ปวดข้อมือและมือ (Hand pain)

มือเป็นอวัยวะที่มีจำนวนกระดูกและข้อต่อมากที่สุดในร่างกาย ข้อต่อเหล่านี้เคลื่อนไหวได้อย่างละเอียดอ่อนด้วยเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งทำงานสอดประสานกันทั้งงานหนักงานเบา การรับความรู้สึก และการสื่อสารได้อย่างเหลือเชื่อ มือของมนุษย์จัดเป็นอวัยวะของสัตว์ชั้นสูงที่ช่วยกันสร้างโลกใบนี้

อาการปวดมือและข้อมือมีทั้งที่มาจากข้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท และถุงน้ำ โรคที่พบบ่อยได้แก่

โรคเดอเกอแวง (De Quervain's disease)

โรคนี้เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นสองเส้นที่ทำหน้าที่ในการขยับหัวแม่มือ สาเหตุเกิดจากการใช้งานมากเกินไป การบาดเจ็บ และการอักเสบเรื้อรังของข้อนิ้วที่ลามมาถึงเส้นเอ็น เช่น โรครูมาตอยด์ พบโรคนี้ได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องอุ้มลูกวัยทารก ในผู้ชายอาจพบในผู้ที่ทำไร่ทำสวน หรือนักกีฬาเทนนิสและนักกอล์ฟ

อาการจะปวดบริเวณโคนหัวแม่มือ กดเจ็บ จับดูจะบวม ร้อน ทำให้หยิบของชิ้นเล็ก ๆ เช่น เส้นด้าย เส้นผม ลำบาก ถ้ากำหัวแม่มือไว้แล้วกระดกข้อมือลงดังรูปจะเจ็บมาก (Finkelstein test positive)

การวินิจฉัยอาศัยจากอาการและ Finkelstein test ดังกล่าว การรักษาเพียงพักการใช้งานของนิ้วหัวแม่มือประมาณ 4-6 สัปดาห์ อาจต้องใส่สนับหัวแม่มือไว้ ช่วงที่มีอาการปวดและบวมมากให้ประคบเย็นวันละ 3-4 ครั้ง และทานยาแก้อักเสบ รายที่เป็นมากแพทย์อาจฉีดยาแก้อักเสบให้ รายที่เป็นเรื้อรังแพทย์อาจผ่าตัดเปิดแผ่นที่คลุมเส้นเอ็นสองเส้นนี้เพื่อให้เอ็นเคลื่อนที่ได้สะดวกขึ้น

โรคข้อนิ้วล็อก (Trigger finger)

โรคนี้เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นนิ้วมือด้านฝ่ามือ เส้นเอ็นเหล่านี้มีพังผืดรัดเป็นช่วง ๆ ให้อยู่ติดกับกระดูก เมื่อเรากำและคลายมือ เส้นเอ็นเหล่านี้ไถลผ่านพังผืด ในบางครั้งเส้นเอ็นอาจหนาตัว บวมเพราะอักเสบ หรือมีตุ่มเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถลอดผ่านพังผืดเหล่านี้ได้ จึงเกิดสภาพนิ้วล็อกและปวดมือเวลาขยับ

โรคนี้มักเป็นในผู้หญิงวัย 40-60 ปี ที่มีโรคเบาหวานหรือโรคข้อรูมาตอยด์ แต่บางครั้งก็พบในผู้ที่ใช้มือทำงานหนัก เช่น ชาวนาชาวสวน นักดนตรี นักพิมพ์ดีด

อาการจะเป็นลักษณะข้อนิ้วฝืด ขยับยากเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน เมื่อได้ขยับสักพักจะดีขึ้น ต่อมาจะมีนิ้วล็อก งอแล้วเหยียดไม่ได้ เมื่อพยายามจะเหยียดจะได้ยินเสียงเหมือนข้อหักแล้วรู้สึกปวดที่ฝ่ามือตรงโคนนิ้วมือ อาจคลำได้ตุ่มของเส้นเอ็นที่หนาตัวและกดเจ็บด้วย

การรักษาจะเหมือนกับโรคเดอเกอแวง คือพักการใช้งานของนิ้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ควรพันผ้าไว้ป้องกันไม่ให้นิ้วงอบ่อย ๆ

ภาวะเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ (Carpal tunnel syndrome)

ภาวะนี้เกิดจากการที่อุโมงค์ที่เส้นประสาทมีเดียนลอดผ่านแคบลง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้งานของข้อมือมากเกินไปจนเอ็นบวม การบาดเจ็บในอดีต โรครูมาตอยด์ หรือพังผืด Flexor retinaculum หนารัดอุโมงแน่นขึ้น ทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดเบียด ภาวะนี้มักพบในเพศหญิง อาการตอนแรกมักแค่ชาหรือเป็นเหน็บบริเวณด้านฝ่ามือของนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งนิ้วนาง รู้สึกเหมือนนิ้วมือหนาหรือบวมขึ้นโดยเฉพาะเมื่อกระดกข้อมือลงประมาณครึ่งนาทีดังในภาพเล็ก เมื่อเป็นมากขึ้นจะปวดมือ มืออ่อนแรง จับของได้ไม่แน่น บางรายอาจปวดแสบร้อนคล้ายไฟช็อตที่ 3 นิ้วดังกล่าว

กรณีที่เป็นไม่มากอาจใช้การพัก ใส่เฝือกอ่อนที่ข้อมือเพื่อลดการใช้งาน รอให้การบวมและอักเสบดีขึ้น กรณีที่เป็นมากแพทย์อาจฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณอุโมงค์ หรือพิจารณาผ่าตัดเพื่อทำให้อุโมงค์กว้างขึ้นในรายที่มีอาการมานานกว่า 6 เดือน

โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

โรคนี้มักเกิดกับหญิงวัย 35-50 ปี เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตัวเองโดยไม่ทราบสาเหตุ อวัยวะที่โดนบ่อยคือ ข้อต่อ กระดูกผิวข้อ ผิวหนังและเยื่อบุ กล้ามเนื้อและเอ็น ปอด ไต การอักเสบและการกร่อนทําลายของอวัยวะเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ต่อเนื่อง

เริ่มแรกผู้ป่วยมักมีอาการข้อฝืด ข้อแข็งในตอนเช้า ขยับไม่ได้ตามปกติอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมงก่อนที่อาการจะหายไป ข้อที่มักเป็นคือข้อมือและข้อนิ้วมือ ลักษณะสำคัญคือเป็นหลายข้อและทั้งสองข้าง อาจมีไข้ต่ำ ๆ และอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีอาการดังกล่าวต้องรีบไปตรวจ การวินิจฉัยต้องอาศัยภาพเอกซเรย์และผลเลือดประกอบด้วย หากไม่รักษาต่อเนื่องและทำกายภาพบำบัด ระยะยาวข้อนิ้วมือจะเอียงผิดรูป เกิดความพิการของมือในที่สุด

โรคข้อนิ้วมือเสื่อม (Osteoarthritis)

ข้อเสื่อมเป็นสาเหตุของอาการปวดข้อมือและนิ้วมือได้บ่อยโดยเฉพาะในคนสูงอายุ อาจเป็นผลจากโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ ซูโดเกาท์ หรือการบาดเจ็บ หรือการใช้งานที่มากเกินไป ตำแหน่งของข้อเสื่อมที่พบบ่อยคือ ข้อปลายนิ้วมือ ข้อกลางนิ้วมือ และข้อโคนนิ้วหัวแม่มือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขัดข้อเวลาใช้งาน อาจตรวจพบปุ่มกระดูกนูนขนาดเท่าเมล็ดถั่วที่บริเวณข้อปลายนิ้วมือและข้อกลางนิ้วมือ

โรคข้อนิ้วมือเสื่อมยังไม่มีการรักษาจำเพาะเหมือนข้อใหญ่ที่รับน้ำหนักอื่น ๆ การรักษามีเพียงพักการใช้งานและทานยาแก้อักเสบหากบวมและปวดมาก

ถุงน้ำที่ข้อมือ (Carpal ganglion cyst)

เป็นถุงน้ำที่อยู่บนปลอกหุ้มเอ็นซึ่งพาดวางอยู่บนหลังข้อมือ ผนังของก้อนถุงน้ำเป็นเยื่อบุข้อหรือเยื่อหุ้มเส้นเอ็น ภายในมีน้ำไขข้อบรรจุอยู่ ก้อนถุงน้ำนี้จะมีช่องติดต่อกับข้อมือตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ หลังข้อมือและด้านหน้าของข้อมือ บริเวณใกล้ ๆ กับโคนนิ้วหัวแม่มือ มีขนาดตั้งแต่เมล็ดถั่วจนถึงขนาดปลายนิ้วหัวแม่มือ อาจยึดแน่นอยู่กับข้อมือหรืออาจมีการเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย เมื่อกดหรือดันอาจมีอาการปวดที่ก้อนได้ แต่เป็นการปวดที่ไม่รุนแรง อาจมีอาการปวดและขัดมากขึ้นเมื่อใช้ข้อมือมาก ๆ พบบ่อยในผู้หญิง ช่วงอายุ 20-40 ปี

ถุงน้ำนี้อาจยุบหายไปเองหรือโตขึ้นมาใหม่ได้ในระยะเวลาหลายเดือน ถ้าไม่มีอาการปวดอาจยังไม่ต้องรักษา ถ้าปวดหรือชาแสดงว่าก้อนอาจไปเบียดเส้นประสาทหรือเส้นเอ็นเวลาขยับข้อมือ แพทย์อาจทำการเจาะน้ำในถุงน้ำออกเพื่อให้ก้อนยุบลงชั่วคราว หรืออาจผ่าตัดออกทั้งก้อนเพื่อไม่ให้เกิดเป็นใหม่ตรงตำแหน่งนั้นอีก