ใบหน้าคนเราประกอบด้วยอวัยวะเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญมากมาย ทั้งตา, หู, จมูก, ไซนัส, ฟัน, ต่อมน้ำลาย, ฯลฯ อาการปวดที่ใบหน้าอาจเกิดจากพยาธิสภาพของอวัยวะเหล่านี้หรือของตัวระบบประสาทเองโดยตรง พยาธิสภาพบริเวณใบหน้าส่วนใหญ่ต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางทั้งสิ้น ในหน้านี้จะกล่าวถึงลักษณะของโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดที่ใบหน้าได้ เพื่อผู้ป่วยจะสามารถแยกเองได้คร่าว ๆ และตรงไปพบแพทย์ที่แผนกนั้นเองเลย
- โรคงูสวัด
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Varicella zoster ซึ่งเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส เชื่อว่าหลังจากหายจากอีสุกอีใสแล้ว เชื้อจะแฝงตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของระบบประสาทใต้ผิวหนัง เมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น อายุมาก ถูกกระทบกระเทือน มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ เชื้อที่แฝงตัวอยู่นั้นก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ทำให้เส้นประสาทอักเสบ และเกิดตุ่มใสที่ผิวหนังตามแนวที่เส้นประสาทไปเลี้ยง
อาการปวดแสบปวดร้อนที่ใบหน้าจะเกิดก่อนออกตุ่มประมาณ 1-2 วัน ตุ่มน้ำจะทยอยขึ้นตามแนวที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่อักเสบ ซึ่งช่วงนี้จะปวดมากที่สุด หลังวันที่ 7 ไปตุ่มน้ำจะแห้ง แบน และตกสะเก็ด อาการปวดก็จะค่อย ๆ หายไป แต่ในผู้ป่วยสูงอายุร้อยละ 40 มีโอกาสปวดที่เดิมหลังแผลหายสนิทแล้ว การใช้ยาต้านไวรัสงูสวัดตอนที่เริ่มเป็นตุ่มน้ำใสภายใน 3 วันแรกสามารถลดอุบัติการณ์ของภาวะนี้ได้ แต่ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนนี้แล้ว ยาที่ช่วยลดอาการปวดได้ดีคือกลุ่ม Tricyclic antidepressants และ gabapentin (Neurontin)
โรคนี้ต้องไปปรึกษาแพทย์แผนกอายุรกรรม
- โรคไซนัสอักเสบ
ถ้าเป็นเรื้อรังมักไม่ค่อยมีไข้ แต่จะมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล, จาม, เวลาพูดมีเสียงตื้อ ๆ ไม่กังวาน น้ำมูกเขียวข้น บางรายมีกลิ่นเหม็น แล้วก็ปวดตามใบหน้าบริเวณที่มีโพรงไซนัสอักเสบ เช่น สองข้างจมูก กลางหน้าผาก แก้มข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดทั้งศีรษะ
โรคนี้ต้องไปปรึกษาแพทย์แผนกหู คอ จมูก (ENT)
- โรคข้อขากรรไกรเสื่อม (Temporomandibular joint disorder, TMD)
โรคนี้มักพบในคนอายุ 20-40 ปี เพศหญิงมากกว่าชาย จะปวดข้อขากรรไกรที่อยู่ตรงหน้าหูข้างเดียวหรือทั้งสองข้างอยู่ตลอดเวลา มีเสียงข้อกระทบกันเวลาเคี้ยว บางครั้งอ้าปากแล้วหุบจะไม่ลงล็อคทันที ต้องขยับอีกนิดหน่อย และบางครั้งจู่ ๆ ก็มีข้อบวมขึ้นมาเอง
ถ้ามีอาการแบบนี้ท่านควรไปปรึกษาทันตแพทย์
- โรคที่ต่อมน้ำลาย
ต่อมน้ำลายคนเรามี 3 คู่ คือ พาโรติดที่ข้างหู ซับแมนดิบูลาร์ที่ใต้ขากรรไกร และซับลิงกัวที่ใต้ลิ้น โรคของต่อมน้ำลายอาจเป็นนิ่วอุดท่อน้ำลาย การติดเชื้อของต่อม หรือเนื้องอกของต่อม
ถ้าเป็นนิ่วอุดท่อน้ำลาย อาการปวดจะเกิดเป็นพัก ๆ ก่อนเริ่มกินอาหารเพราะน้ำลายไหลออกไปไม่ได้ แต่พอทานไปสักพักต่อมผลิตน้ำลายมากขึ้น นิ่วก็อาจหลุดออกไป อาการปวดจะหายไป แล้วก็อาจเป็นมาอีกเมื่อเริ่มกินมื้อใหม่ แต่บางครั้งอาการปวดก็ไม่หายไปเลย กรณีนี้ต้องให้ทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ระบบช่องปากและขากรรไกรช่วยเอาออกให้
ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย ตัวต่อมจะบวม ปวด และมีไข้ กรณีนี้ถ้าไม่ได้เป็นโรคคางทูมหรือติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ควรเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูว่ามีนิ่วด้วยหรือไม่ เพราะนิ่วเป็นสาเหตุของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ต่อมน้ำลายมากที่สุด
