ปัญหารอบเดือน (Menstrual problems)

รอบเดือน (หรือระดู หรือประจำเดือน) คือ เลือดที่ออกเป็นประจำทุกเดือนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉลี่ยเริ่มตั้งแต่อายุ 12-52 ปี ในหนึ่งรอบอาจกินเวลา 21-35 วัน (แต่จะใกล้เคียงกันทุกรอบในคน ๆ หนึ่ง) เลือดเหล่านี้ก็คือผนังมดลูกที่ลอกตัวเมื่อไม่เกิดการฝังตัวของไข่ การจะทราบความเป็นไปของรอบเดือนของตน ผู้หญิงควรทำปฏิทินรอบเดือนของตนเองเพื่อช่วยคะเนวันที่รอบเดือนจะมาในเดือนต่อ ๆ ไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการใช้ชีวิต ทั้งการวางแผนการเดินทาง การนัดหมาย และการจะมีบุตร

จากปฏิทินจะเห็นว่ารอบเดือนของผู้หญิงรายนี้กินเวลา 26 วัน (นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนจนถึงวันแรกของเดือนถัดไป) ดังนั้นจึงสามารถคะเนวันที่จะเริ่มมีประจำเดือนครั้งต่อไปได้ คือวันที่ 8 เมษายน ระยะเวลาหลังจากไข่ตกจนเริ่มมีประจำเดือนจะค่อนข้างคงที่ คือประมาณ 14 วันไม่ว่ารอบเดือนจะยาวหรือสั้น ดังนั้นเมื่อนับย้อนจากวันที่ 8 เมษายนไป 14 วัน ไข่จะตกวันที่ 25 มีนาคม ไข่จะอยู่ในร่างกายเพียง 48 ชั่วโมง ถ้าไม่ได้รับการผสมก็จะสลายไป ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนก็จะค่อย ๆ ลดลง ทำให้ผนังมดลูกฝ่อลงแล้วหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนอีกครั้ง ผู้ป่วยหลายรายที่อ้างว่าประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเวลาที่แพทย์ถาม เมื่อมาเริ่มบันทึกรอบเดือนของตนเองก็จะเห็นวงจรชีวภาพของตัวเองชัดเจนขึ้น

ความแปรปรวนของรอบเดือน

รอบเดือนที่ปกติมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก ขึ้นกับสุขภาพและการใช้ชีวิตในเดือนนั้น ๆ จึงต้องมีการนิยามความผิดปกติเพื่อให้ได้จุดที่จะต้องเริ่มค้นหาสาเหตุ แต่มิใช่ว่านิยามเหล่านี้จะหมายถึงต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นจริง เพราะบ่อยครั้งที่รอบเดือนของคน ๆ นั้นมีลักษณะผิดไปจากคนทั่วไปโดยที่ไม่พบสาเหตุของความผิดปกติแต่อย่างใด

ในปี 2012 หน่วยงานระหว่างประเทศที่ชื่อ FIGO (International Federation of Gynecology and Obstetrics) ได้ออกคำแนะนำให้เลิกใช้ศัพท์เรียกความผิดปกติต่าง ๆ ของรอบเดือนอย่างที่เคยสอนกันในโรงเรียนแพทย์มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ (ตัวอักษรสีแดงในตารางที่ 1) เพื่อไม่ให้สตรีเป็นกังวลที่รอบเดือนของตนเองผิดไปจากคนอื่น แล้วบัญญัติศัพท์ใหม่เกี่ยวกับความแปรปรวนของรอบเดือน (ตัวอักษรสีเขียวในตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ความแปรปรวนของรอบเดือนตาม FIGO ปี 2012
ลักษณะนิยามศัพท์เรียกความแปรปรวนศัพท์เรียกความผิดปกติ
1. ระยะเวลา/รอบ24-38 วัน (เดิมใช้ 21-35 วัน)ช่วงรอบเดือนทั่วไป
Normal menstrual frequency
    -
< 24 วันรอบเดือนถี่
Frequent menstruation
Polymenorrhea, Epimenorrhea
> 38 วันรอบเดือนห่าง
Infrequent menstruation
Oligomenorrhea
2. ความสม่ำเสมอแต่ละรอบกินเวลาต่างกันไม่เกิน 20 วันรอบเดือนสม่ำเสมอ
Regular menstruation
    -
แต่ละรอบกินเวลาต่างกันเกิน 20 วันรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ
Irregular menstruation
Metrorrhagia
3. จำนวนวันที่มีระดู4.5-8.0 วัน (เดิมใช้ 3-7 วัน)ระดูนานปกติ
Normal menstrual duration
    -
< 4.5 วันระดูสั้น
Shortened menstruation
Hypomenorrhea
> 8.0 วันระดูยาว
Prolonged menstruation
Hypermenorrhea
4. ปริมาณเลือดที่ออก20-80 มล.ระดูออกปกติ
Normal menstrual volumn
    -
< 20 มล.ระดูออกน้อย
Light menstruation
Hypomenorrhea, Oligomenorrhea
> 80 มล.ระดูออกมาก
Heavy menstruation
Menorrhagia

ศัพท์ความผิดปกติอื่นที่ FIGO แนะนำให้เลิกใช้ได้แก่ Epimenorrhagia (รอบเดือนถี่และระดูออกมาก), Menometrorrhagia (รอบเดือนไม่สม่ำเสมอและระดูออกมาก), Uterine hemorrhage, Dysfunctional uterine bleeding (DUB), Functional uterine bleeding, Metropathica hemorrhagica ด้วย

นิยามศัพท์เกี่ยวกับรอบเดือนของ FIGO

FIGO ยังให้นิยามความแปรปรวนข้างต้นให้ชัดขึ้น รวมทั้งแนะนำอาการผิดปกติของรอบเดือนที่ควรจะได้รับการค้นหาสาเหตุ (บางอาการเป็นได้ทั้งความแปรปรวนในคน ๆ หนึ่ง และความผิดปกติในคนอีกคนหนึ่ง) ศัพท์ต่อไปนี้มีทั้งที่ FIGO ได้บัญญัติขึ้นใหม่ในปี 2012 และที่ให้คงของเดิมที่เคยใช้กันไว้

รอบเดือนมาก่อนวัย (Precocious Menstruation) หมายถึง รอบเดือนเรกที่มาก่อนเด็กอายุครบ 9 ขวบ มักพบร่วมกับอาการโตเป็นสาวก่อนวัยอื่น ๆ

รอบเดือนแรกไม่มา (Primary amenorrhea) หมายถึง เด็กอายุครบ 16 ปีแล้วยังไม่มีรอบเดือนมาเป็นครั้งแรก ซึ่งพัฒนาการด้านอื่นของร่างกายอาจยังคงเป็นปกติ เช่น ความสูง เต้านม และขนในที่ลับ หรืออาจมีความผิดปกติร่วมกันไปด้วยก็ได้

รอบเดือนขาดหายไป (Secondary amenorrhea) หมายถึง การขาดประจำเดือนนานเกิน 90 วันหลังจากที่เคยมีประจำเดือนมาแล้ว

รอบเดือนถี่ (Frequent Menstrual Bleeding)** หมายถึง มีรอบเดือนมามากกว่า 4 รอบในระยะเวลา 90 วัน

รอบเดือนห่าง (Infrequent Menstrual Bleeding)** หมายถึง มีรอบเดือนมาเพียง 1-2 รอบในระยะเวลา 90 วัน

ส่วนใหญ่ภาวะรอบเดือนถี่-ห่างนี้ไม่ถือเป็นความผิดปกติหากไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในด้านอื่น ๆ ถือเป็นเพียงความแปรปรวนรายบุคคล เพราะฮอร์โมนจากสมองที่จะมากระตุ้นให้มีการตกไข่และมีรอบเดือนนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ขึ้นกับภาวะจิตใจ การใช้ชีวิต และโรคภัยไข้เจ็บที่เข้ามาแทรก ภาวะรอบเดือนห่างมักพบในเด็กสาวที่เริ่มมีประจำเดือนใหม่ ๆ ในช่วง 1-2 ปีแรก เนื่องจากการทำงานของรังไขยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนจึงมาห่าง ๆ และมักจะมามากนานหลายวัน แต่พอรังไข่พัฒนามากขึ้นรอบเดือนก็จะถี่ขึ้นตามปกติ

รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ (Irregular Menstrual Bleeding, IrregMB)** หมายถึง รอบเดือนที่ถี่บ้าง ห่างบ้าง เอาแน่นอนไม่ได้ โดยระยะเวลาในแต่ละรอบคลาดเคลื่อนกันมากกว่า 20 วัน เมื่อดูภาพรวมใน 1 ปี แม้ส่วนใหญ่จะเกิดจากภาวะไม่ตกไข่จากสภาพจิตใจและการใช้ชีวิต แต่หากมั่นใจว่าตนเองไม่ได้มีปัจจัยเหล่านั้นหรือมีอาการผิดปกติของระบบอื่นด้วยก็ควรเข้ารับการตรวจหาสาเหตุ

ระดูสั้น (Shortened Menstrual Bleeding)** หมายถึง เลือดที่ออกในแต่ละรอบกินเวลาไม่เกิน 2 วัน พบได้น้อย ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบความผิดปกติ

ระดูยาว (Prolonged Menstrual Bleeding)** หมายถึง เลือดที่ออกในแต่ละรอบกินเวลานานกว่า 8 วัน โดยมีความสม่ำเสมอดี อาจเกิดจากความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด

ระดูออกน้อย (Light Menstrual Bleeding)** หมายถึง เลือดที่ออกในแต่ละรอบรวมกันมีปริมาณน้อย (ขึ้นกับความรู้สึกของผู้ป่วย) หากเป็นประจำเช่นนี้ทุกเดือนก็ถือว่าปกติ

