ความผิดปกติในการเดิน (Gait disorders)

การเดินเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ การเดินของคนเป็นการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อลำตัว ขา เท้า และแขนทั้งสองข้าง ซึ่งสั่งการมาจากสมองและไขสันหลัง ร่วมกับประสาทรับภาพ ประสาทรับสัมผัส และประสาทการทรงตัว ความผิดปกติในการเดินจึงอาจเกิดจากความเจ็บปวดของกระดูก กล้ามเนื้อ และอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเดิน, การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ, รอยโรคที่สมองหรือไขสันหลัง, รวมทั้งการเสียประสาทรับความรู้สึกที่จำเป็นต่อการเดิน

ความผิดปกติในการเดินพบได้ทุกวัย แต่ที่สำคัญคือความผิดปกติในเด็กและคนชรา เพราะผู้ป่วยมักจะอธิบายรายละเอียดไม่ได้ และส่วนใหญ่ไม่มีอาการปวด หากผู้ดูแลไม่สังเกตก็อาจทำให้พบแพทย์ล่าช้า ในที่นี้จึงได้แยกกล่าวถึงความผิดปกติในการเดินของเด็กและคนชราเป็นอีกสองหัวข้อ

ลักษณะการเดินที่ผิดปกติ

รูปแบบการเดินที่ผิดปกติเหล่านี้สามารถบอกถึงกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุได้ (คลิกที่รูปกล้องวิดีโอเพื่อดูตัวอย่างการเดินแต่ละแบบ)

  1. เดินกระเผลก (Antalgic gait)
  2. เป็นลักษณะการเดินที่พยายามเลี่ยงการลงน้ำหนักขาข้างที่ปวด โดยขาข้างที่ปวดจะมีระยะการยกลอยขึ้นจากพื้นนานกว่าข้างที่ไม่ปวด และระยะที่เหยียบพื้นก็สั้นลง จากวิดีโอพอจะเดาได้ว่าผู้ป่วยเจ็บขาซ้าย แต่เจ็บตรงไหน ด้วยสาเหตุอะไรต้องถามและตรวจบริเวณนั้นอีกที

  3. เดินทรงตัวไม่ดี (Ataxic gait)
  4. เป็นลักษณะการเดินที่เท้ากะจังหวะก้าวไม่ได้เพราะการทรงตัวเสีย ทั้งลำตัวและแขนจะเหวี่ยงไปมาเพื่อกันไม่ให้ล้ม การหันหลังกลับก็ทำได้ยาก เวลายืนผู้ป่วยจะยืนกางเท้า (Broad-based posture) ถ้าบอกให้ยืนเท้าชิดกันจะเซซ้ายเซขวา และไม่สามารถเดินต่อเท้าเป็นเส้นตรงได้ (Walk heel-to-toe)

    การเดินในลักษณะนี้ให้คิดถึงพยาธิสภาพที่สมองน้อย (cerebellum) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัว ผู้ป่วยมักมีอาการอย่างอื่นด้วย เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน ตากระตุก (nystagmus) พูดลำบาก (dysarthria) มือสั่นเวลาบอกให้หยิบจับอะไร (intention tremor) อาจมีคอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง

    สาเหตุของพยาธิสภาพอาจเป็นจากการบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน เนื้องอกที่สมองส่วนหลัง การติดเชื้อไวรัส โรค Multiple sclerosis หรือเป็นความผิดปกติมาแต่กำเนิด หากอาการเป็นมากตอนเช้าและดีขึ้นตอนเย็นอาจเป็นจากความดันในกะโหลกศีรษะสูง (increased intracranial pressure)

    การเดินแบบ ataxic gait นี้จำเป็นต้องได้รับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองโดยด่วน

  5. เดินแบบพาร์กินสัน (Parkinsonian gait)
  6. เป็นลักษณะการเดินที่พบบ่อยในคนสูงอายุ คือเดินลากเท้า ก้าวสั้น แขนไม่แกว่ง และโน้มตัวไปข้างหน้า (เหมือนจะรีบเร่ง แต่จริง ๆ ไปช้า) การกลับหลังหันทำได้ลำบาก ต้องขยับเท้าหลายจังหวะ การลุกขึ้นจากเก้าอี้ก็ทำได้ลำบาก อาจล้มกลับไปนั่งอย่างเก่า

    สาเหตุอาจเป็นจากโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าโรคสันนิบาต ซึ่งมักมีมือสั่นขณะพัก (resting tremor) ตัวแข็ง (rigidity) ทำอะไรช้า (dyskinesia) และสีหน้าไร้อารมณ์ (apathy) ร่วมด้วย หรือเป็นจากภาวะอื่นที่แสดงอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน (Parkinsonism) เช่น ภาวะหลอดเลือดฝอยที่สมองอุดตันซ้ำ ๆ, ภาวะที่ได้รับสารพิษหรือยาทางจิตเวช, โรคความเสื่อมของสมองชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

    ลักษณะการเดินแบบนี้สามารถรักษาได้ด้วยยา แต่ต้องแยกจากการเดินในลักษณะถัดไปให้ได้ก่อน เพราะมีลักษณะคล้ายกัน ยิ่งถ้าไม่แสดงอาการประกอบร่วมให้เห็น ยิ่งแยกจากกันได้ยาก ต้องอาศัยภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองช่วย และการรักษาก็ต่างกัน

  7. เดินแบบแม่เหล็กดูดเท้า (Magnetic gait, frontal disorder gait)
  8. เป็นลักษณะการเดินลากเท้า ก้าวสั้น หันหลังกลับลำบากเหมือนแบบพาร์กินสัน แต่ที่สำคัญคือจะมีการเริ่มต้นก้าวเท้าที่ลำบาก (เหมือนคนพูดติดอ่าง) จากในวิดีโอจะเห็นว่า เมื่อผู้ป่วยเดินไปได้สักพักจะเกิดอาการเท้าติดเหมือนมีแม่เหล็กที่พื้นดูดเท้าเอาไว้ ผู้ป่วยพยายามที่จะงอเข่าเพื่อยกเท้าก้าวต่อไปแต่ทำไม่ได้ การเดินไปยังจุดหมายจึงสะดุดลงเป็นพัก ๆ หากติดบ่อยแทบทุกก้าวก็จะเคลื่อนตัวได้ช้าคล้ายการเดินแบบพาร์กินสันมาก แต่ความช้าจะอยู่เฉพาะตอนเดิน ถ้าให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอน การยกขา ขยับเท้า จะทำได้ปกติ ที่ต่างกันอีกอย่างคือผู้ป่วยเหล่านี้จะทรงตัวไม่ดี การเดินจึงมีลักษณะเหมือนเดินบนน้ำแข็ง คือ แขนขากาง (wide-based gait หรือ 'marche a petit pas') สังเกตว่าแขนแกว่งได้ตามปกติ แต่มักจะไปเกาะสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อกันล้ม ลำตัวก็จะตรงกว่า ไม่ได้โน้มไปข้างหน้าอย่างเดียว

    อาการประกอบก็ต่างกัน ผู้ป่วยที่เดินแบบแม่เหล็กดูดเท้าจะพูดเบาลง เสียงขาด การดื่มน้ำมักไอเพราะสำลัก ตามัวลง กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ล้มบ่อยเพราะทรงตัวไม่ดี การกลับหลังหันมักหงายหลังบ่อย และหลง ๆ ลืม ๆ (ไม่มีอาการมือสั่น ตัวแข็ง ไร้อารมณ์ เว้นแต่จะมีโรคหรือภาวะพาร์กินสันผสมอยู่ด้วยในวัยชราภาพ)

    ลักษณะการเดินแบบแม่เหล็กดูดเท้าแสดงถึงรอยโรคที่สมองกลีบหน้า (frontal lobe) พยาธิสภาพอาจเป็นจากการบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน เนื้องอกที่สมอง ภาวะภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (hydrocephalus) ทั้งแบบที่ความดันเพิ่มและความดันไม่เพิ่ม (Normal pressure hydrocephalus) ภาวะหลอดเลือดฝอยที่สมองส่วนหน้าตีบตัน หรือเป็นจากความเสื่อมของสมองส่วนหน้า

