ปวดข้อไหล่ (Shoulder pain)

ข้อไหล่เป็นข้อเดียวในร่างกายที่สามารถหมุนได้รอบเกือบ 360 องศา ประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกต้นแขน กระดูกสะบัก และกระดูกไหปลาร้า ต่อกันโดยมี 2 ข้อที่สำคัญ คือ Glenohumoral joint (ลูกศรสีดำ) เชื่อมระหว่างกระดูกต้นแขนกับกระดูกสะบัก และ Acromioclavicular joint (ลูกศรสีน้ำตาล) เชื่อมระหว่างเงี่ยง Acromion ของกระดูกสะบักกับกระดูกไหปลาร้า

โครงสร้างของข้อไหล่ยังประกอบไปด้วยเส้นเอ็น ถุงน้ำ กระดูกอ่อนลาบรัม แคปซูลหุ้มข้อ กล้ามเนื้อ Deltoid กล้ามเนื้อ Biceps และกล้ามเนื้อ Rotator cuff อีก 4 มัดที่เกาะยึดระหว่างกระดูกต้นแขนกับกระดูกสะบัก (ในรูปแสดงกล้ามเนื้อ Rotator cuff มัดเดียวคือ Supraspinatus) โดยปกติเส้นเอ็น ถุงน้ำ และกระดูกอ่อนเป็นส่วนที่เกิดการบาดเจ็บและอักเสบได้ง่ายกว่าตัวข้อ ในหน้านี้จะกล่าวถึงวิธีการตรวจด้วยตนเองว่าอาการปวดหัวไหล่นั้นเกิดจากอวัยวะส่วนใด

เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis)

เส้นเอ็นที่บาดเจ็บจากการใช้งานมากจนเกิดการอักเสบได้บ่อยสองอันดับแรกคือ

  1. เส้นเอ็นของ Rotator cuff ที่ชี้ในรูป (ใต้ถุงน้ำ)
  2. เส้นนี้เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายที่สุด เพราะเวลายกแขน เอ็นเส้นนี้จะถูกบีบอยู่ระหว่างหัวกระดูกต้นแขนกับ Acromion process ซึ่งเป็นเงี่ยงหนึ่งของกระดูกสะบัก การยกแขนขึ้นจนสุดแล้วเหวี่ยงไปข้างหน้า (ท่าเสริฟลูกเทนนิส) จะทำให้เอ็นเส้นนี้ถูไปกับกระดูก Acromion แม้ร่างกายจะสร้างให้มีถุงน้ำมากั้นแล้ว แต่ถ้าทำท่านี้เป็นประจำ เอ็นเส้นนี้จะได้รับบาดเจ็บ (อักเสบ) ไปเรื่อย ๆ เกิดการถลอกซ้ำ ๆ หรืออาจถึงขั้นฉีกขาด วิธีการตรวจว่าอาการปวดไหล่เป็นจากเอ็นเส้นนี้อักเสบหรือไม่ทำได้โดย

  3. เส้นเอ็นของกล้ามเนื้อ Biceps (เส้นสียาว ๆ ที่ทอดผ่านร่องของหัวกระดูกต้นแขนขึ้นไปเกาะที่เหนือแคปซูลหุ้มข้อ)
  4. กล้ามเนื้อ Biceps ทำหน้าที่งอศอกขณะที่หงายมือ (ท่าหิ้วกระเป๋าของผู้หญิง) ระหว่างที่งอศอก กล้ามเนื้อจะหดตัวเข้าไปอยู่ในร่องของหัวกระดูกต้นแขน และในท่ายกต้นแขนขึ้นเหนือศีรษะ เส้นเอ็นของมันก็ถูกบีบเช่นเดียวกับเอ็นของ Rotator cuff แต่น้อยกว่า ในการเล่นกีฬาที่ต้องมีการงอศอกพร้อมกับยกต้นแขนขึ้นเหนือศีรษะเร็ว ๆ และซ้ำ ๆ เช่น ท่าว่ายน้ำ ท่าขว้างลูกเบสบอล จะทำให้ส่วนปลายของกล้ามเนื้อถูไถไปในร่องของกระดูกขณะที่เส้นเอ็นส่วนบนก็ถูไปกับกระดูก Acromion ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย วิธีการตรวจว่าอาการปวดไหล่เป็นจากเส้นเอ็น Biceps อักเสบใช่หรือไม่ทำได้โดย

