ปวดข้อสะโพก (Hip pain)
ข้อสะโพกเป็นข้อแบบลูกบอลที่สวมลงในเบ้า (ball-and-socket joint) เหมือนข้อไหล่ แต่แน่นหนากว่ามาก ทำให้ไม่ค่อยเกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา แต่การหมุนก็ทำได้น้อยกว่าข้อไหล่
ข้อสะโพกประกอบด้วยกระดูกใหญ่เพียง 2 ชิ้น คือ กระดูกต้นขา (femur) กับกระดูกเชิงกราน (pelvis) ส่วนหัวของกระดูกต้นขาเป็นกระดูกอ่อน มีเอ็น Ligamentum teres เกาะอยู่ เส้นเอ็นนี้นอกจากจะคอยยึดหัวกระดูกไม่ให้หลุดจากเบ้าแล้ว ยังเป็นตัวนำแขนงของเส้นเลือดแดงจาก obturator artery ผ่านเข้าไปเลี้ยงหัวกระดูกต้นขาด้วย นอกจากเส้นเลือดแดงเส้นนี้แล้วยังมีแขนงของเส้นเลือดแดงที่ประสานกันเป็นร่างแหจากผิวกระดูกเข้ามาเลี้ยงส่วนหัวและส่วนคอของกระดูกต้นขาอีก ในภาวะที่มีเส้นเลือดตีบตันหรือมีอุบัติเหตุจนคอกระดูกต้นขาหัก หัวกระดูกจะขาดเลือด เกิดภาวะหัวกระดูกเน่าตาย (Avascular necrosis) ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดข้อสะโพกได้เช่นกัน
เบ้าของกระดูกเชิงกรานที่รองรับหัวของกระดูกต้นขาเรียกว่า Acetabulum ภายในประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
- ก้นเบ้า (สีน้ำตาลตรงกลาง) เป็นที่เกาะของเส้นเอ็นที่ยึดหัวกระดูกต้นขาไว้ (Ligament of head of femur หรือ Ligamentum teres)
- กระดูกอ่อนรูปวงแหวน (สีฟ้า) เป็นส่วนที่สัมผัสกับกระดูกอ่อนของหัวกระดูกต้นขาเวลาเราขยับข้อ
- กระดูกอ่อนลาบรัม (สีน้ำเงินที่ขอบเบ้า) เป็นเหมือนลาบรัมของข้อไหล่ที่คอยกันไม่ให้หัวกระดูกอ่อนของต้นขาเสียดสีกับขอบกระดูกของเบ้าเวลาที่เรางอหรือเหยียดต้นขามากเกินไป
- เส้นเอ็น Transverse acetabulum ข้างใต้เบ้า คอยกันไม่ให้หัวกระดูกต้นขาหลุดออกจากเบ้าทางด้านล่าง ขณะเดียวกันก็ให้ความยืดหยุ่นเวลาที่เรายกต้นขาชี้ฟ้า
สาเหตุของการปวดข้อสะโพก
ในความเป็นจริงอาการปวดสะโพกไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพภายในข้อเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากกล้ามเนื้อ จุดยึดเอ็น หรือกระดูกส่วนที่อยู่นอกข้อก็ได้ เราอาจแยกสาเหตุของอาการปวดสะโพกตามตำแหน่งต่าง ๆ ได้ดังนี้
A. ปวดที่ด้านหน้าของต้นขา
- โรค Meralgia parestica เป็นโรคที่พบในคนอ้วน คนท้อง และคนที่ชอบในกางเกงในฟิต ๆ เส้นประสาท Lateral femoral cutaneous nerve (LFCN) จะถูกกดทับขณะที่ลอดผ่านเอ็นขาหนีบ ทำให้มีอาการชาที่หน้าขา ถ้าเป็นมากจะมีอาการปวดด้วย เส้นประสาทนี้เป็นเส้นประสาทรับความรู้สึกเพียงอย่างเดียว จึงไม่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่อย่างใด
B. ปวดตรงขาหนีบด้านหน้า (ตรงข้อพับของต้นขา)
ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งของข้อสะโพกพอดี ดังนั้นโรคของข้อสะโพกแทบทุกชนิดจะปวดที่นี่เป็นหลัก อาการปวดที่ตำแหน่งนี้อาจเกิดจาก
- การบาดเจ็บ ที่พบบ่อยได้แก่
- คอของกระดูกต้นขาหัก (Femoral neck fracture) ในวัยหนุ่มต้องเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงจริง ๆ ถึงจะหัก ในวัยชราโดยเฉพาะเพศหญิงที่มีมวลของกระดูกลดลง การหกล้มเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจหักได้
การหักอาจมีได้หลายลักษณะ ถ้าหักแบบขาดจากกันทั้งหมดมักมีการเคลื่อนของแนวรับน้ำหนักด้วย ทำให้ยืนรับน้ำหนักขาข้างนั้นไม่ได้ ผู้ป่วยจะเดินไม่ได้ กดเจ็บตรงตำแหน่ง B ในรูป เวลานอนจะขยับข้อได้จำกัด เวลาจับเข่าตั้งแล้วดันไปด้านข้างจะปวดมาก
