ปวดข้อ (Arthralgia/Arthritis)
คำว่า "ปวดข้อ" (arthralgia) เป็นความรู้สึกปวดขัดตรงตำแหน่งของข้อ ซึ่งอาจเกิดจากตัวข้อเอง หรือเป็นเพียงการตึง ล้า อักเสบ หรือบาดเจ็บของโครงสร้างรอบ ๆ ข้อ เช่น เส้นเอ็น (tendon), จุดยึดเส้นเอ็น (enthesis), ถุงน้ำรอบข้อ (bursa), กล้ามเนื้อและพังผืด (myofascial structure) วิธีการแยกคือลองคลำและขยับดู ถ้าเป็นที่ข้อจะมีอาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
- รู้สึกบวมและร้อนที่ข้อนั้นเมื่อเทียบกับข้อที่ไม่ปวด
- กดเจ็บตามตำแหน่งที่เป็นแนวข้อเท่านั้น เหนือหรือต่ำลงไปกว่านั้นจะไม่เจ็บ
- ยิ่งขยับยิ่งปวด ไม่ว่าจะขยับเองหรือให้คนช่วยจับเหยียด-งอก็เจ็บพอ ๆ กัน (ถ้าปวดจากโครงสร้างรอบข้อจะไม่ปวดมากเวลาคนอื่นช่วยขยับ แต่เวลาที่ตั้งใจขยับเองจะปวดมากกว่า)
- ได้ความรู้สึกกร็อบแกร็บภายในข้อ (crepitation) เวลาที่เหยียด-งอ ซึ่งมาจากการขัดสีกันของกระดูกอ่อนผิวข้อที่ขรุขระ หรือมีเศษกระดูกอ่อนชิ้นเล็ก ๆ หลุดและแขวนลอยอยู่ภายในข้อ (rice bodies) ความรู้สึกกรอบแกร็บนี้อาจเบาเหมือนการใช้นิ้วมือขยี้เส้นผม หรืออาจดังขนาดกุกกักให้ได้ยินจากภายนอกเลย
- ปวดหลายข้อพร้อม ๆ กัน
- มีการกร่อนทำลายข้อจนผิดรูปไป เช่น ข้อเอียงเบี้ยว มีการปูดโปน หรือมีปุ่มกระดูกที่ข้อ
การที่ต้องแยกให้ได้ก่อนนี้ก็เพื่อให้การวินิจฉัยตรงขึ้น เพราะโรคของโครงสร้างรอบ ๆ ข้อก็พบได้บ่อยไม่แพ้กับโรคข้ออักเสบ มีทั้งที่เกิดขึ้นเองและเกิดจากการบาดเจ็บ หากพบว่าเป็นจากโครงสร้างรอบข้อจะดูอีกครั้งว่าเป็นจากโครงสร้างใดของข้อที่ปวดนั้น ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้จากสารบัญย่อยของอาการปวดแต่ละข้อ
ในกรณีที่เป็นที่ข้อจะมีสองกลุ่มโรค คือ ข้ออักเสบ (arthritis) กับข้อเสื่อม (Osteoarthritis, OA) ความจริงโรคข้อเสื่อมนี้ก็คือข้ออักเสบอย่างช้า ๆ อาจเป็นจากการใช้งานมานานหรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคข้ออักเสบอื่น ๆ รวมถึงการบาดเจ็บในอดีตที่ทำให้ข้อมีจุดอ่อน ใช้งานไม่ได้เต็มที่เหมือนเดิม แม้อาการของข้อเสื่อมส่วนใหญ่จะเป็นแบบข้อขัด ข้อฝืด งอ-เหยียดได้ไม่สุด ปวดเฉพาะเวลาใช้งานมาก และมีข้อผิดรูป แต่ก็จะรวมอยู่ในความหมายของอาการ "ปวดข้อ" หรือ "ข้ออักเสบ" ที่จะกล่าวถึงในหน้านี้ด้วย
การวินิจฉัยแยกโรคของข้อจะพิจารณาว่าเป็นการปวดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (ปวดเรื้อรังคือเป็นมานานกว่า 6 สัปดาห์) และปวดข้อเดียวหรือหลายข้อ โรคของข้อแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามการพิจารณาในสองหัวข้อดังกล่าว
1. ปวดเฉียบพลันข้อเดียว (หรือ 1-2 ข้อที่ใกล้กัน) ได้แก่
- ข้ออักเสบจากการบาดเจ็บ
- ข้ออักเสบจากการติดเชื้อทั่วไปผ่านทางกระแสเลือด (septic arthritis หรือ non-gonococcal arthritis)
ถ้าไม่มีการบาดเจ็บต้องคิดถึงข้อติดเชื้อในลักษณะนี้ก่อนเสมอ พบมากที่ข้อใกล้ร่างกาย เช่น ข้อไหล่ ข้อสะโพก อาจจะมีแผลที่ผิวหนังหรือมีการติดเชื้อที่ระบบอื่นนำมาก่อน เช่น ปอดบวม ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงด้วย
การวินิจฉัยต้องเจาะน้ำไขข้อที่ปวดบวมนั้นมาตรวจและเพาะเชื้อ การเพาะเชื้อครึ่งหนึ่งอาจไม่ขึ้น แต่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อทั่วไปจากผลตรวจน้ำไขข้อที่พบเม็ดเลือดขาว > 100,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิลิตร และเป็นชนิดนิวโตรฟิล > 90%
ในกรณีที่เป็นตำแหน่งที่เจาะยากเช่น ข้อกระเบนเหน็บต่อกับกระดูกเชิงกราน (SI joint) ข้อเชื่อมกระดูกหัวเหน่าว (pubic symphysis) ข้อกระดูกไหปลาร้าต่อกับกระดูกอก (sternoclavicular joint) แพทยจะเอกซเรย์พิเศษ เช่น อัลตราซาวด์ CT หรือ MRI
- ข้ออักเสบจากการติดเชื้อโกโนค็อกคัส (Gonococcal arthritis)
มักพบในหญิงตั้งครรภ์หรือขณะมีประจำเดือน เริ่มต้นจะมีไข้สูง แล้วมีข้อบวม ปวดตามข้อ 1-2 ข้อในเวลาที่เหลื่อมกันเล็กน้อย (migratory arthralgia) มักมีเอ็นอักเสบ (tenosynovitis) บริเวณหลังมือหลังเท้าด้วย ที่สำคัญคือพบตุ่มแดง หรือตุ่มหนองตามผิวหนัง มักพบที่นิ้วมือ หน้าแข็ง ตาตุ่ม
การเพาะเชื้อในเลือดและในน้ำไขข้อมักพบเชื้อตัวนี้โดยง่าย
- โรคเกาต์ (Gout)
โรคเกาต์เกิดจากการตกผลึกโมโนโซเดียมยูเรตภายในข้อ พบในผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูง เพศชายมากกว่าเพศหญิง อาการจะกำเริบเป็นพัก ๆ หลังดื่มสุราหรือทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เนื้อไก่ อาหารทะเล เนื้อวัว โดยจะปวดข้อขึ้นมาฉับพลัน มีข้อบวม แดง ร้อนอย่างเห็นได้ชัด มักเป็นที่ฐานของนิ้วโป้งของเท้า ข้อเท้า ข้อนิ้วมือ และข้อมือ ในระยะยาวหากไม่รักษาจะมีปุ่มของผลึกนี้ปูดออกมารอบข้อ
- โรคซูโดเกาต์ (Pseudogout)
โรคนี้เกิดจากการตกผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตภายในข้อ อาการจะเหมือนโรคเกาต์มาก แต่ซูโดเกาต์ชอบเป็นที่ข้อเข่ามากกว่า บางครั้งก็พบที่ข้อเท้า ข้อมือ ข้อไหล่ หรือข้อสะโพก และมักเป็นในคนสูงอายุ (>60 ปี) เพศชายพอ ๆ กับเพศหญิง อาการกำเริบของซูโดเกาต์ไม่ได้มาจากอาหาร แต่จากการขาดน้ำและการเปลี่ยนแปลงของแคลเซียมเมตาบอลิซึมในเลือด เช่น โรค Hyperparathyroidism โรคนี้เมื่อตรวจน้ำไขข้อจะพบผลึกรูปยาวคล้ายเข็มเหมือนเกาต์ แต่ต่างกันตรงการตรวจด้วย polarized microscopy
- โรคไรเตอร์ (Reiter’s disease, Reactive arthritis)
เป็นอาการปวดข้อที่เกิดตามหลังการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ, ระบบสืบพันธุ์, หรือระบบทางเดินอาหาร ประมาณ 2-4 สัปดาห์ มักพบในเพศชาย โดยจะมีตรีลักษณ์ (triad) คือ ท่อปัสสาวะอักเสบ (urethritis) เยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis) และข้ออักเสบ (arthritis) ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะขัดก่อน จากนั้นไม่นานจะมีไข้ อ่อนเพลีย ตาแดง ขี้ตาเป็นหนอง จากนั้นก็จะมีอาการปวดข้อที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อสะโพก และพบอาการปวดหลังส่วนล่างร่วมด้วยประมาณ 50% (spondyloarthropathy) นอกจากนั้นยังอาจมีอาการปวดที่จุดยึดเส้นเอ็น (enthesopathy) เช่น จุดยึดเอ็นร้อยหวาย, จุดยึดเอ็นใต้ฝ่าเท้า, จุดยึดเอ็นแถวกระดูกเชิงกราน, จุดยึดเอ็นที่หัวเข่า, และจุดยึดเอ็นตามกระดูกซี่โครง
- ข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังสะเก็ดเงินบางรายจะมีอาการปวดข้อด้วย มักเป็นที่ข้อนิ้วมือและที่กระดูกสันหลัง มีการทำลายของกระดูกรอบข้อ ทำให้ตรงกลางนิ้วบวมขึ้นจนดูเหมือนไส้กรอก อาการร่วมอื่น ๆ ได้แก่ เล็บบุ๋ม (pitting nail), เล็บผิดรูป (onychodystrophy), แผ่นเล็บแยกจากปลายนิ้ว (onycholysis), เจ็บส้นเท้าจากเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (plantar fasciitis), เจ็บหลังข้อเท้าจากเอ็นร้อยหวายอักเสบ (archilis tendinitis), ตาแดงจากเยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis), หรือผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) เป็นต้น
- มีเลือดออกในข้อ จากโรคที่มีเลือดออกง่ายต่าง ๆ
2. ปวดเฉียบพลันหลายข้อ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันผิดปกติ ได้แก่
- โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis, RA)
เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะของตัวเองโดยไม่ทราบสาเหตุ มักเป็นหญิงวัย 35-50 ปี มีอาการข้ออักเสบหลายข้อแบบสมมาตรซ้าย-ขวา มีการกร่อนทําลายของกระดูกและกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ ทำให้ข้อผิดรูป และพิการในที่สุด แม้โรคนี้จะเป็นเรื้อรัง แต่จำเป็นต้องวินิจฉัยให้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรักษาก่อนที่ความพิการจะเกิดขึ้น โดยถ้ามีอาการ 4 ใน 7 ข้อข้างล่างนี้สามารถวินิจฉัยโรครูมาตอยด์ได้
- มีอาการข้อฝืด ข้อแข็งในตอนเช้า ขยับไม่ได้ตามปกติอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมงก่อนที่อาการจะหายไป
- ปวดข้อมากกว่า 3 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อบวมด้วย
- ข้อที่อักเสบนั้นจะต้องมีข้อของมือรวมอยู่ด้วย โดยอาจจะเป็นข้อมือ หรือข้อนิ้วมือก็ได้ (เพราะโรคนี้จะทำลายข้อบริเวณมือเป็นหลัก)
- ข้อที่อักเสบเหล่านั้นจะต้องเป็นทั้งข้างซ้ายและข้างขวาเหมือนกัน และเป็นพร้อม ๆ กัน
- มีปุ่มเนื้อที่ข้อ (rheumatoid nodules)
- ตรวจพบ Rheumatoid factor ในเลือด (Rheumatoid factor ไม่ได้จำเพาะกับโรคนี้ เพราะพบได้ในคนทั่วไป 5-20% และคนที่เป็นโรคนี้ก็มี Rheumatoid factor ในเลือดเพียง 33% จึงต้องอาศัยเกณฑ์ข้ออื่นร่วมด้วย)
- เอกซเรย์กระดูกพบความผิดปกติของกระดูกรอบข้อ เช่น กระดูกรอบข้อบางตัวลง
การที่ต้องมีเกณฑ์การวินิจฉัยเพราะยารักษาโรครูมาตอยด์มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก หากเกณฑ์ยังไม่ครบยังไม่ควรรักษา เพราะมีโรคอีกมากที่มีอาการคล้ายกันโดยเฉพาะในระยะแรก
- โรคติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น Parvovirus, Rubella, HBV, HCV, HIV, EBV, Mumps โรคพวกนี้จะทำให้มีไข้ ออกผื่น แล้วมีปวดข้อตามมาได้
- โรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus, SLE)
นี่ก็เป็นโรคภูมิแพ้ตนเองอีกโรคหนึ่ง มักเป็นในเพศหญิงเช่นกัน โดยร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกาย ทำให้มีอาการแทบทุกระบบ แต่อาการต่าง ๆ อาจไม่ได้เกิดพร้อมกันเลยทีเดียว บางคนอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าจะมีอาการครบตามเกณฑ์วินิจฉัย
หากใช้เกณฑ์การวินิจฉัยของ American College of Rheumatology ปี 1982 ถ้ามีอาการแสดง 4 ใน 11 ข้อดังตัวย่อ "SOAP BRAIN MD" ต่อไปนี้ จะมีความถูกต้อง 95% ขณะที่มีความไวในการวินิจฉัยเพียง 85% (คือต้องการความแน่นอนมากกว่าความรวดเร็ว เพราะยาที่ใช้รักษามีผลข้างเคียงมาก แถมยังต้องใช้ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานถึงจะควบคุมโรคได้)
- Serositis คือมีการอักเสบของผนังด้านนอกของเยื่อบุ ซึ่งได้แก่เยื่อบุช่องปอด (pleurisy), เยื่อหุ้มหัวใจ (pericarditis)
- Oral ulcers คือมีแผลที่ไม่เจ็บ ในช่องปาก
- Arthritis คือมีข้อนิ้วมือนิ้วเท้าอักเสบ (ปวด+บวม) ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป
- Photosensitivity คือมีผื่นแดงผิดปกติเวลาโดนแสงไฟหรือแสงแดดเพียงเล็กน้อย
- Blood disorders คือมีเม็ดเลือดแดงแตก (hemolytic anemia), เม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 4000 เซลล์/ลบ.มม. (มากกว่า 1 ครั้ง), ลิมโฟไซต์น้อยกว่า 1500 เซลล์/ลบ.มม. (มากกว่า 1 ครั้ง), หรือมีเกร็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เซลล์/ลบ.มม. (โดยไม่ได้รับยาอะไร)
- Rrenal involvement คือมีโปรตีนออกมาในปัสสาวะ >0.5 กรัม/วัน หรือมี cellular casts ออกมา
- Antinuclear antibodies (ANA) ไตเตอร์สูงกว่า1:160 โดยที่ไม่ได้รับยาอะไร
- Immunologic phenomena คือมีผลบวกของ dsDNA, anti-Smith antibodies, antiphospholipid antibodies, LE cells, หรือผลบวกเทียมของโรคซิฟิลิส
- Neurologic disorder คือมีอาการชักหรืออาการทางจิตโดยที่หาสาเหตุอื่นไม่ได้
- Malar rash คือมีผื่นแดงที่หน้ารูปคล้ายผีเสื้อที่สองข้างแก้มและที่สันจมูก (รูป A)
- Discoid rash คือมีผื่นแดงที่มีขอบนูนและมีสะเก็ดสีขาวคลุมตามที่ต่าง ๆ (รูป B)
ส่วนอาการทั่วไปที่เป็นกันมาก เช่น ไข้รุม ๆ อ่อนเพลีย ผมร่วง ปวดหลัง ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์นี้
ในปี 2012 มีการทบทวนเกณฑ์วินิจฉัยระหว่าง Systemic Lupus International Collaborating Clinics กับ American College of Rheumatology แล้วยอมให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ถ้ามีผลชิ้นเนื้อที่ไตระบุว่าเป็น lupus nephritis ร่วมกับมี ANA หรือ anti-dsDNA antibodies นอกเหนือจากเกณฑ์ 4 ใน 11 ข้อข้างต้น
- โรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
โรคนี้จะเกิดหลังการติดเชื้อ β-hemolytic streptococcus Group A ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) และโรคพุพองที่ผิวหนัง (Impetigo) เนื่องจากผนังเซลล์ของแบคทีเรียตัวนี้มี M protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่คล้ายกับโปรตีนของเซลล์ในหัวใจ ข้อต่อ ผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และของสมอง จึงทำให้แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อไปทำลายเซลล์หัวใจ ข้อต่อ ผิวหนัง และสมองด้วย แต่พบเพียง 3% ของผู้ที่เป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบหรือไข้อีดำอีแดงที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษา เมื่อผ่านไป 1-5 สัปดาห์ หรือโดยเฉลี่ย 20 วัน ก็จะเกิดเป็นไข้รูมาติก โรคนี้มักพบในเด็กวัย 5-17 ปี
การวินิจฉัยโรคคือต้องมีเกณฑ์หลักอย่างน้อย 2 ข้อ + หลักฐานของการติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส หรือ เกณฑ์หลัก 1 ข้อ + เกณฑ์รอง 2 ข้อ + หลักฐานของการติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส
เกณฑ์หลัก
- หัวใจอักเสบ (carditis) อาการคือ หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว ขาบวม นอนราบไม่ได้ ฟังเสียงหัวใจได้ยินเสียงฟู่ที่ไม่เคยมีมาก่อน มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
- ข้ออักเสบหลายข้อ (polyarthritis) แต่ไม่เป็นพร้อมกัน คือจะมีข้อบวม ปวด ขยับยาก ทีละ 1-2 ข้อ ประมาณ 2-6 วัน แล้วก็หาย จากนั้นจะไปเกิดกับข้ออื่น ๆ ต่อไป ข้อที่อักเสบมักเป็นข้อใหญ่ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก โดยแทบจะไม่เป็นที่ข้อนิ้วมือนิ้วเท้าเลย
- ผื่นจางขอบแดง (erythema marginatum) เป็นผื่นแบนราบ เห็นไม่ชัด ขอบแดง อาจเป็นหยัก ตรงกลางสีเหมือนผิวหนังปกติ ขนาด 1-3 เซนติเมตร ไม่คัน ถ้ากดขอบที่แดงจะจางแล้วค่อยกลับมาแดงใหม่ มักขึ้นตามลำตัว ต้นแขน ต้นขา แต่จะไม่พบที่ใบหน้า ผื่นนี้จะอยู่ที่เดิมไม่นานก็ย้ายไปขึ้นอีกที่หนึ่ง และเห็นได้ชัดขึ้นหากผิวหนังโดนความร้อน เช่น การอาบน้ำร้อน หรือการตากแดด
- มีก้อนคล้ายยางลบเล็ก ๆ ใต้ผิวหนัง (subcutaneous nodules) มีขนาดตั้งแต่ 0.2 ถึง 2 เซนติเมตร ไม่เจ็บ จับขยับได้ อาจมีก้อนเดียวหรือหลายสิบก้อน โดยจะพบตามศอก หลังมือ หัวเข่า ข้อเท้า เอ็นร้อยหวาย ท้ายทอย กระดูกสันหลัง
- การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ (Sydenham’s chorea) เป็นลักษณะขยุกขยิกอยู่ไม่สุขตลอดเวลาและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการนี้ถ้าเกิดจะเกิดทีหลังสุด
เกณฑ์รอง
- มีไข้เกิน 38°C
- ปวดข้อแต่ข้อไม่บวม
- เคยเป็นไข้รูมาติกหรือโรคหัวใจรูมาติกมาก่อน
- ตรวจพบปฏิกิริยาอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่ ESR, C-reactive protein, leukocytosis
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจมี P-R interval ยาวขึ้น
หลักฐานของการติดเชื้อ β-hemolytic streptococcus Group A อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
- ตรวจพบการเพิ่มขึ้นของ ASO titer
- ตรวจพบการเพิ่มขึ้นของ anti-DNase B
- เพาะเชื้อจากในคอขึ้น β-hemolytic streptococcus Group A
- มีประวัติเป็นไข้อีดำอีแดงเมื่อไม่นานมานี้
- โรค/ภาวะอื่น ๆ ที่พบน้อย เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, การแพ้แบบ Serum sickness, ปฏิกิริยาข้ออักเสบจากเชื้อวัณโรค (Poncet’s disease), กลุ่มอาการ Paraneoplastic, ฯลฯ
3. ปวดเรื้อรังข้อเดียว ได้แก่
- การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค เชื้อรา
- โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) มักพบในคนสูงอายุ และมักเป็นกับข้อที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า ข้อกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก หรือเป็นกับข้อที่มีการใช้งานมากโดยอาชีพ
- โรคเกาท์และซูโดเกาท์ที่เป็นเรื้อรัง
- ภาวะกระดูกตายขากการขาดเลือด (Avascular necrosis) มักเกิดกับข้อสะโพกข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะปวดเวลายืนหรือเดินเป็น ๆ หาย ๆ ระยะยาวจะมีข้อผิดรูป กล้ามเนื้อลีบ เดินลำบาก
- เนื้องอกของข้อ พบได้น้อยมาก มี 2 โรคคือ Synovial chondromatosis และ Pigmented villonodular synovitis ซึ่งเป็นเนื้องอกไม่ร้าย แต่อันตราย เนื่องจากมักเป็นกับผิวข้อที่รับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ทำให้ปวด บวม และเดินลำบาก
- โรคข้อที่เกิดจากการชาไม่รู้สึก (Neuropathic arthropathy, Charcot joint) ข้อเหล่านี้จะได้รับบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เรื่อย ๆ จนอักเสบเรื้อรัง ผิดรูป หักหรือหลุดออกจากข้อ และพิการในที่สุด
3. ปวดเรื้อรังหลายข้อ ได้แก่
- โรครูมาตอยด์ ที่เป็นเรื้อรัง
- โรคข้อเสื่อม ที่เป็นหลายข้อ
- โรคเอสแอลอี ที่คุมอาการไม่ได้
- โรค Ankylosing spondylitis โรคนี้เป็นการอักเสบเรื้อรังของข้อกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อไหล่ ข้อของกระดูกเชิงกรานและกระดูกซี่โครง มักพบในเพศชายที่มียีน HLA-B27 อาการปวดจะเป็นมากตอนเช้า และจะดีขึ้นเมื่อได้ขยับ แต่ในระยะยาวจะมีข้อเชื่อมติดกันจนขยับไม่ได้
- กลุ่มอาการ Hypertrophic osteoarthropathy เป็นกลุ่มอาการที่มีตรีลักษณ์คือ นิ้วปุ้ม (clubbing of the digits) เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ (periostitis) และข้ออักเสบ อาจเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาการปวดข้อมักเป็นที่ข้อเข่าและข้อเท้า