ดีซ่าน (Jaundice)

ดีซ่านเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่ง โดยที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อของเราเกิดมีสีเหลืองขึ้น ซึ่งสาเหตุของดีซ่านอาจเป็นโรคหรือไม่ใช่โรคก็ได้

ปกติสารสีเหลืองที่สามารถสะสมที่ผิวหนังจนเกิดอาการเหลืองขึ้นได้นั้นมีสองชนิดคือ แคโรทีน และบิลิรูบิน แคโรทีนพบมากในมะละกอสุก ฟักทอง แตงโม มะเขือเทศ แครอท เมื่อกินอาหารประเภทนี้ติดต่อกันหลาย ๆ วันแคโรทีนก็อาจไปจับตามฝ่ามือฝ่าเท้า ทำให้มือเท้าเหลืองขึ้นได้ ซึ่งไม่มีอันตรายอะไร เมื่อหยุดทานอาหารประเภทนี้ไปสักพักมือและเท้าก็จะหายเหลืองไปเอง อาการเหลืองแบบนี้ทางการแพทย์ไม่เรียกว่าดีซ่าน และไม่ใช่ภาวะผิดปกติแต่อย่างใด

ส่วนบิลิรูบินเป็นสารที่เกิดขึ้นในขบวนการสลายเม็ดเลือดแดงที่ผิดรูปและที่หมดอายุของเรา เมื่อม้ามทำลายเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพจะได้บิลิรูบินและธาตุเหล็กออกมาในเลือด ร่างกายจะนำธาตุเหล็กกลับไปใช้สร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูกใหม่ และตับจะจับบิลิรูบินไปสร้างเป็นน้ำดีเพื่อกำจัดออกจากร่างกายทางลำไส้ น้ำดีที่ออกมาในลำไส้ยังช่วยย่อยอาหารประเภทไขมันได้ด้วย

แต่เมื่อเกิดภาวะที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น หรือภาวะที่ตับไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินออกมาทางน้ำดีได้ทัน บิลิรูบินที่อยู่ในเลือดจะเข้าไปจับในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นมีสีเหลืองขึ้น การมีสีเหลืองผิดปกติของเนื้อเยื่อต่าง ๆ พร้อมกันทั่วร่างกาย (รวมทั้งที่ตาขาวด้วย) จากการสะสมของบิลิรูบินจึงจะเรียกว่าดีซ่าน อาการดีซ่านนอกจากจะเหลืองตามผิวหนังแล้วยังมีอาการคันและมีปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มด้วย

ดีซ่านในทารก

ทารกแรกเกิดที่แข็งแรงเป็นปกติประมาณ 60% อาจมีอาการดีซ่านได้ภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด แล้วจะค่อย ๆ จางหายไปเองใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ (physiologic jaundice) ทั้งนี้เนื่องจากตับของทารกยังทำงานไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทารกดูดนมหรือน้ำได้น้อยเกินไปก็ยิ่งมีโอกาสทำให้เกิดดีซ่านได้มากขึ้น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด และทารกที่ตัวเล็กกว่าปกติ มีโอกาสเป็นดีซ่านมากกว่าทารกที่คลอดปกติ

ถ้าพบอาการดีซ่านในทารกแรกเกิด ซึ่งเริ่มมีอาการในวันที่ 2-5 หลังคลอด โดยที่เด็กดูแข็งแรงดี ไม่มีไข้ ไม่ซึม ไม่งอแง ไม่ซีด ดูดนม และน้ำได้ดี ถ่ายอุจจาระสีปกติ ก็แนะนำให้เด็กดูดนมและน้ำให้มากขึ้น ควรให้เด็กตากแดดอ่อน ๆ ตอนเช้า และใช้แสงไฟนีออนส่องที่ตัวเด็ก จะช่วยลดอาการเหลืองได้ แต่ถ้าพบว่าทารกตัวเหลืองเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ หรือทารกมีอาการไข้, ซีด, ท้องเสีย, ซึมผิดปกติ, ตัวอ่อนปวกเปียก, ไม่ดูดนม, อาเจียน, ชัก, ร้องไห้เสียงสูงผิดปกติควรรีบส่งโรงพยาบาล