ถ้าประสบอุบัติเหตุแล้วมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เอกซเรย์ เพราะถ้าทิ้งไว้อาจมีปัญหาหัวกระดูกต้นขาขาดเลือดตามมา เพราะเส้นเลือดฝอยรอบนอกเข้าไปเลี้ยงหัวกระดูกไม่ได้
- ข้อสะโพกเคลื่อน (Hip dislocation) 90% หัวกระดูกต้นขาจะหลุดจากเบ้าไปอยู่ข้างหลัง ทำให้กระดูกต้นขาติดในท่าหนีบเข้าหาลำตัว (เข่าหมุนเข้า ชี้ไปทางเข่าอีกข้างหนึ่ง) ถ้าหัวกระดูกต้นขาหลุดจากเบ้ามาอยู่ข้างหน้า ขาจะแบะออกและติดอยู่ในท่านั้น เมื่อข้อสะโพกเคลื่อน เส้นเอ็น เส้นประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกอ่อนลาบรัม และเนื้อเยื่อบริเวณนั้นมักได้รับอันตรายไปด้วย
- กระดูกอ่อนลาบรัมฉีกขาด (Hip labral tear) เป็นสาเหตุของอาการปวดข้อสะโพกที่พบบ่อยในนักกีฬาที่ใช้เท้าเป็นหลัก โดยจะปวดที่ด้านหน้าของข้อสะโพก (บริเวณข้อพับของขาหนีบ) หรืออาจไม่ปวดแต่รู้สึกมีข้อติดหรือมีวัตถุอยู่ภายในข้อเวลาขึ้นจากท่านั่ง การวินิจฉัยต้องใช้ MRI หรือ MRI arthrogram
- โรคถุงน้ำรอบข้อสะโพกอักเสบ (Hip bursitis)
บริเวณข้อสะโพกมีถุงน้ำอยู่ 3 แห่ง คือ Iliopsoas, Greater trochanteric, และ Iliac การอักเสบของถุงน้ำอาจเกิดจากการใช้งานมาก (เช่น ยืนนาน วิ่งมาราธอน ไต่เขา ปั่นจักรยาน), การบาดเจ็บ, โรคข้ออักเสบโดยทั่วไป, หลังการผ่าตัดข้อสะโพก, และภาวะที่มีหินปูนเกาะกระดูกต้นขา
ถุงน้ำ Iliopsoas อักเสบจะเจ็บตรงตำแหน่ง B พอดี โดยเฉพาะเวลาลุกขึ้นจากท่านั่ง ถ้าถุงน้ำ Iliac อักเสบจะเจ็บลึก ๆ ต่ำจากจุด B เล็กน้อย
เวลาที่เอกซเรย์ข้อแล้วไม่พบกระดูกผิดปกติเลยต้องทำ MRI ต่อ เมื่อทำ MRI จะพบถุงน้ำนี้บวม อัลตราซาวด์ก็จะพบน้ำรอบเส้นเอ็น Iliotibial
- โรคข้อสะโพกเสื่อม (Osteoarthritis of hip) มักพบหลังอายุ 50 ปี อาจเกิดตามหลังการบาดเจ็บหรือกระดูกหักบริเวณข้อสะโพก ทำให้แนวรับน้ำหนักไม่พอดีเหมือนเดิม ผิวข้อเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากการมีผิวข้อไม่เรียบแต่กำเนิด หรือมีภาวะหัวสะโพกขาดเลือดเรื้อรังในภายหลัง ทำให้ปวดสะโพกเป็น ๆ หาย ๆ ข้อยึด และเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมในที่สุด ผู้ป่วยหลายคนมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคข้อเสื่อมเช่นเดียวกัน
- โรคหัวกระดูกต้นขาขาดเลือด (Femoral head avascular necrosis) พบบ่อยในคนอายุประมาณ 30-40 ปี ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำหรือทานยาสเตียรอยด์ ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุจนข้อสะโพกเคลื่อนหรือคอกระดูกต้นขาหักก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ตามมาได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณสะโพกและอุ้งเชิงกรานมีโอกาสก็เสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ หากพบในเด็กอายุ 4-10 ปี จะเรียกว่าโรค Legg-Calvé-Perthes disease
- โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะของตัวเองโดยไม่ทราบสาเหตุ มักเป็นหญิงวัย 35-50 ปี มีอาการข้ออักเสบหลายข้อแบบสมมาตรซ้าย-ขวา มีการกร่อนทําลายของกระดูกและกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ ทำให้ข้อผิดรูป ข้อที่โรคนี้ชอบคือข้อนิ้วมือและข้อมือ รายที่ไม่รักษาอย่างต่อเนื่องการอักเสบอาจลามไปได้ทุกข้อ
