เม็ดเลือดขาวมาก (สูง) (Leukocytosis)

จำนวนเม็ดเลือดขาวปกติขึ้นกับอายุและภาวะมีครรภ์ ยังไม่มีตัวเลขตรงกันของแต่ละสถาบันว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวรวมที่ปกติเป็นเท่าไร บ้างก็ใช้ตัวเลข 5,000-10,000 cells/μL (5-10 x 109/L) เพราะจำง่าย ห้องแล็บของโรงพยาบาลศิริราชใช้ตัวเลข 4,400-10,300 cells/μL (4.4-10.3 x 109/L) แต่นิยามโดยทั่วไปของผู้ใหญ่ปกติที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ เม็ดเลือดขาวมากหรือสูงผิดปกติ หมายถึง มีจำนวนเม็ดเลือดขาว มากกว่า 11,000/μL (11.0 x 109/L) หากสูงถึง 50,000-100,000/μL จะเรียกว่า "Leukemoid Reaction" และถ้าสูงเกิน 100,000/μL จัดเป็นภาวะวิกฤติ เพราะจะมีเลือดหนืดข้นจนไหลเวียนลำบาก มักพบในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เช่นเดียวกับภาวะเม็ดเลือดขาวน้อย เม็ดเลือดขาวรวมที่มากผิดปกติ ต้องดูว่าเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดใดที่สูงขึ้น โดยคูณเปอร์เซนต์ของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดกับจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด ก็จะได้จำนวนเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดออกมา

ภาวะนิวโตรฟิลสูง (Neutrophilia)

เม็ดเลือดขาวมากส่วนใหญ่จะตกอยู่ในกลุ่มนี้ ภาวะนิวโตรฟิลสูง หมายถึง จำนวนนิวโตรฟิล > 7,000/μL (7.0 × 109/L) สาเหตุได้แก่

  1. การติดเชื้อแบคทีเรีย
  2. การอักเสบ เช่น ข้ออักเสบ ลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel diseases) ตับอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis)
  3. จากยา เช่น สเตียรอยด์, ยาขยายหลอดลมกลุ่ม beta-agonists, lithium, epinephrine, ยากระตุ้นไขกระดูก (colony-stimulating factors)
  4. ภาวะเครียดมาก เช่น ออกกำลังกายอย่างหนัก หลังผ่าตัด หลังการชัก หลังการขาดออกซิเจน หลังประสบเหตุการณ์ที่ทำให้กลัวมาก ถูกไฟไหม้ตัว
  5. ภาวะเสียเลือด
  6. ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
  7. ภาวะ immune thrombocytopenia
  8. ภาวะฟื้นตัวของไขกระดูกหลังถูกกดด้วยยา
  9. การสูบบุหรี่
  10. มีครรภ์
  11. มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  12. ความผิดปกติทางเมตาบอลิก เช่น DKA, Thyrotoxicosis, Uremia
  13. มีการตายของเนื้อเยื่อ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื้อสมองตายจากหลอดเลือดอุดตัน
  14. โรคทางกรรมพันธุ์ เช่น Hereditary/chronic idiopathic neutrophilia, Down syndrome, Leukocyte adhesion deficiency
  15. ภาวะไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน

สาเหตุสำคัญของนิวโตรฟิลสูงขึ้นคือการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักมีไข้และมีอาการของอวัยวะที่ติดเชื้อร่วมด้วย ความรุนแรงของการติดเชื้อดูได้จากระดับของนิวโตรฟิลที่สูงขึ้น + มี "left shift" คือมีตัวอ่อนของนิวโตรฟิลที่นิวเคลียสยังไม่แยกเป็นก้อนเล็ก ๆ (band form) ออกมาในกระแสเลือด ± มี "toxic granules" อยู่ภายในไซโตพลาสซึมของนิวโตรฟิล หากมีครบทั้งไข้ อาการของอวัยวะที่ป่วย และนิวโตรฟิลสูง แพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อก่อน

ภาวะลิมโฟไซต์สูง (Lymphocytosis)

หมายถึง จำนวนลิมโฟไซต์ > 4,500/μL (4.5 × 109/L) สาเหตุได้แก่

  1. การติดเชื้อไวรัส ปรสิต และแบคมีเรียบางชนิด เช่น ไอกรน วัณโรค ริกเค็ทเซีย บาบีเซีย บาร์โตเนลลา
  2. การสูบบุหรี่
  3. ภาวะไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน
  4. ภาวะเครียดมาก เช่น ออกกำลังกายอย่างหนัก หลังผ่าตัด หลังการชัก หลังการขาดออกซิเจน หลังประสบเหตุการณ์ที่ทำให้กลัวมาก ถูกไฟไหม้ตัว
  5. ภาวะ Autoimmune thyroiditis, Hypothyroidism
  6. โรคทางภูมิคุ้มกันอื่น ๆ
  7. มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  8. ภาวะที่ร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่นำมาปลูกถ่าย (Graft rejection)