ภาวะที่ทารกตัวเหลืองจัดจนฝ่ามือฝ่าเท้าก็เหลืองไปด้วย อาจเป็นอันตรายต่อสมองเด็ก และอาจต้องทำการถ่ายเลือด

ภาวะที่ทารกเริ่มเหลืองตั้งแต่วันแรก หรือเริ่มเหลืองหลังสัปดาห์แรกไปแล้ว ไม่ถือเป็นภาวะปกติ สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ เช่น การตกเลือดภายใน (จากการบาดเจ็บตอนคลอด), การติดเชื้อ, การที่เลือดลูกกับแม่เข้ากันไม่ได้, ภาวะที่ตับไม่ทำงาน, ภาวะขาดเอ็นไซม์บางชนิด, และความผืดปกติโดยกำเนิดต่าง ๆ อาทิ ท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด, โรคเลือดธาลัสซีเมีย เป็นต้น

ดีซ่านในคนทั่วไป

เมื่อพ้นวัยทารกไปแล้ว สาเหตุของอาการดีซ่านจะคล้ายกันทุกวัย คือ

  1. ภาวะที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคขาดเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD) การได้รับการเติมเลือดเป็นจำนวนมาก การบาดเจ็บและมีการตกเลือดภายในมาก เป็นต้น หากสาเหตุเป็นจากในกลุ่มนี้จะพบภาวะโลหิตจางหรืออาการซีดร่วมด้วย
  2. ภาวะที่ตับไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้ เช่น ตับอักเสบจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ อาทิ ไวรัสตับอักเสบ โรคฉี่หนู ไข้มาลาเรีย, ตับอักเสบจากสุราและจากยาบางชนิด อาทิ ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะบางอย่าง ยาเคมีบำบัด, ตับอักเสบจากโรคภูมิแพ้ตนเอง, โรคตับแข็ง, ฝีในตับ เป็นต้น
  3. ภาวะที่มีการอุดตันทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในท่อน้ำดีร่วม มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น หากสาเหตุเป็นจากในกลุ่มนี้จะพบว่าสีของอุจจาระจางลงกลายเป็นสีเทาคล้ายขี้เถ้าด้วย

แนวทางการวินิจฉัย

ผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่านใหม่ทุกรายต้องได้รับการตรวจเลือดอย่างน้อยสองอย่างก่อน คือ ตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) และตรวจการทำงานของตับ (LFT) หากไม่พบภาวะที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติก็จะดูผลการทำงานของตับว่าบ่งชี้ไปทางไหน หากชี้ว่าเป็นตับอักเสบก็จะสืบหาสาเหตุต่อไป หากพบว่าอาจมีการอุดตันของท่อน้ำดีก็จะทำอัลตราซาวด์ตับดูพยาธิสภาพที่ตับและท่อน้ำดี

หากอัลตราซาวด์ตับไม่พบการอุดตันก็แสดงว่าพยาธิสภาพอยู่เฉพาะที่ตับเท่านั้น ซึ่งมักพบในโรคติดเชื้อที่ทำให้ตับอักเสบ และในรายที่ดื่มสุรามากหรือทานยาบางอย่าง ในกรณีนี้เอ็นไซม์ AST และ ALT ที่ออกมาจากเซลล์ตับที่ถูกทำลายจะช่วยบอกถึงความรุนแรงของการอักเสบได้ โดยปกติตับอักเสบที่เป็นจากแอลกอฮอล์จะให้ค่าของ AST > ALT ขณะที่ตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบจะให้ค่า ALT > AST และสูงมาก ๆ (อาจถึง 5000 IU/L) ค่า total bilirubin ก็เช่นกัน สามารถบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ ค่าบิลิรูบินที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วอาจมีผลต่อระบบประสาท ทำให้ซึม สมองไม่ทำงาน หมดสติ ชัก และเสียชีวิตได้