ไอเรื้อรัง (Chronic cough)

ภายในหลอดลมมีเซลล์เยื่อบุที่มีขนคอยพัดโบกอยู่ตลอดเวลา ปลายขนยังมีเมือกเหนียว ๆ คอยดักจับสิ่งสกปรก และในน้ำเมือกก็มีเม็ดเลือดขาวกับแอนติบอดีคอยทำลายเชื้อโรค เมื่อมีฝุ่นผงหรือเชื้อโรคหลุดเข้าไปในหลอดลม เซลล์เยื่อบุจะผลิตเมือกออกมามากขึ้นเพิ่มระดมภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในตัวเราให้มากำจัดสิ่งแปลกปลอม เมือกจำนวนมากนี้จะทำให้เรารู้สึกว่ามีเสมหะจนอยากไอเพื่อช่วยขับเอาสิ่งสกปรกเหล่านั้นออกมา

กลไกอีกอย่างหนึ่งของการไอเกิดจากการกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ (cough receptors) ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทั้งคอหอย กล่องเสียง และหลอดลม สิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณนี้เป็นได้ตั้งแต่วัตถุแปลกปลอม อนุภาคหรือสารระคายเคือง น้ำหอม ความเย็น การอักเสบ และการกดเบียดจากก้อนเนื้องอก โดยตัวรับสัญญาณการไอจะส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5, 9 และ 10 ไปยังศูนย์ควบคุมการไอในก้านสมองส่วนเมดูลลา แล้วเมดูลลาจะส่งคำสั่งไปยังกล่องเสียง หลอดลม และกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ (เช่น กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อท้อง กระบังลม และกล้ามเนื้อเชิงกราน) ผ่านทาง vagus nerve, phrenic nerve และ spinal motor nerve C3-S2 จนทั้งหมดพร้อมใจกันหดตัวดันลมออกมาจากปอดด้วยความเร็วและแรง กลไกนี้เป็นรีเฟล็กซ์ของร่างกายในการป้องกันวัตถุตกลงไปในปอด การไอในลักษณะนี้จะไม่ค่อยมีเสมหะ

โดยทั่วไปอาการไอจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจหรือภาวะภูมิแพ้มักเป็นอยู่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แม้นิยามของคำว่า "ไอเรื้อรัง" คือ อาการไอที่เป็นต่อเนื่องกันนานกว่า 2 เดือน แต่เพื่อความปลอดภัย ผู้ที่ไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์ก็ควรจะต้องเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อสืบหาสาเหตุแล้ว

สาเหตุของการไอเรื้อรัง

ถ้าไม่นับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ซึ่งมักจะไอเรื้อรังจากการมีหลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพองแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการไอติดกันนานที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการไอหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ หลังการติดเชื้อไวรัสอาจทำให้หลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้น (Bronchial Hyperresponsiveness หรือ BHR) ซึ่งอาจกินเวลานานถึง 2-3 สัปดาห์ได้ ลักษณะการไอเพราะหลอดลมมีความไวจะเป็นแบบรีเฟล็กซ์ คือไอแห้ง ๆ แต่เสียงดังรบกวนชาวบ้าน และอาจไอเป็นชุดยาว ๆ หลายครั้งติด ๆ กันจนน้ำหูน้ำตาไหล แต่ความถี่และความรุนแรงจะค่อย ๆ ลดลงจนหายสนิทได้เอง ภาวะหลอดลมไวหลังเป็นหวัดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มียารักษาให้หายเร็วขึ้น แม้แต่ยาแก้ไอก็หยุดอาการได้เพียงชั่วคราว พอหมดฤทธิ์ยาก็จะไอขึ้นมาใหม่ เพียงแต่โรคไม่มีอันตรายถ้าเอกซเรย์ทรวงอกปกติ

สาเหตุของอาการไอเรื้อรังอาจจำแนกตามตำแหน่งของพยาธิสภาพ ซึ่งดูได้ง่ายจากลักษณะของเอกซเรย์ทรวงอก ดังนี้

1. จากหลอดลม (เอกซเรย์ทรวงอกปกติ)

