ปวดข้อศอก (Elbow pain)
ข้อศอกประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกต้นแขน กระดูกแขนเรเดียส (อยู่ทางฝั่งนิ้วโป้ง) และกระดูกแขนอัลนา (อยู่ทางฝั่งนิ้วก้อย) เกิดเป็นข้อพับที่สามารถคว่ำและหงายมือได้! กระดูกทั้งสามชิ้นถูกยึดไว้อย่างแน่นหนาด้วยเส้นเอ็นจำนวนมาก ก่อนที่จะถูกหุ้มด้วยกล้ามเนื้อแขนมัดเล็ก ๆ แต่ยาวอีกหลายมัด แต่แม้จะมีโครงสร้างที่แน่นหนาเช่นนี้ ข้อศอกก็เป็นข้อที่ได้รับบาดเจ็บได้ง่ายเช่นเดียวกับข้อเข่า โดยเฉพาะนักกีฬาที่ใช้แขนเป็นหลัก
สาเหตุของอาการปวดข้อศอกส่วนใหญ่ได้แก่
เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis)
เส้นเอ็นที่บาดเจ็บจากการใช้งานมากจนเกิดการอักเสบได้บ่อยสองอันดับแรกคือ
- เส้นเอ็นที่เกาะที่ Lateral epicondyle ซึ่งเป็นเอ็นของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดแขน อยู่ทางด้านนอกของศอก พบบ่อยในนักกีฬาเทนนิส จึงเป็นที่มาของชื่อโรคว่า "Tennis elbow" (Lateral epicondylitis)
อาการปวด บวม ร้อน มักเป็นอยู่จุดเดียว และทำให้กำแร็กเก็ตได้ไม่แน่น ส่วนใหญ่จะหายเองได้เมื่อได้พัก 3 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้าเป็นเรื้อรังเส้นเอ็นอาจฉีกขาดได้
- เส้นเอ็นที่เกาะที่ Medial epicondyle ซึ่งเป็นเอ็นของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการงอแขน อยู่ทางด้านในของศอก พบบ่อยในนักกีฬากอล์ฟ จึงเป็นที่มาของชื่อโรคว่า "Golfer's elbow" (Medial epicondylitis)
อาการจะคล้ายกับ Tennis elbow คือปวดบวมร้อนที่จุดเดียว กำวัตถุได้ไม่แน่น อาจมีอาการชาลงมาที่ปลายนิ้วก้อย-นาง-กลางได้ เพราะที่ข้อศอกด้านไนมีเส้นประสาทอัลนาทอดผ่านด้วย การรักษาคือการพักใช้แขนเช่นเดียวกัน
ถุงน้ำอักเสบ (Olecranon bursitis)
ถุงน้ำที่ข้อศอกจะอยู่หลังศอกพอดี การอักเสบอาจเกิดจากการบาดเจ็บ การใช้งานข้อมากเกินไป การติดเชื้อ หรือโรครูมาตอยด์กับโรคเกาท์ที่กินถึงข้อศอกด้วย ถ้าถุงน้ำอักเสบศอกจะบวมปูดทางด้านหลัง กดเจ็บ ผิวหนังโดยรอบจะแดง แต่การพับขึ้นของข้อยังทำได้ตามปกติ
ในการตรวจว่าสาเหตุของการอักเสบเป็นจากการติดเชื้อหรือไม่ แพทย์ต้องดูดน้ำออกมาตรวจ ถ้าเป็นแค่การอักเสบการรักษาคือให้พักการใช้งาน ประคบเย็น และทานยาแก้อักเสบ ถ้าเป็นจากการติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะด้วย
อุปกรณ์บรรเทาอาการเส้นเอ็นอักเสบหรือถุงน้ำอักเสบมีหลายแบบ รูปคู่ทางซ้ายเป็นสายรัดศอกที่เสริมด้วยฟองน้ำหรือแผ่นเจลสำหรับกันกระแทก รูปคู่ทางขวาเป็นผ้าพันศอกสำหรับบรรเทาอาการเจ็บเฉพาะจุด โดยรูปสุดท้ายเป็นแบบที่มีแถบแม่เหล็กด้วย
กระดูกหัก
กระดูกข้อศอกหักมักเกิดจากการล้มโดยเอามือยันพื้น หรือล้มโดยเอาศอกลง การหักมีหลายลักษณะ อาจเป็นการหักภายในข้อหรือหักนอกข้อแต่มีผลกับข้อ อาจเป็นการหักที่กระดูกสองชิ้นยังไม่เคลื่อนออกจากกันหรือหักแล้วแยกจากกันโดยสิ้นเชิง และอาจเป็นการหักของกระดูกหลายชิ้นหรือหักชิ้นเดียวแต่แตกเป็นเสี่ยง ๆ
ถ้ากระดูกบริเวณข้อศอกหักข้อศอกจะบวมและปวดมาก ขยับไม่ได้ มีเสียงของปลายกระดูกหักเวลาขยับ อาจเห็นรอยช้ำใต้ผิวหนังหรือพบปลายกระดูกทิ่มออกมานอกเนื้อ ถ้ากระดูกเคลื่อนออกจากกันก็จะเห็นมุมของข้อศอกหรือแขนผิดรูป และถ้ามีการบาดเจ็บของเส้นประสาทด้วยก็จะชาลงมาที่แขนและมือ
ภาพรังสีจะช่วยบอกลักษณะการหักได้ รวมทั้งบอกสาเหตุพื้นฐานก่อนการหัก เช่น มีเนื้องอกอยู่เดิม เป็นต้น
การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นให้ใช้ไม้หรือของแข็งดามบริเวณกระดูกหักนั้นไว้ก่อน แล้วพันด้วยผ้า หากเลือดออกมากต้องกดด้วยผ้าตรงบาดแผลนั้น หากไม่มีแผลอาจประคบด้วยผ้าหุ้มน้ำแข็งตรงที่บวมในช่วงที่นำส่งโรงพยาบาล
