ถ่ายเป็นเลือด (Hematochezia)
การมีเลือดสด ๆ ออกมาจากทวารหนัก หรือการถ่ายอุจจาระโดยมีเลือดปนออกมาด้วยเป็นอาการแสดงของการมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง และเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์เช่นเดียวกับอาการอาเจียนเป็นเลือด
ถ้าเลือดที่ออกนั้นเป็นลักษณะที่หยดตามหลังลำอุจจาระที่ค่อนข้างแข็ง โดยเลือดไม่ปนกับอุจจาระ อันนี้กว่า 90 % เป็นจากริดสีดวงทวาร ซึ่งไม่มีอันตรายอะไรมาก เลือดที่ออกเกิดจากการมีเส้นเลือดดำขอดที่ปลายทวารหนัก (จากการที่ท้องผูกและต้องเบ่งอุจจาระออกมาเป็นประจำ) ขณะที่เบ่งอุจจาระอย่างแรงจะทำให้เส้นเลือดเหล่านี้โป่งพองขึ้น และเมื่อลำอุจจาระที่แข็งครูดผ่านเส้นเลือดเหล่านี้ก็อาจทำให้ผนังเส้นเลือดที่บางปริออก แล้วมีเลือดหยดตามก้อนอุจจาระออกมา แต่เมื่ออุจจาระผ่านไปแล้วแรงดันภายในทวารหนักหายไป ผนังเส้นเลือดดำเหล่านี้ก็สามารถสมานตัวติดกันได้เหมือนเดิม ความรุนแรงของริดสีดวงทวารอยู่ที่การมีเลือดออกแบบนี้เรื้อรังจนเกิดภาวะโลหิตจาง หรือการติดเชื้อซ้ำจนเส้นเลือดอักเสบ ปวด บวม ร้อน คล้ายมีฝีที่ก้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวจึงสมควรไปพบแพทย์
แต่ถ้าเป็นกรณีที่เลือดคลุกปนมากับอุจจาระจนทำให้เนื้ออุจจาระเปลี่ยนไป หรือสีของอุจจาระเปลี่ยนไป อันนี้จะต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาจุดเลือดออกที่อยู่สูงขึ้นไปจากปลายทวารหนัก
สาเหตุของการถ่ายเป็นเลือด
สาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่างแบ่งตามอายุได้ดังนี้
แรกเกิด - 1 เดือน
- แผลที่ทวารหนัก
- กลืนเลือดของมารดาเข้าไป
- แพ้นมวัว
- Necrotizing enterocolitis (NEC)
- ลำไส้บิดเกลียว
- หลอดเลือดผิดปกติ
- Hirschsprung’s enterocolitis
น้อยกว่า 1 ปี
- แผลที่ทวารหนัก
- อาหารเป็นพิษ
- การติดเชื้อในทางเดินอาหาร
- แพ้นมวัว
- ลำไส้กลืนกัน
- Meckel’s diverticulum
- ลำไส้บิดเกลียว
- หลอดเลือดผิดปกติ
- Lymphonodular hyperplasia
อายุ 1-15 ปี
- การติดเชื้อในทางเดินอาหาร
- แผลที่ทวารหนัก
- ติ่งเนื้อในลำไส้
- Meckel’s diverticulum
- ลำไส้กลืนกัน
- Lymphonodular hyperplasia
- Henoch-Schonlein purpura
- หลอดเลือดผิดปกติ
- Hemolytic uremic syndrome
- Inflammatory bowel disease
อายุ 15 ปีขึ้นไป
- ริดสีดวงทวาร
- ถุงที่ผนังลำไส้ใหญ่ (ทั้งที่อักเสบและไม่อักเสบ)
- Angiodysplasia
- Meckel’s diverticulum
- Inflammatory bowel disease
- ติ่งเนื้อในลำไส้
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- ลำไส้ขาดเลือด
- ลำไส้อักเสบหลังการฉายแสง
- ภาวะที่มีเลือดออกง่าย
แนวทางตรวจรักษา
อาการถ่ายเป็นเลือดที่ไม่ใช่ลักษณะของริดสีดวงทวาร ส่วนใหญ่เลือดที่ออกมาให้เราเห็นมักน้อยกว่าที่ออกจริง เพราะบางส่วนยังคงค้างอยู่ในลำไส้ ดังนั้นจึงต้องประเมินด้วยการวัดความดันโลหิต ชีพจร และการตรวจเลือด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะให้นอนในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
นอกจากอายุแล้ว อาการร่วมอื่น ๆ ยังช่วยในแง่การวินิจฉัยมาก ประวัติการมีไข้ ปวดท้อง ทำให้นึกถึงการอักเสบและติดเชื้อ ประวัติการมีแผลที่ทวารหนัก, ริดสีดวงทวาร, โรคเลือด, ได้รับการฉายแสง เหล่านี้ทำให้จับสาเหตุของเลือดออกได้เร็วขึ้น ในเด็กเล็กที่มีท้องโต ปวดท้องมาก จะนึกถึงภาวะลำไส้กลืนกันหรือลำไส้บิดเกลียว ส่วนในผู้ใหญ่จะนึกถึงเนื้องอกและภาวะลำไส้ขาดเลือด
อุจจาระที่มีลักษณะเป็นมูกปนเลือดจะนึกถึงการติดเชื้อในทางเดินอาหาร เช่น โรคบิดมีตัว (Amebiasis), โรคบิดไม่มีตัว (Shigellosis), โรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ, โรคหนอนพยาธิ หากตรวจไม่พบเชื้อก็มีโอกาสเป็นโรคลำไส้อักเสบ, มะเร็งลำไส้ใหญ่, หรือลำไส้ขาดเลือด
ในการตรวจร่างกาย แพทย์อาจต้องใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักเพื่อดูลักษณะของอุจจาระให้แน่ชัด ตรวจหาก้อน และตรวจหาความผิดปกติอย่างอื่นรอบทวารหนัก จากนั้นแพทย์จะส่งตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ และให้งดอาหารเพื่อเตรียมการตรวจพิเศษในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นการเอกซเรย์สวนแป้งหรือการส่องกล้องเข้าทางทวารหนัก ในระหว่างนี้ผู้ป่วยจะได้รับน้ำเกลือหรืออาจจะได้เติมเลือดถ้าจำเป็น ปัจจุบันยังมีการเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรยย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (ซีทีโคโรโนกราฟฟี่ 64 สไลด์) ซึ่งทำให้ได้รูปลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องส่องกล้อง ฉีดสี หรือสวนแป้งใด ๆ