สาเหตุสำคัญของภาวะลิมโฟไซต์สูง (และเม็ดเลือดขาวรวมต่ำหรือปกติ) คือการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักพบในเด็ก โดยจะมีไข้และมีอาการของอวัยวะที่ติดเชื้อร่วมด้วย กรณีเช่นนี้แพทย์จะรักษาตามอาการ โรคจะหายเองใน 1-2 สัปดาห์ ยาปฏิชีวนะไม่ได้ช่วยอะไรในสัปดาห์แรก

ภาวะอีโอสิโนฟิลสูง (Eosinophilia)

หมายถึง จำนวนอีโอสิโนฟิล > 500/μL (0.5 × 109/L) สาเหตุได้แก่

  1. มีโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ของทางเดินหายใจส่วนบน ภูมิแพ้ของผิวหนัง
  2. ติดเชื้อปรสิต เช่น มีพยาธิในทางเดินอาหาร ตับ ปอด สมอง ฯลฯ
  3. ติดเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราที่ปอด
  4. ภาวะแพ้ยา
  5. ช่วงฟื้นตัวหลังการติดเชื้อ โดยเฉพาะ scarlet fever, viral infection, chlamydial infection
  6. โรคผิวหนัง เช่น dermatitis herpetiformis, pemphigus, และ erythema multiforme causing eosinophilia
  7. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน
  8. มะเร็งไขกระดูก
  9. โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue diseases)
  10. กลุ่มอาการ Churg-Strauss syndrome
  11. กลุ่มอาการ hypereosinophilic syndrome
  12. กลุ่มอาการ pulmonary infiltration with eosinophilia (PIE) ซึ่งมีลักษณะปอดอักเสบทั้งสองข้าง ตับม้ามโต โดยเชื้อเป็นได้ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต

สาเหตุสำคัญของภาวะอีโอสิโนฟิลสูง คือ โรคภูมิแพ้และการติดเชื้อปรสิต ซึ่งอีโอสิโนฟิลมักไม่สูงมาก หากสูงเกิน 1,500/μL ต้องมองหามะเร็งไขกระดูกและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ภาวะเบโซฟิลสูง (Basophilia)

หมายถึง จำนวนเบโซฟิล > 100/μL (0.1 × 109/L) สาเหตุมาจากภาวะภูมิแพ้หรือไม่ก็มะเร็งเม็ดเลือดขาว กรณีหลังจำนวนเบโซฟิลมักเกิน 200/μL และเม็ดเลือดขาวรวมมักเกิน 30,000/μL

ภาวะโมโนไซต์สูง (Monocytosis)

หมายถึง จำนวนโมโนไซต์ > 880/μL (0.88 × 109/L) สาเหตุได้แก่

  1. การติดเชื้อ เช่น วัณโรค, subacute bacterial endocarditis, brucellosis, ซิฟิลิส, infectious mononucleosis, มาลาเรีย, โรคติดเชื้อปรสิต และโรคติดเชื้อริกเค็ทเซีย
  2. มะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งอวัยวะอื่นกระจายเข้าไขกระดูก และ paraneoplastic leukemoid reaction
  3. ช่วงฟื้นตัวของภาวะนิวโตรฟิลต่ำ (neutropenia)
  4. โรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น SLE, rheumatoid arthritis, inflammatory bowel diseases
  5. ภาวะไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน
  6. โรค sarcoidosis
  7. กลุ่มโรค lipid storage diseases

แนวทางการวินิจฉัย

สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบกัน คือ
- อาการทางคลินิก
- ระยะเวลาที่เม็ดเลือดขาวยังคงสูงลอย
- ลักษณะของเม็ดเลือดชนิดอื่นใน CBC
- มีอาการแสดงที่ชวนให้คิดถึงโรคมะเร็งหรือไม่

อาการแสดงที่ชวนให้คิดถึงโรคมะเร็ง ได้แก่

หากไม่มีอาการแสดงให้คิดถึงมะเร็งให้มองหาโรคติดเชื้อก่อน และอาจติดตามผล CBC ทุก 1 สัปดาห์ อีก 1-2 ครั้ง ทุก 1 สัปดาห์

บรรณานุกรม

  1. "Complete Blood Count in Primary Care." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา bpac.org.nz (23 มิถุนายน 2563).
  2. "HEMATOLOGY COMPLETE BLOOD COUNT (CBC)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา meddean.luc.edu. (23 มิถุนายน 2563).
  3. Lyrad K. Riley, et al. 2015. "Evaluation of Patients with Leukocytosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2015;92(11):1004-1011. (6 กรกฎาคม 2563).