ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ (Pregnancy complications)

การตั้งครรภ์เป็นจุดเริ่มต้นของความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติกำลังมอบให้คุณ ในระหว่างนี้ การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ขนาดมดลูก และน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว อาจทำให้คุณพบกับความลำบากบางอย่าง เราหวังว่าข้อมูลในหน้านี้จะช่วยให้คุณรับมือปัญหาและความลำบากในช่วงสั้น ๆ เหล่านั้นด้วยดี

ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์อาจแบ่งใหญ่ ๆ เป็นปัญหาทั่วไปที่ไม่มีพยาธิสภาพ ซึ่งมักเกิดกับหญิงตั้งครรภ์แทบทุกคน กับภาวะที่คุกคามสุขภาพของแม่และเด็กในครรภ์ ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แต่ค่อนข้างอันตราย ในหน้านี้จะกล่าวถึงเฉพาะปัญหาทั่วไปที่ไม่มีพยาธิสภาพ ส่วนภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์จริง ๆ จะกล่าวไว้ในเมนูย่อยของหัวข้อนี้ทางซ้ายมือ

ปัญหาทั่วไปที่พบบ่อยในระหว่างการตั้งครรภ์

    แพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่พบบ่อยในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ที่สร้างจากรก อาการส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะคลื่นใส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา รู้สึกขมปาก หรือรู้สึกเหม็นกับอะไรบางอย่างที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกเหม็นเลย อาการเหล่านี้มักเกิดไม่เลือกเวลา บางคนจะเป็นทั้งวัน ทำให้ทานอาหารได้น้อยลงจนน้ำหนักตัวอาจลดลงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 มีเพียงร้อยละ 10 ที่ยังคงมีอาการต่อ แต่ก็จะค่อย ๆ เบาลง

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการแพ้ท้อง

การใช้ยารักษาอาการแพ้ท้องควรอยู่ภายใต้การสั่งของแพทย์ โดยปกติแพทย์ก็จะไม่แนะนำให้ทานยาอะไรในช่วง 3 เดือนแรกอยู่แล้ว ในรายที่เป็นมากจนทานอะไรไม่ได้เลยแพทย์มักแนะนำให้นอนเติมน้ำเกลือในโรงพยาบาลและอาจให้ทานวิตามินเสริม

    เป็นลม

หญิงมีครรภ์มักจะเป็นลมง่าย การเป็นลมเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ มักเกิดตอนลุกขึ้นเร็ว หรือรีบทำอะไรเร็ว ๆ โดยทั่วไปความดันโลหิตในขณะตั้งครรภ์จะลดลงกว่าของเดิมเล็กน้อย เพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขยายผนังของหลอดเลือด นอกจากนั้นในคนท้องยังมีภาวะโลหิตจางเชิงสัมพัทธ์ เพราะร่างกายสร้างพลาสมาเพิ่มขึ้นขณะที่จำนวนเม็ดเลือดยังคงเท่าเดิม ปริมาณเม็ดเลือดแดงจึงเจือจางไป ถือเป็นภาวะโลหิตจางชั่วคราวตามธรรมชาติ (physiologic anemia) การนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอจึงเกิดได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

วิธีป้องกันการเป็นลมที่ดีที่สุดคือการทำอะไรให้ช้าลง ลุกช้า ๆ เดินช้า ๆ โดยเฉพาะตอนขึ้น-ลงบันได และถ้ามีอาการวิงเวียน หน้ามืด มือเย็น ได้ยินเสียงดังในหู ควรรีบนั่งหรือนอนลง


    ขี้ร้อน

อาการขี้ร้อน เหงื่อออกมากเป็นอาการปกติในคนท้อง เพราะฮอร์โมนทำให้มีเลือดไปเลี้ยงผิวหนังเพิ่มขึ้น เสื้อผ้าสำหรับหญิงมีครรภ์จึงควรเป็นชุดที่หลวมหน่อย เนื้อผ้าโปร่ง ซับน้ำได้ดี ไม่ระคายผิว เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าซาติน ผ้าเรยอง หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ เช่น ผ้าโพลีเอสเตอร์ เพราะระบายอากาศไม่ดี ใส่แล้วจะรู้สึกร้อน อับ


    อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หมดแรง อยากนอน เป็นอาการที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายตัวอย่างฉับพลันในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย คลื่นไส้ และอารมณ์แปรปรวน เมื่อครรภ์ดำเนินไป น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้คุณต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้อยู่ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรม และเมื่อมดลูกดันสูงขึ้นมาถึงอก ปอดก็ขยายตัวไม่ได้มาก ทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้น ในระยะใกล้คลอด ท้องที่มีขนาดใหญ่อาจทำให้นอนลำบาก หลับไม่สนิท พลิกตัวก็ลำบาก ลุกไปเข้าห้องน้ำก็ยาก โดยรวมแล้วอาการเหนื่อยง่ายเป็นภาวะปกติในหญิงตั้งครรภ์แทบทุกราย อาการนี้ไม่มีผลอะไรกับเด็กในครรภ์