    การวินิจฉัยที่แน่ชัดต้องพบรอยโรคที่สมองส่วน frontal จาก CT หรือ MRI

    ผู้สูงอายุหลายรายมีอาการทับซ้อนกันทั้งพาร์กินสันและ Frontal lobe disorder โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานและ/หรือความดันโลหิตสูงที่เป็นมานาน รอยโรคที่ frontal lobe จาก MRI จะมีลักษณะเป็นจุดขาดเลือดเล็ก ๆ หลายจุดร่วมกับความเสื่อมของเนื้อสมอง อายุรแพทย์มักเรียกภาวะนี้ว่า "Vascular parkinsonism" การรักษาจะใช้ยาแบบเดียวกับโรคพาร์กินสัน แต่ผลการรักษาจะไม่ดีเท่าโรคพาร์กินสันโดยตรง

  9. เดินแบบอัมพรึกครึ่งซีก (Hemiparetic gait)
  10. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพรึกครึ่งซีกหลายรายกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การเดินจะบ่งบอกว่าพวกเขาเคยประสบเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมาก่อน ลักษณะการเดินของข้างที่เป็นอัมพรึกจะเป็นแบบขาเหยียด แขนงอ เพราะกล้ามเนื้อที่งอขาอ่อนแรงขณะที่กล้ามเนื้อที่เหยียดขาแข็งเกร็ง ข้อเท้าที่คว่ำลงเล็กน้อยประกอบกับขาที่เหยียดตรงจึงทำให้ต้องแกว่งขาไปด้านข้างถึงจะก้าวไปข้างหน้าได้ ส่วนกล้ามเนื้อแขนจะตรงกันข้าม กล้ามเนื้อส่วนที่หุบหัวไหล่ งอศอก และกำมือจะแข็งเกร็งขณะที่กล้ามเนื้อส่วนที่คลายแขนและเหยียดศอกจะอ่อนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจฝึกทำกายภาพจนสามารถเหยียดแขนได้ แต่เวลาเดินแขนก็ยังแข็งเกร็งและหนีบไว้กับตัว บางคนอาจเก่งกว่านั้น ถึงกับงอเข่าได้ แต่ความแข็งของขาข้างที่เป็นอัมพาตก็ยังคงมีให้เห็นอยู่

    สาเหตุของการเป็นอัมพาตครึ่งซีกที่เราพบเห็นกันทั่วไปเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน

  11. เดินแบบอัมพรึกท่อนล่าง (Paraparetic gait)
  12. อัมพาตของขาทั้งสองข้างอาจเกิดจากรอยโรคที่ไขสันหลังหรือที่สมองทั้งสองข้าง หากเป็นที่ไขสันหลัง ขาจะอ่อนแรงและปวกเปียก หากเป็นที่สมองทั้งสองข้าง ขาจะเหยียดตรงและแข็งเกร็ง การเดินด้วยขาจึงทำไม่ได้ ผู้ป่วยต้องใช้รถเข็นและกำลังแขนช่วยในการเคลื่อนที่

    ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตท่อนล่างตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีพัฒนาการในการใช้แขนดีกว่าผู้ป่วยที่อายุมาก แม้จะต้องใช้รถเข็นในการเดินทาง แต่หลายคนก็สามารถทำงานและอยู่ในสังคมได้ตามปกติ

  13. เดินแบบขาไขว้เหมือนกรรไกร (Scissor gait หรือ CP gait)
  14. เด็กที่เป็น Cerebral palsy การทำงานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกายจะไม่สัมพันธ์กัน ขาทั้งสองข้างจะเกร็งและหนีบเข้าหากัน การก้าวเดินจึงมีแนวโน้มจะไขว้กันตลอดเวลา (คล้ายการเดินของนางแบบ) เด็กที่ได้รับการฝึกกายภาพจะสามารถแยกขาออกจากกันได้บ้าง แต่หัวเข่าและปลายเท้าทั้งสองข้างก็มักจะมาชนกันตรงกลาง (ดูวิดีโอตอนโต )

  15. เดินแบบเวสติบูลาร์เสีย (Vestibular gait)
  16. เป็นลักษณะการเดินแบบเดียวกับการเดินทรงตัวไม่ดี (Ataxic gait) แต่จะเอียงไปทางด้านที่อวัยวะรับการทรงตัวในหูชั้นในเสียไปเท่านั้น (ขออภัยที่หาวิดีโอในคนไม่ได้ขณะเขียนหน้านี้)

    ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียน บ้านหมุน กะระยะไม่ได้ ตาจึงต้องช่วยมองพื้นตลอดเวลา ศีรษะจะเอียงไปทางด้านที่เสีย และมีแนวโน้มจะเดินชนวัตถุข้างนั้น บางรายจะเสียการได้ยินและการรับภาพด้วย บางรายได้ยินเสียงดังหึ่ง ๆ คล้ายมีผึ้งบินอยู่ในหูตลอดเวลา

    สาเหตุอาจเป็นจากเนื้องอกของเส้นประสาทหู เนื้องอกในหูชั้นกลาง ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง การติดเชื้อไวรัส โรคมิเนีย (Ménière’s disease) โรคไมเกรน โรค Otosclerosis ได้รับสารพิษหรือยาที่มีพิษต่อประสาทหู ภาวะน้ำในอวัยวะการทรงตัวเกิน/ขาด/เสียสมดุล กระดูกหูชั้นในแตก ฯลฯ

  17. เดินแบบเทรนเดเลนเบอร์ก (Trendelenburg gait)
  18. เป็นลักษณะการเดินที่เกิดจากกล้ามเนื้อ Gluteus medius ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง กล้ามเนื้อมัดนี้ทำหน้าที่กดกระดูกเชิงกรานลงให้คงระดับเดียวกับอีกด้านเวลาที่เราลงน้ำหนักเท้าข้างนั้น และทำหน้าที่กางขาออกไปด้านข้าง ถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้อ่อนแรง เวลาที่นอนตะแคงจะไม่สามารถกางขาข้างนั้นขึ้นไปให้ตั้งฉากกับเตียงได้ และถ้าให้ยืนบนขาข้างนั้น สะโพกด้านตรงข้ามจะตกลง ลำตัวจึงต้องเอียงไปทางด้านที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงเพื่อรักษาจุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย จากวิดีโอ หญิงรายนี้มีกล้ามเนื้อ Gluteus medius ข้างซ้ายอ่อนแรง เมื่อเธอเดินลงน้ำหนักเท้าซ้าย สะโพกซ้ายจะอยู่สูงกว่าสะโพกขวา ลำตัวเธอไม่ได้เอียงไปทางซ้ายมากเพราะเธอมีไม้เท้าคอยค้ำยันไว้

    กล้ามเนื้อ Gluteus medius ถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาท Superior gluteal nerve สาเหตุของการอ่อนแรงอาจเกิดจากเส้นประสาทไขสันหลัง L5 ถูกกดทับ, โรคโปลิโอ, เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบหรือฉีกขาดจากการเล่นกีฬา, เอ็นฉีกขาดระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ส่วนใหญ่มักเป็นข้างเดียว หากเป็นทั้งสองข้างจะทำให้การเดินมีการเอียงสะโพกและลำตัวไปมา ซึ่งต้องแยกจากการเดินในลักษณะถัดไป

  19. เดินแบบเตาะแตะ (Waddling gait)
  20. เป็นลักษณะการเดินที่คล้ายเด็กเพิ่งหัดเดิน คือกางแขนกางขาและเอียงตัวไปมา เกิดจากกล้ามเนื้อต้นขาโดยทั่วไปอ่อนแรง (proximal muscle weakness) ซึ่งอาจเกิดจากโรค Multiple sclerosis, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งหลาย (myopathies), ภาวะโปแตสเซียมต่ำในเลือด, ภาวะที่มีการแยกของกระดูกหัวเหน่าในคนท้อง, หรือในโรคเรื้อรังต่าง ๆ ให้สังเกตว่าสะโพกข้างตรงข้ามขาที่ลงน้ำหนักไม่ได้ตกลงเหมือนในการเดินแบบเทรนเดเลนเบอร์ก และการกางแขนกางขาไม่ได้เกิดจากเสียการทรงตัว