ระดูออกมาก (Heavy Menstrual Bleeding, HMB)** หมายถึง ปริมาณเลือดที่ออกในแต่ละรอบรวมกันมีปริมาณมากจนส่งผลกระทบต่อร่างกาย (เช่นทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง) จิตใจ (เช่นเป็นกังวล) สังคม (เช่นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยแทบทุก 1-2 ชั่วโมง) และคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ โดยอาจเกิดขึ้นเพียงอาการเดียว หรือเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ

ระดูออกมากและมายาว (Heavy and Prolonged Menstrual Bleeding, HPMB)** หมายถึง เลือดที่ออกในแต่ละรอบมีปริมาณมากและมายาวเกิน 8 วัน พบได้น้อยกว่าภาวะ HMB แต่สำคัญเพราะแสดงถึงความผิดปกติมากกว่า มีกลุ่มของสาเหตุที่แตกต่างจาก HMB และตอบสนองต่อการรักษาต่างกัน

** ที่ใช้คำว่า "Menstrual Bleeding" แทนคำว่า "menstruation" เพราะ FIGO เห็นว่าภาวะดังกล่าวเป็นได้ทั้งความแปรปรวนและความผิดปกติ

เลือดออกผิดปกติจากมดลูก (Abnormal uterine bleeding, AUB) หมายถึง ภาวะที่มีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณ ระยะเวลา และความถี่ผิดไปจากรอบเดือนทั่วไปในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยอาจออกทีเดียวเป็นจำนวนมากจนต้องรีบรักษา (Acute AUB) หรือออกเป็นรอบ ๆ หรือออกเรื้อรังทีละน้อยติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน (Chronic AUB) เป็นศัพท์ที่บัญญัติมาใช้แทนคำว่า Dysfunctional uterine bleeding (DUB) และถือเป็นภาวะที่ต้องสืบหาสาเหตุ

ปกติ 90% ของระดูทั้งหมดจะไหลในช่วง 3 วันแรกของรอบเดือน โดยจะหนักสุดในช่วงวันที่ 1 และ 2 ที่ระดูมา เลือดที่ออกผิดไปจากลักษณะนี้ถือเป็น AUB ทั้งหมด

FIGO ยังแนะนำให้ตรวจหาสาเหตุที่พบบ่อยสองกลุ่มของ AUB คือ PALM-COEIN โดย PALM เป็นกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติทางโครงสร้างของมดลูก ได้แก่ Polyps, Adenomyosis, Leiomyoma, และ Malignancy ส่วน COEIN เป็นกลุ่มโรคที่ไม่พบความผิดปกติทางโครงสร้างของมดลูก ได้แก่ Coagulopathy, Ovulatory disorders, Endometrial hyperplasia, Iatrogenic, และ Not Classified

ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) หมายถึง อาการปวดท้องน้อยขณะมีรอบเดือนวันแรก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกันทุกคน มากน้อยต่างกันในแต่ละเดือน แต่ในรายที่ปวดรุนแรงทุกเดือนจำเป็นต้องหาสาเหตุ

กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome, PMS) หมายถึง อาการต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นล่วงหน้าประมาณ 5-7 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมา และจะหายไปเมื่อประจำเดือนมาวันแรก อาการเหล่านี้เช่น ท้องอืด ตัวบวม คัดเต้านม ท้องผูก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ขี้หงุดหงิด ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ เป็นต้น พบว่าร้อยละ 75 ของผู้หญิงทุกคนมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดนี้ก่อนที่เธอจะมีประจำเดือน แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงมาก และจะหายไปเองเมื่อรอบเดือนมา

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder, PMDD) หมายถึง อาการทางอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นล่วงหน้าประมาณ 5-7 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมา และจะดีขึ้นเมื่อประจำเดือนมาวันแรก โดยที่อาการเหล่านั้นรุนแรงจนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้อย่างปกติในช่วงนั้น อาการเหล่านี้เช่น อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย ซึมเศร้า เครียด ไม่มีสมาธิ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่มีแรงทำอะไร เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน-การนอน เช่น กินจุขึ้น อยากกินอะไรเฉพาะ หลับมาก หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น พบว่าร้อยละ 5 ของผู้หญิงทุกคนเข้าข่ายมีภาวะนี้ และจำเป็นต้องใช้ยารักษาระหว่างมีอาการ

กลุ่มอาการวัยทอง (Menopausal syndrome) หมายถึง ความแปรปรวนทางกายและจิตใจของผู้หญิงที่อายุประมาณ 45-59 ปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ อาการเหล่านี้อาจเริ่มก่อน ในระหว่าง หรือหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว และอาจเป็นอยู่เพียง 2-3 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 5 ปี

เลือดออกหลังวัยหมดระดู (Postmenopausal Bleeding, PMB) หมายถึง การมีเลือดออกจากช่องคลอดหลังจากที่รอบเดือนหยุดไปแล้ว 1 ปีขึ้นไป ถือเป็นอาการที่ต้องหาสาเหตุ

สารพันปัญหารอบเดือนเหล่านี้บางส่วนได้แยกกล่าวไว้ในเมนูย่อยของรอบเดือนผิดปกติทางซ้ายมือ