ลักษณะที่ควรจะไปปรึกษาแพทย์คือ

  1. อาการเหนื่อยที่เป็นมาก พักก็ไม่หาย จนบางครั้งแทบลุกไม่ไหว (อาจมีภาวะโลหิตจางมาก)
  2. มีอาการมือสั่น ชีพจรเต้นเกิน 100 ครั้ง/นาที แม้ในขณะนอนพัก (อาจเป็นไทรอยด์เป็นพิษ)
  3. รู้สึกมีไข้ (อาจเป็นโรคติดเชื้อที่ใดสักแห่ง)

    ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะในหญิงพบบ่อยช่วงก่อนที่ระดูจะมา และหายไปในวันแรกหรือวันที่สองที่มีระดู แน่นอนว่าอาการนี้สัมพันธ์กับฮอร์โมน อิทธิพลของฮอร์โมนที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะยังแสดงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์และในช่วงต้นของวัยหมดประจำเดือน แต่กลไกยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะมีอาการนี้

หญิงตั้งครรภ์บางรายจะมีอาการปวดศีรษะอย่างมากในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คือตั้งแต่ที่ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเริ่มมีครรภ์ จากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และจะหายไปเองเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4

อาการปวดศีรษะที่เกิดในช่วงเดือนที่ 4-7 ของการตั้งครรภ์อาจเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 mmHg ขึ้นไป ร่วมกับการมีโปรตีนออกมาในปัสสาวะ หน้าแข้งบวม หนังตาบวม ตาพร่ามัว และรู้สึกเหนื่อย ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่อันตราย จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยด่วน โดยทั่วไปการฝากครรภ์จะมีการตรวจภาวะครรภ์เป็นพิษนี้อยู่เป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว แต่หากมีอาการเกิดขึ้นก่อนวันนัดก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ก่อนได้ แพทย์ทุกท่านทราบดีว่านี่เป็นภาวะฉุกเฉิน

    ปวดหลัง

ในระหว่างการตั้งครรภ์ เส้นเอ็นต่าง ๆ ในร่างกายของคุณจะอ่อนตัวและยืดขยาย เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด น้ำหนักของมดลูกที่ถ่วงอยู่ทางด้านหน้าตลอดเวลาทำให้คุณต้องแอ่นหลังไว้ตลอดเช่นกัน ลักษณะนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีอาการปวดหลัง

วิธีการดูแลหลังช่วงที่ตั้งครรภ์

  1. อย่ายกของหนัก
  2. ถ้าจะหิ้วของให้แบ่งน้ำหนักหิ้ว ให้แขนทั้งสองข้างรับน้ำหนักพอ ๆ กัน
  3. เวลาจะหยิบของจากพื้น ให้งอเข่าแล้วคุมหลังให้ตรง ก่อนย่อลงไปหยิบ
  4. อย่าเอี้ยวตัวหันไปข้างหลัง ให้ขยับเท้าแล้วหันทั้งตัว
  5. ไม่ควรใส่รองเท้ามีส้น ไม่ว่าจะส้นเตี้ยเท่าใดก็ตาม ให้เลือกรองเท้าที่มีพื้นแบนราบเท่ากัน
  6. นั่งทำงานกับโต๊ะที่สูงพอเหมาะพอดี เพื่อจะได้ไม่ต้องก้มมาก
  7. นั่งบนเก้าอี้พนักตรงที่มีหมอนหนุนหลัง
  8. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในช่วงใกล้คลอด
  9. ออกกำลังกายในน้ำหรือทำกายบริหารสำหรับคนท้องเป็นบางครั้ง เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย (ควรมีคนคอยดูแลอยู่ใกล้ด้วย)

    ขาบวม เป็นตะคริว และเส้นเลือดขอด

ขาเป็นอวัยวะส่วนที่ต้องรับน้ำหนักมากในช่วงตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ที่ยังต้องเดินทำงานอยู่จนถึงวันคลอดจะพบปัญหาขาบวม เป็นตะคริว และเส้นเลือดขอดเป็นประจำ

ขาบวมเกิดจากของเหลวและเลือดไหลไปกองรวมกันที่ขาเมื่อเรายืนนาน ๆ ซึ่งสตรีตั้งครรภ์ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คุณควรหาเวลานั่งยกขาขนานไปกับพื้น หรือหาหมอนมาหนุนไว้ที่ใต้ข้อเท้าเวลานอน อาการขาบวมจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อใบหน้าและมือก็บวมด้วย ถึงตอนนั้นควรไปวัดความดันโลหิตดู ถ้าสูงถึง 140/90 mmHg ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะเป็นอาการแสดงของภาวะครรภ์เป็นพิษ อาการอื่นของภาวะนี้ได้แก่ ปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว อาเจียน และปวดใต้ชายโครง

อาการตะคริวที่ขายังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สัมพันธ์กับการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปหรือการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ โดยเฉพาะในภาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่บางชนิด ในคนท้องมักเกิดในเวลากลางคืน เวลาเป็นตะคริวให้พยายามเหยียดกล้ามเนื้อที่หดเกร็งแล้วนวด การสวมถุงเท้าเพื่อความอบอุ่นก็อาจป้องกันได้ ในเวลากลางวันให้หมั่นบริหารเท้าและดื่มน้ำให้มากขึ้น ถ้าเกิดยังบ่อยก็ควรปรึกษาแพทย์