  • สูบบุหรี่ (พบบ่อยที่สุด)
  • หลอดลมไวหลังเป็นหวัด (Bronchial Hyperresponsiveness)
  • โรคหืด (Asthma)
  • โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)
  • โรคไอกรน (Pertussis, whooping cough ในเด็ก)
  • เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังและมีหนองหยดลงคอ (post-nasal drip)
  • โรคกรดไหลย้อน (GERD)
  • ทานยาลดความดันกลุ่ม ACE inhibitors

2. จากเนื้อปอด (เอกซเรย์ทรวงอกเห็นความผิดปกติที่ปอด)

  • ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย (ปอดบวม), วัณโรค (วัณโรคปอด), เชื้อราหรือพยาธิ (ฝีที่ปอด), ฯลฯ กลุ่มนี้มักมีไข้ เหนื่อยหอบ และเจ็บอกเวลาหายใจร่วมด้วย
  • ปอดอักเสบเรื้อรังจากโรคอื่นที่ทำลายปอด เช่น COPD, bronchiectasis, cystic fibrosis, interstitial lung diseases, granulomatous diseases, pulmonary alveolar proteinosis เป็นต้น ในกลุ่มนี้มักเหนื่อยง่าย ออกแรงมากไม่ได้ และอาจมีนิ้วปุ้มให้เห็น ซึ่งแสดงถึงภาวะที่มีออกซิเจนในเลือดต่ำเป็นเวลานาน ๆ
  • เนื้องอกในทรวงอก: มะเร็งปอด, mesothelioma, lymphoma ในกลุ่มนี้มักเบื่ออาหาร ผอมลง อาจมีไอเป็นเลือดหรือคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอโตด้วย

3. จากหัวใจ (เอกซเรย์ทรวงอกเห็นหัวใจโต)

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาการไอในกลุ่มนี้จะเป็นมากขึ้นเวลานอนหงายศีรษะวางราบไปกับพื้นหรือเตียง และจะดีขึ้นเวลาลุกนั่ง

แนวทางการวินิจฉัย

ถ้าเอกซเรย์ทรวงอกปกติต้องกลับมาพิจารณาลักษณะการไอ เวลาที่เกิด อาการร่วม และชนิดยาที่ทานประจำ