    ปกติเส้นเอ็นทั้งสองเส้นนี้มักอักเสบไปพร้อม ๆ กัน หรือเกิดที่ Rotator cuff ก่อน แล้วเมื่อเป็นเรื้อรังเส้นเอ็น Biceps ก็จะอักเสบตามมา

ถุงน้ำอักเสบ (Subacromial bursitis)

ถุงน้ำที่หัวไหล่มักอักเสบไปพร้อม ๆ กับ เส้นเอ็น Rotator cuff ทำให้มีอาการทั้งบวมและปวดมาก ยกแขนขึ้นหวีผมไม่ได้ ใส่เสื้อยึดไม่ได้ ถ้าเอามือบีบที่หัวไหล่จะปวดมาก ส่วนใหญ่อาการจะค่อนข้างชัดแล้ว แต่มีหลายวิธีที่สามารถตรวจให้แน่ใจว่าเป็นถุงน้ำอักเสบในกรณีที่อาการเป็นไม่มาก ตัวอย่างเช่น

  1. ยืนแล้วกางแขนข้างทั้งสองข้างออกไปด้านข้าง (เหมือนกำลังบิน) ให้ส่วนแขนขนานไปกับพื้น แล้วค่อย ๆ หุบแขนลง ช่วงที่หุบลงไปประมาณ 45 องศาจะรู้สึกปวดที่หัวไหล่ข้างที่มีถุงน้ำอักเสบ
  2. ยืนตัวตรง เตรียมจะกางแขนข้างที่ปวดไหล่ขณะที่ผู้ช่วยดันมือของท่านไว้ให้ติดตัวท่าน ไม่ให้ท่านกางแขนออกได้ จากนั้นผู้ช่วยจะปล่อยมือที่ต้านทันที แขนของท่านจะกางขึ้นไปโดยเร็ว ถ้ามีถุงน้ำอักเสบจะมีอาการปวดไหล่ช่วงที่แขนกาง หากอาการปวดไม่ชัดลองทำที่แขนอีกข้างหนึ่งเทียบกัน
  3. ยืนตัวตรง หมุนมือให้หลังมือทั้งสองข้างหันเข้าหาลำตัว (ฝ่ามือหันออกด้านนอก) แล้วยกแขนขึ้นไปข้างหน้าให้แขนขนานไปกับพื้น นิ้วหัวแม่มือชี้ลง จากนั้นให้ผู้ช่วยกดที่ศอกของท่านให้ลดแขนลงขณะที่ท่านต้านไว้ ถ้ามีถุงน้ำอักเสบจะรู้สึกปวดที่หัวไหล่ข้างนั้น

ในรายที่มีเอ็นอักเสบก็จะปวดไหล่ได้คล้ายกันเมื่อทำการตรวจด้วย 3 ท่าดังกล่าว การเอกซเรย์ข้อไหล่และการทำ MRI ข้อไหล่ก็จะช่วยให้เห็นอวัยวะที่อักเสบทั้งหมดได้ชัดขึ้น

กระดูกอ่อนลาบรัมฉีกขาด (Labrum tear)

ปกติลาบรัมของข้อไหล่เป็นกระดูกอ่อนที่บุอยู่ตามขอบของเบ้ากลีนอยด์ (glenoid) ของกระดูกสะบัก (scapula) คล้ายกระดูกอ่อนเมนิสคัสของข้อเข่า เพื่อป้องกันการเสียดสีของหัวกระดูกต้นแขนกับขอบของเบ้าเวลาที่เราหมุนหัวไหล่ มีอุบัติเหตุบางท่าที่มักทำให้ลาบรัมฉีกขาด ได้แก่

