ่ม quinine, salicylate, sulfonamide, barbiturate เป็นต้น
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน ทำให้มีเลือดออกในหูชั้นใน, ฐานสมอง, ก้านสมอง หรือสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Ménière’s disease) เป็นโรคที่มีความดันน้ำภายในอวัยวะการทรงตัวแตกต่างกันในบางขณะ รักษายาก มักเป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุนเป็นพัก ๆ มีเสียงดังในหู และการได้ยินลดลง
2. พยาธิสภาพที่สมอง
- การติดเชื้อของระบบประสาท
- การเสื่อมของระบบประสาทกลางที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
- เนื้องอกที่สมอง
- สมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัวขาดเลือด
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ
- โรคลมชักบางชนิด
- โรคไมเกรนบางจำพวก
- โรค Multiple sclerosis
3. พยาธิสภาพที่เส้นประสาท
- เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (vestibular neuronitis) อาการเวียนศีรษะอาจเป็นนานหลายสัปดาห์
- เนื้องอกของประสาททรงตัว (vestibular schwannoma) จัดเป็นเนื้องอกไม่ร้าย โตช้า มักพบในคนสูงอายุ
4. ไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อไหร่ถึงควรไปพบแพทย์
แม้อาการวิงเวียนหรือบ้านหมุนสามารถหายเองได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่ท่านควรที่จะไปตรวจเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- อาการวิงเวียนที่ไม่ทราบสาเหตุและเป็นอยู่นานกว่า 1 วัน หรือเกิดซ้ำบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาการบ้านหมุนที่เป็นอยู่นานกว่า 5 นาที (ถ้าเป็นสั้นกว่านั้นก็หายเองมักเป็นจากภาวะก้อนหินปูนเคลื่อนที่ในหูชั้นใน (BPPV) ไม่ต้องตกใจ)
- มีอาการทางหูร่วมด้วย เช่น ปวดหู หูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือมีการได้ยินที่ลดลง
- มีอาการทางระบบประสาท เช่น อ่อนแรงแขนขา ชัก ปวดศีรษะ
- ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อนหน้านี้
แนวทางการวินิจฉัย
การวินิจฉัยอาการเวียนศีรษะต้องอาศัยประวัติที่ละเอียด เช่น ลักษณะของอาการเวียนศีรษะ ระยะเวลาและช่วงเวลาที่มีอาการ อาการร่วมทางหูและทางระบบประสาท ตลอดจนประวัติโรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำ ประวัติโรคทางหู ประวัติการได้รับอุบัติเหตุและการผ่าตัดต่าง ๆ
ในการตรวจร่างกายก็เช่นกัน นอกจากจะต้องตรวจทุกระบบ วัดความดันโลหิตทั้งท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน (เพื่อตรวจหาความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนท่า) แล้ว ยังต้องตรวจหู ตรวจระบบประสาทและการทรงตัว ตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ตรวจดูการกลอกของลูกตาและการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ อีก
เมื่อแพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติของการทำงานในหูชั้นในอาจได้รับการตรวจพิเศษเพิ่ม เช่น ตรวจการได้ยิน (audiogram) ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (videoelectronystagmography, VNG) ตรวจวัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (electrocochleography, ECOG) ตรวจการทรงตัว (posturography) ตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน (evoke response audiometry) เป็นต้น ในรายที่สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกของเส้นประสาทการทรงตัว หรือความผิดปกติที่สมอง จะตรวจพิเศษทางรังสี เช่น CT scan หรือ MRI
หากไม่สงสัยความผิดปกติที่หูหรือที่สมองเลย แพทย์ก็อาจส่งตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับเกลือแร่ในเลือด เป็นต้น ในกลุ่มนี้กว่าครึ่งหนึ่งอาจไม่พบความผิดปกติอะไร อาการเวียนศีรษะที่เกิดขึ้นจึงตกอยู่ในกลุ่มที่ 4 คือ ไม่ทราบสาเหตุ หรือ ยังไม่ทราบสาเหตุ จนกว่าจะมีอาการร่วมอื่น ๆ แสดงออกมาในเวลาต่อไป