  21. เดินแบบแอ่นหลัง (Gluteus maximus gait)
  22. เป็นลักษณะการเดินที่เกิดจากกล้ามเนื้อ Gluteus maximus ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง กล้ามเนื้อมัดนี้ทำหน้าที่ดึงให้ต้นขาเหยียดตรงขณะเท้ารับน้ำหนัก ถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้อ่อนแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถทรงลำตัวตรงเมื่อขาข้างนั้นลงน้ำหนักได้ ตัวจะคะมำไปข้างหน้า จากวิดีโอจะเห็นว่าผู้ป่วยรายที่สองมีกล้ามเนื้อ Gluteus maximus ข้างซ้ายอ่อนแรง เมื่อเท้าซ้ายก้าวไปรับน้ำหนัก ลำตัวจะต้องแอ่นไปข้างหลังเพื่อช่วยให้ต้นขาเหยียดตรงและไม่ล้มไปข้างหน้า

    สาเหตุของกล้ามเนื้อ Gluteus maximus อ่อนแรงอาจเกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาท Inferior gluteal (L5, S1, S2) ที่ส่งคำสั่งมัน หรือการอุดตันของเส้นเลือด Inferior และ Superior gluteal ที่มาเลี้ยงมัน

  23. เดินแบบควอไดรเซปส์อ่อนแรง (Quadriceps weakness gait, back knee gait)
  24. เป็นลักษณะการเดินที่เกิดจากกล้ามเนื้อ Quadriceps ข้างใดข้างหนึ่งเป็นอัมพาต กล้ามเนื้อมัดนี้ทำหน้าที่ตรึงเข่าไว้ไม่ให้พับขณะที่ส้นเท้าแตะพื้นและเริ่มถ่ายน้ำหนักตัว ถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้เป็นอัมพาต ผู้ป่วยจะไม่สามารถเตะขาขึ้นให้เข่าเหยียดตรงได้ ในการเดินผู้ป่วยจะใช้กล้ามเนื้อ Gluteus maximus ที่ก้นและกล้ามเนื้อ Soleus ที่ขาแทนช่วย พร้อมกับตรึงเข่าให้เหยียดมากกว่าปกติขณะลงน้ำหนักตัวเพื่อให้แน่ใจว่าเข่าจะไม่งอพับลงมา โดยทั่วไปเราจะมองความผิดปกติไม่ออก แต่เวลาขึ้นบันไดจะต้องก้าวขึ้นด้วยขาข้างที่ดี และเวลาลงบันไดจะต้องก้าวลงด้วยขาข้างที่เสียเสมอ

    ในบางโรคกล้ามเนื้อ Gluteus maximus และ Soleus จะอ่อนแรงด้วย ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใช้มือช่วยกดที่ต้นขาให้เข่าเหยียดตรงไว้เวลาถ่ายน้ำหนักตัว (ดูวิดีโออีกราย ) หรืออาจหมุนปลายเท้าไปทางด้านข้างจนแนวข้อเข่าอยู่ในระนาบซ้ายขวา เพื่อช่วยล็อกเข่าไว้ไม่ให้พับ

    สาเหตุของกล้ามเนื้อ Quadriceps อ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่งอาจเกิดจากข่อเข่าเสื่อม, การฉีกขาดของกล้ามเนื้อหรือเอ็นจากการเล่นกีฬา, การบาดเจ็บของเส้นประสาท Femoral (L2, L3, L4), หมอนรองกระดูกเคลื่อน (L3-L4), หรือเนื้องอกที่บริเวณ Lumbosacral plexus ถ้าอ่อนแรงทั้งสองข้างมักเกิดจากโรคเบาหวาน, Addison's disease, Polymyalgia rheumatica, Polymyositis, Inclusion Body Myositis, Motor neuron disease, หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอื่น ๆ