  • การตกลงบนแขนที่เหยียดตรง
  • การตกโดยเอาหัวไหล่ลง
  • การยกของหนักมาก ๆ ขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ใช้งานแขนในลักษณะที่ต้องยกขึ้นเหนือศีรษะบ่อย ๆ เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก นักขว้างลูกเบสบอล นักตบลูกวอลเลย์บอล นักเทนนิส

การฉีกขาดมักเป็นใน 2 ลักษณะ คือ แบบ SLAP กับ แบบ Bankart ดังรูป บางครั้งการฉีกขาดของลาบรัมอาจมีขอบของเบ้ากระดูกสะบักหลุดติดมาด้วย ในกรณีนี้แคปซูลหุ้มข้อก็มักจะพลอยฉีกขาดไปด้วย

หากลาบรัมฉีกขาดจะมีอาการปวดไหล่เวลายกแขนขึ้นเหนือศีรษะ อาจมีเสียงคลิกหรือมีไหล่ติดขณะขยับ การหมุนหัวไหล่โดยรอบ 360 องศาก็ทำให้ปวด

การวินิจฉัยจำเป็นต้องทำ MRI arthrogram (คือฉีดสารทึกรังสีเข้าในข้อไหล่พร้อมกับทำ MRI) หรือทำการส่องกล้องเข้าไปดูในข้อโดยแพทย์ศัลยกรรมกระดูก

ข้อไหล่เคลื่อน (Shoulder dislocation)

แคปซูลของข้อไหล่เป็นเนื้อเยื่อที่หนาและยืดหยุ่นได้ การเคลื่อนของข้อไหล่อาจเกิดจากเส้นเอ็นหย่อน/ขาดและแคปซูลหลวมเท่านั้น หรืออาจจากการบาดเจ็บจนแคปซูลฉีกขาดก็ได้

อาการของข้อไหล่เคลื่อนจะเห็นได้ชัด คือนอกจากจะปวดมากแล้วไหล่ยังดูผิดรูป คลำได้หัวของกระดูกต้นแขนปูดออกมาทางด้านหน้าหรือข้างในรักแร้ และรู้สึกว่าไหล่ตก ต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งรับน้ำหนักแขนไว้ ถ้าข้อเคลื่อนไปทางด้านหลัง ผู้ป่วยมักจะหนีบต้นแขนและหมุนเข้าหาตัว (มือกุมท้องไว้) ในคนผอมจะเห็นหัวกระดูกต้นแขนปูดออกมาทางด้านหลัง

ร้อยละ 40 ของข้อไหล่เคลื่อนจะดึงรั้งเส้นประสาท axillary ให้ตึงด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการชาหรือเป็นเหน็บที่แขนข้างนั้น ซึ่งต้องรีบไปพบศัลยแพทย์กระดูกและข้อโดยด่วน

ผู้ป่วยที่มีข้อไหล่หลุดซ้ำบ่อย ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการบาดเจ็บที่รุนแรงจนโครงสร้างข้อไหล่ไม่มั่นคง ขณะยกแขนสูงกว่าระดับไหล่ หรือนอนยกแขนก่ายหน้าผาก ข้อไหล่อาจหลุดได้ง่าย ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถดึงหัวไหล่กลับเข้าที่ได้เอง แต่ก็รบกวนชีวิตประจำวัน การรักษาขั้นต้นคือการบริหารกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ให้แข็งแรงขึ้น ถ้ายังหลุดอยู่อีกก็จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมขอบกระดูกอ่อนลาบรัม แคปซูลหุ้มข้อ หรือเสริมกระดูกส่วนที่แตก ในปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อได้รับความนิยมมากขึ้น หลังผ่าตัดต้องพัก 6 สัปดาห์ จากนั้นทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องอีกประมาณ 3 เดือนจึงจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder)

ข้อไหล่ติดเกิดจากการอักเสบและหนาตัวลงของแคปซูลหุ้มข้อ พบได้บ่อยในคนที่เป็นเบาหวาน ในคนทั่วไปมักเป็นหลังจากที่ไม่มีการใช้งานหัวไหล่มาระยะหนึ่งจากการบาดเจ็บหรือจากโรคที่เป็น แต่เป็นโรคที่สามารถดีขึ้นได้ด้วยตัวเองในเวลา 2-3 ปี

อาการของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

  1. ระยะปวด (freezing stage) เป็นระยะที่มีอาการปวดไหล่เวลาขยับ ผู้ป่วยจะเริ่มไม่ขยับหัวไหล่และใช้งานแขนข้างนั้นน้อยลงเนื่องจากเจ็บ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2-9 เดือน ระยะนี้ควรประคบเย็นประมาณ 15-20 นาทีเมื่อมีอาการปวดและบวม หรืออาจทานยาแก้อักเสบเพื่อบรรเทาอาการปวด
  2. ระยะติด (frozen stage) เป็นระยะที่อาการปวดค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ข้อติดไปแล้ว ทำให้ขยับไม่สะดวก ระยะนี้กินเวลาอีกประมาณ 4-12 เดือน พอเริ่มหายปวดควรค่อย ๆ เริ่มออกกำลังทำกายภาพหัวไหล่ดังรูป
  3. ระยะหาย (thawing stage) เป็นระยะที่การเคลื่อนไหวของข้อค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ ใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปี

การผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากที่รักษาด้วยยาและการทำกายภาพแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น การผ่าตัดส่องกล้องแพทย์จะทำเปิดผ่ารูเล็ก ๆ รอบหัวไหล่ 2-3 รู เพื่อสอดกล้องและเครื่องมือเข้าไปจัดการกับคลายส่วนของแคปซูลที่ผิดปกติ ภายหลังการผ่าตัดยังต้องทำการฝึกกล้ามเนื้อและทำกายภาพอีก 2-6 เดือนเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

ความผิดปกติที่ข้อ Acromioclavicular joint

ข้อนี้ไม่ใช่ข้อไหล่โดยตรง แต่เป็นข้อต่อระหว่างเงี่ยงกระดูกสะบัก (acromion) กับกระดูกไหปลาร้า เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับข้อไหล่ เนื่องจากข้อนี้อยู่ใกล้กันกับข้อไหล่มาก เวลาเกิดความผิดปกติจึงทำให้เกิดอาการปวดไหล่ได้เหมือนกัน ความผิดปกติของข้อนี้มีตั้งแต่ ข้ออักเสบ เอ็นขาด และข้อหลุดจากกัน ซึ่งมักพบในนักกีฬารักบี้

ผู้ที่มีความผิดปกติของข้อนี้จะมีอาการปวดตรงหัวไหล่ด้านบน โดยจะปวดมากขึ้นเวลานอนตะแคงทับไหล่ข้างนั้น หากมีเอ็นฉีกขาดบางส่วน ข้อจะแยกออกจากกันได้ วิธีตรวจคือ

ข้อไหล่อักเสบ

ภาวะข้อไหล่อักเสบพบได้น้อยกว่าข้ออื่น ๆ ในร่างกาย การอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อ การบาดเจ็บของอวัยวะรอบข้อจนทำให้หัวกระดูกกระแทกกัน การบาดเจ็บจากการเป็นอัมพาต ชา ไม่รู้สึก หรือการขาดเลือดไปเลี้ยง โรคเกาท์ โรครูมาตอยด์ เนื้องอก และความเสื่อมของข้อเอง

อาการแสดงของข้ออักเสบคือการบวมและมีน้ำไขข้อเพิ่มขึ้น การอักเสบเฉียบพลันมักมีไข้ด้วย อาการปวดจะปวดไปทุกท่าที่เคลื่อนไหว กดเจ็บในทุกตำแหน่ง การเอกซเรย์และตรวจน้ำไขข้อจะช่วยวินิจฉัยสาเหตุได้