  • อาการไอจากโรคหืด มักมีอาการตั้งแต่วัยเด็ก คือเมื่อสัมผัสถูกสิ่งกระตุ้น เช่น ไรฝุ่นในบ้าน (พบตามที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นที่ทำด้วยนุ่นหรือเป็นขน ๆ) เชื้อรา (พบสปอร์ตามที่เย็น เช่น ห้องแอร์ ในสวน) หรือบางคนอาจถูกกระตุ้นด้วยการออกกำลังกาย จะมีอาการไอร่วมกับหายใจหอบ หายใจมีเสียงดังวี้ด เนื่องจากหลอดลมหดตัว
  • อาการไอจากโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม มีน้ำมูกใส ๆ ไหลเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น คล้ายโรคหืด แต่ไม่มีเสียงหายใจดังวี้ด ๆ ให้ได้ยิน อาการจะเด่นที่จมูกมากกว่าที่หลอดลม
  • อาการไอจากโรคไอกรน มักเป็นในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ ตอนแรกจะมีอาการเหมือนเป็นหวัด คือมีไข้ต่ำๆ ไอเล็กน้อย มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ต่อมาเมื่อไข้และน้ำมูกหายจะเป็นระยะไอ โดยจะไอติดต่อกันหลายครั้งใน 1 ชุด แล้วหยุดไป สักพักก็เริ่มไอติดกันชุดใหม่ ในช่วงที่ไอออกแล้วจะมีการหายใจเข้าอย่างรวดเร็วหนึ่งครั้ง ซึ่งลมหายใจนี้จะไปกระทบกับฝากล่องเสียงที่ปิดอยู่ ทำให้มีเสียงดังวู๊ป หรือวู้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคนี้ในภาษาอังกฤษแบบทั่วไป คือ Whooping cough เสียงวู๊ปของคนไทยได้ยินเหมือนเสียงคนกรน จึงเรียกว่าโรคไอกรน ระยะไอนี้จะกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ มักเป็นตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน หลังจากนั้นอาการไอจะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปในเวลาประมาณ 3 เดือน โรคไอกรนนี้จะใกล้เคียงกับภาวะหลอดลมไวหลังเป็นหวัดมาก แยกจากกันได้เพียงการเพาะเชื้อจากน้ำมูก/เสมหะ หรือตรวจเลือดพบหลักฐานของเชื้อ Bordettella pertussis เท่านั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนคอตีก-บาดทะยัก-ไอกรนกันตั้งแต่เด็กแล้ว จึงอาจแยกกันตรงอายุและระยะเวลาที่เป็นกรณีที่ไม่ได้เพาะเชื้อหรือตรวจเลือด
  • อาการไอจากไซนัสอักเสบเรื้อรังและมีหนองหยดลงคอ มักมีน้ำมูกสีเหมือนหนองไหลออกมาด้วย ถ้าอาการชัดจะปวดบริเวณโพรงไซนัสบนใบหน้า จมูกไม่ค่อยได้กลิ่น คนไข้มักรู้สึกได้ว่ามีน้ำมูกไหลลงคนจนต้องไออยู่เรื่อย ๆ
  • อาการไอจากโรคกรดไหลย้อน จะเป็นลักษณะไอแห้ง ๆ หลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังกินอาหารเกือบทุกมื้อ บางรายอาจมีอาการแสบคอ หรือเสียงแหบช่วงหลังตื่นนอน พอสาย ๆ ทุเลาไปเอง บางรายอาจมีอาการแสบร้อนในอก หรือจุกอก บางรายที่อาการชัดจะรู้สึกเหมือนมีน้ำเปรี้ยว ๆ ไหลขึ้นคอเวลาที่นอนราบ โดยที่สุขภาพอื่น ๆ แข็งแรงดี

ถ้าเอกซเรย์ทรวงอกผิดปกติ รอยโรคที่เห็นจากเอกซเรย์ก็จะช่วยในการสืบค้นมากขึ้น ถ้าสงสัยการติดเชื้อก็จะตรวจหาเชื้อจากเสมหะ ถ้าเป็นเนื้องอกก็ต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ ถ้าภาวะหัวใจล้มเหลวก็จะสืบหาสาเหตุต่อไป

อาการไอเรื้อรังในเด็กเล็กอาจมีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้มีความผิดปกติของหลอดลม, ถุงลม, หรือหัวใจ ภาวะเหล่านี้มักทำให้ปอดติดเชื้อง่าย เด็กที่มีปอดติดเชื้อบ่อย ๆ ควรพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาความผิดปกติที่อาจมีมาแต่กำเนิดด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของการไอ

การไอที่รุนแรงอาจทำให้ปอดแตกและมีลมรั่วเข้าไปในช่องเยื่อบุหุ้มปอด (Pneumothorax) ได้ ซึ่งจะทำให้มีการเจ็บอกและแน่นขึ้นมาฉับพลัน จากนั้นจะเจ็บทุกครั้งที่หายใจ ส่วนใหญ่ลมที่รั่วออกมานี้มักไม่มาก เพราะพอเจ็บอกผู้ป่วยก็จะหายใจตื้นขึ้น ทำให้รูที่ฉีกขาดปิดได้เอง แต่บางคนที่ยังไออยู่เรื่อย ๆ ก็จะมีลมรั่วเข้าไปสะสมในช่องเยื่อหุ้มปอดเรื่อย ๆ ทำให้รู้สึกแน่น หายใจลำบากขึ้นเรื่อย ๆ กรณีนี้จำเป็นต้องเจาะทรวงอกเพื่อต่อสายระบายลม

นอกจากนี้ อาการไอเรื้อรังอาจทำให้ปัสสาวะราด/เล็ดได้ โดยเฉพาะผู้ที่กล้ามเนื้อเชิงกรานและหูรูดของกระเพาะปัสสาวะไม่แข็งแรง