  25. เดินแบบปลายเท้าตก (Neuropathic/High stepping/Steppage/Foot-drop gait)
  26. เป็นลักษณะการเดินของเส้นประสาทเท้าเป็นอัมพาต ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่ไขสันหลังส่วนเอว, L5 root, sciatic nerve, common peroneal nerve, deep peroneal nerve หากเป็นในส่วนต้นกล้ามเนื้อต้นขาจะอ่อนแรงด้วย หากเป็นเส้นประสาทส่วนปลายผู้ป่วยจะไม่สามารถกระดกข้อเท้าขึ้นได้ เวลาก้าวเดินจึงต้องยกเข่าข้างนั้นให้สูงขึ้น เพื่อให้ปลายเท้าที่ตกลอยพ้นพื้น เมื่อเหยียบพื้น ส่วนปลายเท้าจะแตะพื้นก่อนแทนที่จะเป็นส่วนส้นเท้าตามปกติ และเท้าข้างนั้นมีแนวโน้มจะหันออกทางด้านข้าง จากวิดีโอเด็กคนนี้ใส่อุปกรณ์รองรับฝ่าเท้าไว้ แต่จะเห็นปลายเท้าตกชัดขึ้นเวลาเธอกลับตัว

    การเดินแบบปลายเท้าตกส่วนใหญ่จะเป็นข้างเดียว ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ, การขาดเลือดไปเลี้ยง (compartment syndrome), โรคโปลิโอ, การกดทับจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน, หรือจากการฉีดยาที่สะโพกอย่างไม่ถูกวิธี ที่พบเป็นทั้งสองข้างมักเกิดจากโรคเบาหวาน, พิษจากสุรา, สารพิษ, พิษจากยาบางชนิด, การขาดวิตามินบี 12, โรค Multiple sclerosis, โรค Motor neuron disease, โรค Charcot–Marie–Tooth disease ในระยะแรก, และโรคที่มีผลต่อเส้นประสาทส่วนปลายอื่น ๆ

โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อแทบทุกโรคก่อให้เกิดความผิดปกติในการเดิน (หากผู้ป่วยยังพอเดินได้) ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างการเดิน/ทรงตัวลำบากที่มีลักษณะจำเพาะพอที่จะแยกโรคที่ต้องสงสัยออกมาตรวจวิเคราะห์ได้เร็วขึ้นเท่านั้น

การตรวจวินิจฉัย

ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการเดินจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่เกิดจากการบาดเจ็บกับกลุ่มที่ไม่มีการบาดเจ็บ กลุ่มแรกจะเข้าแผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ส่วนกลุ่มหลังจะเข้าแผนกอายุรศาสตร์ระบบประสาทหรือกุมารเวชศาสตร์ระบบประสาทตามแต่อายุของผู้ป่วย

ก่อนตรวจร่างกายแพทย์จะถามประวัติ อาการหลัก อาการร่วม ระยะเวลาที่เกิด โรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่ จากนั้นแพทย์จะทำการประเมิน 15 ด้านดังต่อไปนี้

  1. สัญญาณชีพ (ความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ วัดอุณหภูมิหากสงสัยว่าจะมีไข้ ฟังเสียงการเต้นของหัวใจหากชีพจรหรือความดันผิดปกติ)
  2. สติสัมปชัญญะ อารมณ์ ความจำ
  3. ท่าทาง การเคลื่อนไหวขณะพัก
  4. โครงสร้างของกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า
  5. ลักษณะการเดิน ความเร็ว ความต่อเนื่อง
  6. การทรงตัว
  7. การอ่อนแรง/การหดเกร็ง/การเจ็บของกล้ามเนื้อ
  8. พละกำลังของกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ
  9. รีเฟล็กซ์ของกล้ามเนื้อ
  10. การประสานงานกันของกล้ามเนื้อ เช่น การลุกขึ้นจากเตียงหรือเก้าอี้ การเดินเข้าห้องน้ำ การใส่เสื้อ การติดกระดุม เป็นต้น
  11. การรับความรู้สึกของแขนขา
  12. สายตาและการเคลื่อนไหวของลูกตา
  13. การได้ยิน
  14. การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า ปาก และลิ้น
  15. การกลืนน้ำ

หากสงสัยสาเหตุใดแพทย์จึงจะส่งทำเอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือทำแล็บต่อไป