ข้อหลุด
ข้อศอกเป็นข้อที่หลุดได้ง่ายที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ และเป็นที่สองรองจากข้อไหล่ในผู้ใหญ่ ข้อที่หลุดได้บ่อยมีสองข้อคือ
- ข้อพับศอก (Elbow dislocation)
ร้อยละ 90 มีกลไกการหลุดเช่นเดียวกับกระดูกหัก คือล้มแล้วเอามือยันพื้นขณะแขนเหยียด ลักษณะนี้เงี่ยงของกระดูกอัลนาจะเคลื่อนไปข้างหลัง ทำให้ปลายแขนสั้นลงและอยู่ในท่างอ โดยมีเงี่ยง olecranon ปูดออกไปทางหลังศอก ทำให้เส้นเลือดและเส้นประสาทที่พาดผ่านหลังศอกถูกยืดออก แต่ถ้าเป็นไม่นาน แพทย์ช่วยดึงให้ดึงข้อกลับเข้าที่ก็ยังใช้การได้ต่อ หลังดึงข้อกลับเข้าที่แล้วต้องเอกซเรย์ดูอีกครั้งว่ามีชิ้นส่วนของกระดูกอ่อนหักค้างอยู่ในข้อหรือไม่
อีกร้อยละ 10 เป็นการหลุดไปข้างหน้า หรือด้านข้าง ซึ่งเกิดจากแรงกระแทกที่ศอกในทิศทางต่าง ๆ กัน และส่วนใหญ่มักมีกระดูกหักร่วมด้วย
- ข้อคว่ำ-หงายมือ (Radial head subluxation)
เป็นภาวะที่มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ อาจเกิดจากความผิดปกติโดยกำเนิด (ซึ่งมักมีความผิดปกติของกระดูกแขนอย่างอื่นร่วมด้วย) หรือถูกดึงแขนขณะแขนเหยียดและคว่ำมือ (ดังรูป) ผู้ปกครองที่จูงมือเด็กจึงไม่ควรใช้พละกำลังดึงเวลาที่เด็กยังไม่ต้องการเดิน
เมื่อหัวกระดูกเรเดียสหลุด เด็กจะร้องไห้เพราะปวดที่ข้อศอกมาก และจะจับศอกไว้ในลักษณะคว่ำมือข้างที่ปวดนั้น การวินิจฉัยต้องดูที่แนว Radiocapitellar line ในเอกซเรย์
ถ้าไม่มีกระดูกอ่อนที่ใดหักด้วย แพทย์สามารถจัดข้อให้เข้าที่ได้โดยง่าย และเด็กสามารถใช้แขนได้ตามปกติในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดไป
ข้ออักเสบ
ข้อศอกก็เช่นเดียวกับข้ออื่น ๆ อาจเกิดการอักเสบจากโรคข้อ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาท์ โรคสะเก็ดเงิน โรคไรเตอร์ เป็นต้น แต่โดยทั่วไปข้อศอกไม่ใช่ข้อหลักที่โรคเหล่านี้ชอบ รายละเอียดของการวินิจฉัยแต่ละโรคดูได้จากข้ออักเสบโดยทั่วไป
ข้อติดเชื้อ (Septic arthritis)
ข้อศอกติดเชื้อพบได้น้อย มักเป็นในคนที่ภูมิต้านทานอ่อนแอ เช่น คนที่เป็นเบาหวาน ทานยาสเตียรอยด์กดภูมิต้านทานเป็นประจำ การติดเชื้ออาจมาจากการมีบาดแผลที่ผิวหนังก่อน หรือเกิดตามหลังการติดเชื้อที่อวัยวะอื่น
อาการคือจะมีไข้ หนาวสั่น ข้อบวม ปวด ร้อน ขยับไม่ได้สุดเหมือนปกติ การวินิจฉัยต้องเจาะน้ำไขข้อไปตรวจและเพาะเชื้อ
โรค Osteochondritis dissecans (OCD)
โรคนี้เกิดจากการขาดเลือดของกระดูกใต้กระดูกอ่อน (subchondral bone) และกระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage) ที่คลุมส่วนกระดูกดังกล่าวจะค่อย ๆ สึกและแตก ลอยเป็นชิ้นอยู่ภายในข้อ ทำให้ข้อติดเวลาขยับในบางครั้ง การติดขัดของข้อจะเป็นทันทีและเกิดซ้ำ ๆ พร้อมกับการเจ็บปวดแบบเสียดแทง และมีข้อบวม (มีน้ำในข้อตามมา) ภาพรังสีจะเห็นรอยแหว่งชัดเจนที่พื้นผิวข้อและชิ้นกระดูกลอยอยู่ในข้อ
สาเหตุของการขาดเลือดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โรคนี้มักพบในเด็กวัยรุ่นเพศชายที่เล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงมาก ข้อที่พบบ่อยตามลำดับคือข้อเข่า ข้อเท้า และข้อศอก โดยทั่วไปโรคนี้สามารถหายเองในเวลา 2-4 เดือน เมื่อเข้าเฝือกพักการใช้ข้อ เพราะกระดูกในเด็กยังมีการเจริญเติบโตอยู่ แต่ถ้าเศษของชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่หรือการแตกเกิดซ้ำ ๆ แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัด