เจ็บคอ (Sore throat)
ในหน้านี้จะกล่าวถึงอาการเจ็บคอภายในช่องปาก หากท่านมีอาการปวดลำคอกรุณาคลิกที่อาการปวดคอ
เจ็บคอเป็นอาการที่รู้สึกเจ็บ แสบ แห้ง หรือระคายคอหอยภายในช่องปาก อาการเป็นมากขึ้นเวลากลืนน้ำลายหรือพูด อาการเจ็บคอเกิดจากมีการอักเสบของผนังช่องคอ ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน โคนลิ้น หรือกล่องเสียง ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือภาวะที่ไม่มีการติดเชื้อ เช่น ภูมิแพ้ การสูดดมสารพิษ โรคกรดไหลย้อน การใช้เสียงมาก การมีท่อช่วยหายใจหรือสายยางป้อนอาหารคาอยู่ในปากเป็นเวลานาน การได้รับรังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด และมะเร็งในช่องปาก
ลักษณะของการเจ็บคอจากสาเหตุต่าง ๆ
ก. เจ็บคอจากการติดเชื้อ
การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนจะทำให้มีไข้ ปวดตามเนื้อตัว เป็นหลัก ถ้าเป็นมากจะมีอาการหนาวสั่นด้วย
หากเป็นการติดเชื้อไวรัส ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก จะแสดงอาการร่วมของระบบอื่น ๆ นอกจากอาการเจ็บคอ เช่น มีน้ำมูก คัดจมูก ไอ เสียงแหบ ตาแดง ปวดร้าวไปหู หูอื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ออกผื่นแดง เป็นต้น เมื่ออ้าปากดูในคอจะไม่พบความผิดปกติมากนัก (ดูรูปบนสุด) คือ เพดานอ่อนไม่แดงมาก ทอนซิลไม่มีจุดขาว ผนังคอไม่บวม และไม่มีต่อมน้ำเหลืองข้างคอที่กดเจ็บ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะดังรูปไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่จะยิ่งทำให้แบคทีเรียในช่องปากของเราตายและเชื้อไวรัสเจริญดีขึ้น โดยทั่วไปอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสจะดีขึ้นประมาณ 15-30 นาทีหลังจิบน้ำ และจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ ระหว่างนั้นให้จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ในเด็กอาจให้ทานยาลดไข้และยาบรรเทาอาการอื่น ๆ ได้ อาการโดยรวมควรจะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 4-5 วัน หลังจากนี้ถ้ามีอาการแทรก เช่น หอบเหนื่อย ปวดหู ออกผื่นหรือตุ่มน้ำ จึงค่อยพาไปพบแพทย์
หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบในเด็กโตและผู้ใหญ่บ่อยกว่า จะมีอาการเจ็บคอมากและรวดเร็ว จิบน้ำก็ไม่หายเจ็บ แต่จะยิ่งเจ็บเวลากลืน เมื่ออ้าปากดูในคอจะเป็นดังรูปที่ 2-4 คือเพดานอ่อนแดงมากและดูยุ่ย ๆ หรือมีจุดขาวที่ทอนซิล หรือผนังคอข้างใดข้างหนึ่งบวมจนดันลิ้นไก่ไปอีกข้างหนึ่ง ลักษณะเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแบบกินหรือฉีด ทางที่ดีควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและเพาะเชื้อในลำคอด้วย
หากเป็นการติดเชื้อรา ซึ่งไม่พบในคนปกติทั่วไป (ผู้ป่วยต้องเป็นโรคที่มีภูมิต้านทานต่ำอย่างใดอย่างหนึ่ง) จะเป็นลักษณะฝ้าขาวกระจายที่เพดานอ่อน ลิ้น กระพุ้งแก้ม เขี่ยหรือเช็ดไม่ออก ลักษณะนี้ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจโรคพื้นฐานให้แน่ชัดด้วย
ข. เจ็บคอจากภาวะที่ไม่มีการติดเชื้อ
การเจ็บคอจากภาวะที่ไม่มีการติดเชื้อมักไม่มีไข้ ไม่ปวดเนื้อตัว ไม่หนาวสั่น อาการเจ็บคอไม่รุนแรงนักแต่เป็นเรื้อรัง และจะมีลักษณะสำคัญของโรคนั้น ๆ มากกว่า เช่น หากเป็นการเจ็บคอจากภาวะภูมิแพ้จะจาม คันจมูก คันตา มีผื่นคัน และเกิดซ้ำแบบเดียวกันทุกครั้งที่สัมผัสกับสิ่งที่ผู้นั้นแพ้ หากเป็นการเจ็บคอจากโรคกรดไหลย้อน มักมีอาการแสบร้อนในอกเวลานอน โดยเฉพาะหลังทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ มีอาการเรอ มีน้ำเปรี้ยว ๆ ไหลขึ้นคอ อาจมีอาการไอและเสียงแหบเรื้อรัง หากเป็นการเจ็บคอจากมะเร็งในช่องปากก็จะเห็นก้อนผิดปกติ หรือมีอาการผ่ายผอมลงอย่างรวดเร็ว อาจรู้สึกมีไข้ต่ำ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ได้ มีต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโต แข็ง เป็นต้น
แนวทางการดูแลตนเองเมื่อเริ่มเจ็บคอ
วันที่ 1-2
หมั่นจิบน้ำอุ่นทุกครั้งที่รู้สึกคอแห้ง คอยสังเกตว่ามีไข้ ปวดเนื้อปวดตัวด้วยหรือไม่ สำรวจภายในช่องคอวันละ 3 เวลาดูว่ามีคอแดงจัด ทอนซิลมีจุดขาว หรือมีต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโตและกดเจ็บหรือไม่ ควรรีบไปตรวจกับแพทย์เมื่อพบอาการดังต่อไปนี้
- วัดไข้ได้ตั้งแต่ 39ºC ขึ้นไป
- ปวดเนื้อตัวมาก ลุกแทบไม่ไหว
- กลืนน้ำลายแทบไม่ได้เพราะเจ็บคอมาก
- มีคอแดงจัด หรือทอนซิลมีจุดขาว หรือมีต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโตและกดเจ็บ
วันที่ 3-4
ผู้ที่อาการเป็นน้อยช่วงนี้จะเริ่มดีขึ้น ผู้ที่ยังไม่ดีให้พักผ่อน หมั่นจิบน้ำอุ่นทุกครั้งที่รู้สึกคอแห้ง น้ำที่ช่วยให้คอชุ่มอยู่ได้นานคือน้ำขิงผสมน้ำผึ้งและน้ำมะนาว คอยวัดไข้เมื่อรู้สึกว่าตัวร้อน สำรวจภายในช่องคอวันละ 3 เวลาดูว่ามีคอแดงจัด ทอนซิลมีจุดขาว หรือมีต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโตและกดเจ็บหรือไม่ หลีกเลี่ยงการนอนในห้องแอร์ ในเด็กที่มีน้ำมูกหรือไอมากควรสังเกตอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็วจนจมูกบาน และหมั่นสอบถามด้วยว่าเด็กมีหูอื้อหรือปวดหูหรือไม่ ไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- วัดไข้ได้ตั้งแต่ 38.5ºC ขึ้นไป
- ปวดเนื้อตัวมาก ลุกแทบไม่ไหว
- กลืนน้ำลายแทบไม่ได้เพราะเจ็บคอมาก
- อ้าปากลำบาก
- มีคอแดงจัด หรือทอนซิลมีจุดขาว หรือมีต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโตและกดเจ็บ
- ไอมีเสมหะปนเลือด หรือไอมากจนเหนื่อย พูดไม่จบประโยคก็ต้องไอหรือหยุดหายใจ
- ปวดหูหรือหูอื้อ
- ออกผื่นหรือตุ่มน้ำตามตัว
- ปวดข้อ มีข้อบวม
- ปัสสาวะมีเลือดปน
วันที่ 5-7
ผู้ที่เป็นจากการติดเชื้อไวรัสช่วงนี้อาการเจ็บคอจะเริ่มดีขึ้น ไข้ลด อาการเฉพาะโรคก็จะปรากฏชัดขึ้น บางรายอาจมีผื่นหรือตุ่มน้ำให้เห็น เด็กที่ไอจนหอบก็จะค่อย ๆ ทุเลาลง ขณะที่ผู้ที่เป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะยังคงเจ็บคอมากอยู่ ถ้าส่องกระจกดูในคอก็อาจเห็นคอหอยแดงขึ้น อาจเริ่มมีจุดขาวที่ทอนซิล ผู้ที่ยังคงมีอาการเจ็บคออยู่จนถึงวันที่ 5 ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดไม่ว่าจะมีไข้ด้วยหรือไม่
วันที่ 8-14
เมื่อพ้นหนึ่งสัปดาห์ อาการเจ็บคอที่ยังคงเป็นอยู่จะตัดสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสออกไป หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะแสดงอาการชัดเจนมาก คือ ไข้ไม่ลด เจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายแทบไม่ได้ อ้าปากมักเห็นต่อมทอนซิลโต และมักกดเจ็บที่ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกร กรณีนี้ควรได้รับยาปฏิชีวนะจากแพทย์และควรทานยาให้ครบตามจำนวนวัน
ในกรณีที่ไม่มีไข้หรืออาการดังกล่าวไม่ชัดเจนให้นึกถึงสาเหตุที่ไม่ใช่การติดเชื้อ สังเกตอาการร่วมอื่น ๆ เช่น เสียงแหบ มีก้อนที่คอแต่ไม่เจ็บ สังเกตจังหวะเวลาที่เกิดอาการเจ็บคอ และทบทวนประวัติการรักษามาก่อนหน้านี้ ถ้าไม่แน่ใจว่ามีสาเหตุจากอะไรก็ควรไปให้แพทย์ตรวจให้ละเอียดอีกครั้ง