ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension, Low blood pressure)

ความดันโลหิตประกอบด้วยตัวเลข 2 ค่า มีหน่วยเป็น มิลลิเมตรปรอท (mmHg)

  • ตัวบน (systolic) คือความดันภายในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจฉีดเลือดออกไป ผนังหลอดเลือดจะโป่งออกอย่างที่เรารู้สึกเวลาจับชีพจร
  • ตัวล่าง (diastolic) คือความดันพื้นฐานภายในหลอดเลือดแดงเวลาที่หัวใจคลายตัว

ความดันที่เหมาะสมที่สุดของผู้ใหญ่คือ 90/60 ถึง 120/80 mmHg หรือความดันเฉลี่ยอยู่ในช่วง 70-100 mmHg

ความดันเฉลี่ย (mean arterial pressure, MAP) = ความดันค่าล่าง + ⅓ (ความดันค่าบน - ความดันค่าล่าง)

ความดันโลหิตต่ำ ทางการแพทย์หมายถึง

  1. ความดันที่ต่ำกว่า 90/60 mmHg หรือ MAP < 70 mmHg สำหรับคนอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  2. ความดันค่าบน < 70 + (อายุเป็นปี x 2) mmHg สำหรับเด็กต่ำกว่า 10 ขวบ
  3. ความดันค่าบนลดลง > 20 mmHg หรือ ความดันค่าล่างลดลง > 10 mmHg จากค่าเดิมของคน ๆ นั้น อย่างฉับพลันจนเกิดอาการ

ความดันที่ต่ำกว่า 60/40 mmgHg หรือ MAP < 60 mmHg จะส่งผลต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ไต หัวใจ ได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ต้องรีบรักษา ส่วนความดันต่ำระหว่าง 70/50-90/60 และไม่มีอาการ ร้อยละ 90 ไม่มีอันตราย หากแพทย์ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติจะไม่รักษา

อาการของความดันโลหิตต่ำ

คนปกติที่ความดันโลหิตต่ำอยู่ตลอดมักไม่แสดงอาการอะไร แต่จะแสดงอาการเมื่อมันลดลงจากเดิมอย่างรวดเร็วขณะเกิดเหตุ เช่น ท้องเสีย ยืนกลางแดดนาน ๆ แพ้ยา แพ้อาหาร ทำนองเดียวกัน คนที่ความดันปกติหรือสูง เมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ความดันลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น เสียเลือด ได้รับยาลดความดันโลหิต หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แม้ความดันยังไม่ต่ำกว่า 90/60 mmHg ก็สามารถแสดงอาการแล้ว

อาการของความดันโลหิตต่ำ ได้แก่

สาเหตุของความดันโลหิตต่ำ

ความดันโลหิตต่ำไม่ใช่โรค แต่เป็นผลจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ และอาจหายได้เมื่อโรคหรือภาวะนั้น ๆ ได้รับการแก้ไขแล้ว สาเหตุเหล่านั้นได้แก่

  1. การนอนติดเตียงเป็นเวลานาน
  2. ภาวะตั้งครรภ์ช่วง 6 เดือนแรก
  3. การเสียน้ำหรือเสียเลือด
  4. จากยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาต้านซึมเศร้า ยาช่วยให้อวัยวะเพศชายแข็งตัว (โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยากล่อมประสาทและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
  5. โรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นช้า/รัว ลิ้นหัวใจตีบ/รั่ว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/ตาย มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจมาก หัวใจล้มเหลว
  6. โรคปอด เช่น ความดันเลือดที่ปอดสูง (Pulmonary hypertension) หลอดเลือดที่ปอดอุดตัน (Pulmonary embolism)
  7. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  8. ติดเชื้อในกระแสเลือด
  9. แพ้ยา แพ้พิษสัตว์ แบบอนาไฟแลคซิส (Anaphylaxis)
  10. โลหิตจาง
  11. ภาวะต่อมหมวกไตไม่ทำงาน (Adrenal insufficiency)
  12. โรคต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน (Hypothyroidism)
  13. โรคพาราไทรอยด์ไม่ทำงาน (Hypoparathyroidism)
  14. โรคของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมความดันโลหิตเวลาที่เราขึ้นนั่งหรือยืน มักพบในคนสูงอายุ ภาวะนี้เรียกว่า orthostatic hypotension คือความดันลดขณะเปลี่ยนท่า
  15. การยืนหรือนั่งไข่วห้างนาน ๆ (มักพบในคนอายุน้อย)
  16. หลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่
  17. กลัว/ตกใจ/เสียใจมาก
  18. หยุดพักทันที หลังออกกำลังกายอย่างหนัก
  19. อยู่ในที่แออัดหรืออบอ้าว
  20. อาบน้ำร้อนจัด

แนวทางการตรวจวินิจฉัย

ผู้ที่ตรวจด้วยตัวเองพบว่ามีความดันโลหิตต่ำ ขั้นแรกควรทบทวนด้วยตัวเองก่อนว่ามีการใช้ยาหรือมีภาวะที่ทำให้ความดันต่ำที่แก้ไขได้เองหรือไม่ หากแก้ได้ และความดันกลับมาปกติดังเดิมก็ไม่มีอันตรายอะไร หากตัดสาเหตุที่เป็นไปได้ข้างต้นออกจนหมดแล้วความดันยังต่ำอยู่ ให้สังเกตตนเองว่ามีอาการของความดันโลหิตต่ำหรือไม่ ถ้าไม่มีเลยและอายุ < 50 ปี ก็ยังไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่คอยระวังเหตุการณ์ที่อาจทำให้ความดันลดต่ำลงไปอีก เช่น ท้องเสีย ขาดน้ำ หรืออยู่ในที่ร้อนจัด

ถ้าความดันต่ำร่วมกับมีอาการ แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจหาสาเหตุของความดันต่ำ ซึ่งอาจต้องเจาะเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอกซเรย์

แนวทางการรักษา

การรักษาขึ้นกับว่ามีอาการหรือไม่ หากไม่มีแพทย์จะไม่รักษา ถือเป็นความดันที่ปกติของคนนั้น หากมีอาการขั้นต้นแพทย์จะให้น้ำเกลือก่อน และควรพักดูอาการในโรงพยาบาล พร้อมกับรอผลตรวจหาสาเหตุต่าง ๆ

ผู้ที่มีความดันต่ำแต่ไม่มีอาการ ควรหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้มีกำลังสำรองเวลาเจ็บป่วย เพิ่มน้ำหนักตัวหากดัชนีมวลกายน้อยเกินไป ดื่มน้ำให้เพียงพอ และอาจรับประทานอาหารรสเค็มให้บ่อยขึ้น

บรรณานุกรม

  1. "Low blood pressure (hypotension)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic (6 มิถุนายน 2563).
  2. "Hypotension." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia (6 มิถุนายน 2563).
  3. "Low Blood Pressure - When Blood Pressure Is Too Low." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Heart.org (6 มิถุนายน 2563).
  4. Richard E. Klabunde. 2020. "Hypotension - Introduction." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา cvphysiology.com (6 มิถุนายน 2563).