เส้นเลือดขอดที่ขาเกิดจากหลอดเลือดดำที่ขาส่งเลือดกลับเข้าหัวใจไม่ทัน จะเห็นเป็นลักษณะหลอดเลือดที่โป่ง คดเคี้ยวคล้ายตัวหนอนอยู่ที่ผิวหนังของน่อง มักเป็นจากการยืนนาน ๆ การนั่งไขว่ห้าง การเดินมาก และการเบ่งหรือยกของหนัก ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นเมื่อคลอดแล้ว ระหว่างนั้นอาจสวมถุงน่องเพื่อช่วยพยุงกล้ามเนื้อ ควรนอนยกขาสูงบ้าง และอาจว่ายน้ำเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น


    ท้องอืด อาหารไม่ย่อย

อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการที่มดลูกเบียดดันกระเพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ บางรายอาจมีอาการของกรดไหลย้อนหลังทานอาหารอิ่มมาก ๆ เมื่อมีอาการนี้ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก และอย่าเข้านอนทันทีหลังทานอาหาร ควรรอให้อาหารย่อยเสร็จสัก 1-2 ชั่วโมง หากมีอาการมากอาจทานยาลดกรด (antacids) ช่วย ไม่ควรทานยาขับลมพวก M. Carminative หรือที่คนไทยเรียกกันว่า "ยาธาตุน้ำแดง" เพราะมีแอลกอออล์เป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 8.8%


    ท้องผูก

อาการท้องผูกอาจเกิดในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนและการแพ้ท้อง แต่ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง การทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น

ในช่วงตั้งครรภ์หากได้รับยาบำรุงที่เป็นธาตุเหล็กก็อาจทำให้มีอาการท้องผูกหรือถ่ายอุจจาระสีคล้ำขึ้นได้ ถ้ารุนแรงมากก็อาจงดไป ใช้วิธีทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ เลือดต้มสุก แทน และควรรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม ร่วมด้วย เพราะวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกับชาและกาแฟ ซึ่งเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกาย

    ปัสสาวะบ่อยและเล็ด

อาการปัสสาวะบ่อยและบางครั้งถึงกับเล็ดเวลาไอ จาม หรือหัวเราะ เป็นอาการที่พบบ่อยในหญิงมีครรภ์ เนื่องจากตัวมดลูกกดอยู่บนกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะขยายตัวรับน้ำไม่ได้มาก ดังนั้นจึงควรเตรียมเข้าห้องน้ำก่อนออกจากบ้าน อาจกะเวลาเข้าห้องน้ำทุก 2 ชั่วโมง ไม่ต้องรอให้ปวด, งดดื่มชา กาแฟ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ, และอย่าดื่มน้ำมากก่อนนอน

อาการผิดปกติที่ต้องปรึกษาแพทย์คือ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะแล้วแสบที่ท่อปัสสาวะ ปัสสาวะสีแดงจาง ๆ คล้ายมีเลือดปน หรือปัสสาวะเป็นเลือดสด


    ตกขาว

ในช่วงตั้งครรภ์ ปริมาณระดูขาวจะมีมากกว่าปกติเล็กน้อย เพราะปากมดลูกและช่องคลอดนุ่มขึ้น ระดูขาวจะช่วยขับไล่เชื้อโรคที่อาจย้อนกลับขึ้นไปในมดลูก ในสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ ระดูขาวอาจมีลักษณะคล้ายมูกปนเลือด นั่นเป็นเพราะปากมดลูกกำลังจะเปิดเตรียมให้เด็กในครรภ์ออกมา

อย่างไรก็ตาม หญิงมีครรภ์มีแนวโน้มจะเกิดช่องคลอดอักเสบจากเชื้อราที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เนื่องจากสมดุลของกรด-ด่างเปลี่ยนไปในระหว่างตั้งครรภ์ อาการตกขาวที่น่าสงสัยว่าจะมีการเจริญของเชื้อมากเกินไปและจำเป็นต้องพบแพทย์ได้แก่ ตกขาวที่มีกลิ่นเหม็น มีอาการคันหรือแสบช่องคลอดร่วมดัวย และสีของตกขาวเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง เขียว หรือแดง (มีเลือดปนทั้งที่ยังไม่ใกล้คลอด)


    เป็นฝ้า ผิวคล้ำ ขนดก ท้องลาย

ในช่วงตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะบริเวณรอบหัวนม ไฝ และกระ บางคนจะเห็นเส้นสีน้ำตาลตรงกลางท้องลงไปถึงหัวเหน่า นอกจากนั้นยังอาจมีขนตามตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อคลอดแล้ว

หน้าท้องแตกลายก็เป็นภาวะปกติในคนท้อง เกิดจากผิวหนังมีการยืดตัวทำให้ชั้นผิวหนังที่อยู่ลึกลงไปฉีกขาด รอยแตกลายจะมีสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น แต่หลังคลอดรอยเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงไปเอง