ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

ปวดประจำเดือน หมายถึง การปวดบริเวณท้องน้อยที่สัมพันธ์กับรอบเดือน การปวดประจำเดือนมีทั้งแบบที่ไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพ (primary dysmenorrhea, ปวดประจำเดือนปฐมภูมิ) และแบบที่เกิดจากพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน (secondary dysmenorrhea, ปวดประจำเดือนทุติยภูมิ)

การปวดประจำเดือนปฐมภูมิเป็นภาวะปกติของการมีรอบเดือนโดยทั่วไป เนื่องจากบางครั้งมดลูกหดเกร็ง (เพื่อขับเลือดออกมา) จนทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงถูกบีบรัดไปด้วย จนทำให้มดลูกขาดเลือด อาการปวดประจำเดือนปฐมภูมิอาจรุนแรงในช่วงวัยสาว โดยเฉพาะภายใน 3 ปีแรกของเด็กที่เริ่มมีระดู ลักษณะคือจะเริ่มปวดก่อนระดูมาไม่กี่ชั่วโมงและอยู่เพียง 1-2 วันแรกที่ประจำเดือนมา โดยจะปวดมวนบริเวณท้องน้อยเหนือหัวเหน่า ไม่เลยขึ้นมาเหนือสะดือ และไม่สัมพันธ์กับการกดหรือไม่กดท้อง อาจมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ซึ่งถ้าเอามือกดท้องไว้อาการปวดบิดจะดีขึ้น บางรายอาจรู้สึกตัวรุม ๆ ปวดศีรษะ ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย เมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดประจำเดือนปฐมภูมิจะค่อย ๆ บรรเทาเบาบางลง

การปวดประจำเดือนปฐมภูมิสามารถทุเลาลงได้ง่ายเมื่อทานยาแก้ปวดธรรมดาเพียง 1-2 เม็ด ส่วนใหญ่เพียงได้นั่งหรือนอนพักก็จะรู้สึกทนได้

อาการปวดประจำเดือนที่ผิดไปจากข้างต้นถือเป็นการปวดประจำเดือนทุติยภูมิทั้งสิ้น ซึ่งอาจมีลักษณะ (แต่ไม่จำกัด) ดังต่อไปนี้

อาการปวดประจำเดือนทุติยภูมิทุกรูปแบบจำเป็นต้องได้รับการตรวจอัลตราซาวด์หาความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ที่อาจมี

สาเหตุของการปวดประจำเดือนทุติยภูมิ

สาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดประจำเดือนแตกต่างจากคนทั่วไปอาจเกิดจาก

  1. ความผิดปกติที่มดลูก
    • มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งตอบสนองต่อฮอร์โมนเจริญเข้าไปในส่วนอื่น ถ้าเจริญเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกจะเรียกว่า Adenomyosis ถ้าเจริญอยู่ในอวัยวะอื่นจะเรียกว่า Endometriosis ที่พบบ่อยคืออยู่ที่รังไข่ ท่อนำไข่ เนื้อเยื่อด้านหลังของมดลูก และที่กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น สองภาวะนี้ถือเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยของอาการปวดประจำเดือนทุติยภูมิ
    • มีเนื้องอกไม่ร้ายภายในมดลูกที่เรียกกันว่า Uterine fibroids หรือ Myoma uteri ถ้ามีขนาดเล็กแค่เป็นติ่งเนื้อก็จะเรียกว่า Endometrial polyps
    • มีห่วงคุมกำเนิดอยู่ภายในมดลูก
    • มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก
    • ตั้งครรภ์แล้วแท้ง

  2. ความผิดปกติที่รังไข่ เช่น มีถุงน้ำหรือเนื้องอกที่รังไข่
  3. ความผิดปกติที่อุ้งเชิงกราน
    • มีพังผืดภายในอุ้งเชิงกราน ทำให้อวัยวะยึดติดกัน การหดตัวของมดลูกอาจมีการดึงรั้งพังผืดให้ตึงมากขึ้น
    • มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease)

  4. ความผิดปกติของอวัยวะอื่น เกิดร่วมกันในขณะมีประจำเดือน
    • ไส้ติ่งอักเสบ
    • ลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease)
    • ถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)
    • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
    • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Interstitial cystitis)
    • นิ่วอุดท่อไต

แนวทางการวินิจฉัย

สูตินรีแพทย์จะทำการซักประวัติรอบเดือน ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการผ่าตัด ประวัติโรคภายในสตรีที่เคยเป็น รวมทั้งโรคประจำตัวอื่น ๆ จากนั้นจะสอบถามลักษณะอาการปวดท้องที่สงสัยว่าจะเกิดจากความผิดปกติโดยละเอียด

ในรายที่อาการปวดเข้าได้กับการปวดประจำเดือนทุติยภูมิ แพทย์จะทำการตรวจภายในและตรวจอัลตราซาวด์เป็นหลัก ซึ่งมักจะให้ข้อมูลพอว่าจะต้องตรวจเพิ่มไปในแนวทางใด บางครั้งแพทย์อาจต้องตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์ เอกซเรย์ช่องท้อง หรือตรวจเลือดเพิ่ม หากมีความจำเป็นก็จะส่องกล้องดูภายในอุ้งเชิงกรานและทำการตรวจชิ้นเนื้อด้วย

แนวทางการรักษา

ถ้าการตรวจพบความผิดปกติ การรักษาก็จะมุ่งเป้าที่สาเหตุ ถ้าตรวจไม่พบความผิดปกติ ซึ่งก็ยังอาจเป็นภาวะ adenomyosis หรือ endometriosis ได้อยู่ (เพราะผลการสุ่มตรวจชิ้นเนื้ออาจยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้) แพทย์อาจใช้ฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกร่วมกับยาแก้ปวดชนิด NSAIDs ดูก่อน หากไม่ได้ผลถึงจะทำการตัดมดลูก

กรณีที่เป็นการปวดประจำเดือนปฐมภูมิ แพทย์อาจให้ยาต้านการบิดเกร็ง (Antispasmodics) เช่น ไฮออสซีน (Hyoscine) หรือยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ลด Prostaglandins เช่น กลุ่ม NSAIDs, COX-2 inhibitors ผู้ป่วยอาจใช้ผ้าร้อนประคบหน้าท้องหรือใช้วิธีนวดหลังส่วนล่าง และควรงดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวยิ่งขึ้น