เนื้องอกของต่อมน้ำลายส่วนใหญ่เป็นที่ต่อมพาโรติด และเป็นเนื้องอกไม่ร้าย ไม่ทำให้ปวด ผู้ป่วยจะคลำได้ก้อนแข็ง ๆ ข้างแก้มเท่านั้น พวกที่ทำให้ปวดหรือชาที่ใบหน้าคือเป็นเนื้องอกร้ายที่ลามไปถึงเส้นประสาท กรณีของเนื้องอกนี้ควรปรึกษาศัลยแพทย์ระบบช่องปากและขากรรไกร
- โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia)
โรคนี้พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นตั้งแต่ช่วงวัยผู้ใหญ่ถึงวัยสูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งอย่างฉับพลัน รุนแรง ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที เหมือนไฟช็อต แต่สามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำ ๆ ถี่ ๆ ตลอดวัน นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก บางรายอาจมีตำแหน่งบนใบหน้าที่เมื่อไปสัมผัสถูกจะให้มีอาการปวดเกิดขึ้นมา ผู้ป่วยเหล่านี้จึงมีไม่อยากล้างหน้า แปรงฟัน หรือโกนหนวด
โรคนี้วินิจฉัยจากอาการได้ไม่ยาก แต่การหาสาเหตุของโรคค่อนข้างลำบากและมีราคาแพง ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีอะไรไปกดเส้นประสาท Trigeminal ซึ่งเป็นเส้นเลือดหรือเนื้องอก ส่วนหนึ่งเกิดจากโรคที่มีการอักเสบของปลายประสาททั่วไป เช่น Multiple sclerosis, Sarcoidosis, และพยาธิสภาพที่ระบบประสาทของโรคไลม์ และอีกส่วนหนึ่งหาสาเหตุไม่ได้เลย การตรวจหาสาเหตุต้องอาศัย MRI และ angiogram MRI พวกที่มีสาเหตุจากการกดทับเท่านั้นที่ตอบสนองดีต่อการผ่าตัด พวกที่เหลือจะใช้ยารักษา ซึ่งได้ผลไม่ค่อยดีนัก
- โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าสมองคู่ที่ IX (Glossopharyngeal neuralgia)
โรคนี้คล้ายกับ Trigeminal neuralgia มาก แต่จะปวดที่หูแทน เพราะเส้นประสาทนี้เลี้ยงบริเวณใบหูและลิ้นส่วนหลัง บางคนอาจมีอาการเป็นลมด้วย เพราะเส้นประสาท Vagus ที่อยู่ใกล้ ๆ กันอาจถูกกดไปด้วย การตรวจและการรักษาจะเหมือนกับโรค Trigeminal neuralgia
- โรค Giant cell arteritis
โรคนี้จะมีการอักเสบของเส้นเลือด temporal artery ข้างขมับ อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง อาการจะเป็นแบบเจ็บหนังศีรษะและบริเวณขมับข้างนั้น แตะไม่ได้ แตะแล้วจะปวดมาก หวีผมไม่ได้ อาการร่วมที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก อ่อนเพลีย เห็นภาพผิดปกติ และปวดขากรรไกรเวลาเคี้ยวอาหาร โรคนี้พบในผู้สูงอายุ เพศหญิงมากกว่าชาย
โรคนี้รักษาได้ไม่ยากและควรรีบรักษา หากช้าอาจเกิดอาการตาบอดจากเส้นประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง
- ปวดเส้นประสาทหลังได้รับบาดเจ็บ (Post traumatic trigeminal pain)
การบาดเจ็บดังกล่าวอาจมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดทางทันตกรรม การปวดจากสาเหตุนี้สามารถควบคุมได้ด้วยยา แต่มักไม่หายขาด
- ปวดเส้นประสาทหลังก้านสมองขาดเลือด (Post stroke pain)
ก้านสมองเป็นศูนย์รวมเซลล์ประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณใบหน้า ภายหลังฟื้นตัวอาจมีอาการไวของปลายประสาทที่ตัวเซลล์เคยบาดเจ็บมาก่อนได้
- ภาวะ Anesthesia dolorosa
เป็นภาวะดื้อต่อการรักษาหลังผ่าตัดเพื่อรักษาโรค Trigeminal neuralgia ที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล อาการจะเปลี่ยนจากปวดเป็นพัก ๆ เป็นปวดคงที่ตลอดเวลา โดยที่เมื่อเอามือจับที่ใบหน้าข้างนั้นจะชา ไม่มีความรู้สึก แต่พบได้น้อยมาก ประมาณ 1-4% ของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ภาวะนี้ไม่ค่อยตอบสนองต่อยารักษา
สาเหตุที่ 5-10 จะตรวจรักษากับแพทย์อายุรกรรมระบบประสาท ส่วนสาเหตุอื่น ๆ มักไม่ใช่อาการปวดที่ใบหน้าโดยตรง แต่เป็นการปวดศีรษะ (โรคไมเกรน, โรคคลัสเตอร์) ปวดตา (โรคต้อหิน) หรือปวดฟันร้าวไปที่ใบหน้ามากกว่า ซึ่งผู้ป่วยจะทราบตำแหน่งที่ปวดมากที่สุดของตัวเองดีอยู่แล้ว