- โรค Ankylosing spondylitis เป็นโรคกระดูกสันหลังอักเสบที่ทำให้มีการเชื่อมกันของกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำให้หลังแข็ง ก้มไม่ได้ มักเป็นในคนหนุ่ม ข้อที่โรคนี้ชอบถัดจากกระดูกสันหลังคือข้อสะโพกและข้อไหล่ ผู้ป่วยจะมีอาการข้อฝืดและปวดข้อเรื้อรังร่วมกับอาการปวดหลังและหลังแข็ง
- ข้อสะโพกติดเชื้อ (Septic arthritis) มักพบในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน โรครูมาตอยด์ หลังผ่าตัดข้อเข่าหรือข้อสะโพก อาการจะมีไข้กับปวดสะโพก ผลตรวจเลือดจะแสดงถึงการติดเชื้อ การวินิจฉัยต้องทำการเจาะน้ำไขข้อมาตรวจ ซึ่งควรใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวด์เป็นตัวนำทิศทางเข็ม
- โรคข้อสะโพกผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital hip diseases) เป็นกลุ่มโรคที่พบได้ไม่มาก แต่มีความผิดปกติได้หลายรูปแบบ ทำให้มีพัฒนาการผิดปกติตั้งแต่วัยเด็ก และมีข้อเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น
- โรค Slipped Capital Femoral Epiphysis เป็นโรคที่พบในเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะเพศชายที่มีน้ำหนักตัวมาก วัยนี้รอยต่อของคอกระดูกต้นขากับหัวที่เป็นกระดูกอ่อนอาจยังไม่เชื่อมต่อกันดี จึงไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้มาก บางครั้งอาจหัก ทำให้หัวและคอเคลื่อนออกจากกันดังรูป ครึ่งหนึ่งจะเป็นทั้ง 2 ข้าง แต่ไม่พร้อมกัน อาการจะค่อย ๆ ปวดในสะโพกหรือปวดเข่า เดินกะเผลก การงอต้นขา กางขา และบิดขาเข้าในทำได้จำกัด ต้องรีบรักษาด้วยการผ่าตัดเชื่อมกระดูกก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา คือหัวกระดูกต้นขาอาจตายเนื่องจากขาดเลือดมาเลี้ยงและตามด้วย epiphysis ยุบตัว
C. ปวดตรงปีกของกระดูกเชิงกราน
ตำแหน่งนี้เป็นจุดยึดเอ็นของกล้ามเนื้อหลายมัด การปวดตรงตำแหน่งนี้จึงมักเป็นจุดยึดเอ็นอักเสบ (Hip enthesitis)
D. ปวดตรงจุดนอนตะแคงทับของสะโพก
เงี่ยง Greater trochanter ของกระดูกต้นขาเป็นส่วนที่ยื่นออกไปทางด้านข้างมากที่สุดของสะโพก เวลาเรานอนตะแคงเงี่ยงนี้จะกดทับกับพื้น จึงต้องมีถุงน้ำคอยกัน ถ้าถุงน้ำ Greater trochanteric อักเสบก็จะเจ็บตรงตำแหน่งนี้โดยเฉพาะเวลานอนตะแคงทับ
E. ปวดตรงจุดนั่งของก้น
ปกติคนเราจะนั่งอยู่ทรงตัวอยู่ด้วยเงี่ยง Ischium สองข้างทางด้านหลังของกระดูกเชิงกราน ใต้เงี่ยงนี้จะมีถุงน้ำ Ischial หรือ Ischiogluteal อยู่ก่อนที่จะถูกคลุมด้วยกล้ามเนื้อก้นและไขมันที่หนา การปวดตรงตำแหน่งนี้มักเกิดจากถุงน้ำ Ischial อักเสบ
F. ปวดข้อ Sacroiliac
ตรงนี้เป็นจุดเชื่อมระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บกับปีกของกระดูกเชิงกราน โรคของกระดูกสันหลังมักลามมาที่ข้อนี้ด้วย และเมื่ออายุมากข้อนี้มักมีหินปูนมาเกาะจนเชื่อมติดกัน ขยับไม่ค่อยได้ การก้ม ๆ เงย ๆ ในคนสูงอายุก็อาจทำให้เกิดการปวดในบริเวณนี้
G. ปวดทางด้านข้างเยื้องไปทางหลังของสะโพก
ตรงนี้เป็นพื้นที่ใหญ่ของกล้ามเนื้อและกระดูกรอบข้อสะโพก การปวดบริเวณนี้จึงเป็นได้ตั้งแต่การอักเสบของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และกระดูก รวมทั้งการปวดร้าวมาจากโรคของกระดูกสันหลังส่วนเอว ไม่เกี่ยวกับข้อสะโพก