หอบเหนื่อย (Dyspnea)

อาการหอบเหนื่อยที่หลายคนอาจเรียกให้ชัดว่า "หายใจลำบาก" หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายในการหายใจทั้งหมด อาจเป็นลักษณะการหายใจเร็ว ลึก หรือกินแรงกว่าปกติ ทั้งในขณะพักหรือเมื่อเริ่มออกกำลังเพียงเล็กน้อย (ซึ่งผิดไปจากที่เคยทำได้) ถือเป็นอาการสำคัญทางคลินิกที่ต้องสืบหาสาเหตุโดยเร็ว

ในทางการแพทย์ หายโรคมีลักษณะอาการหอบแบบเฉพาะ จนเกิดศัพท์ย่อยที่แพทย์ทั่วโลกใช้กันเพื่อระบุถึงลักษณะการเหนื่อยหอบแบบนั้นให้เห็นภาพอย่างรวดเร็วเมื่อสื่อสารกัน

Tachypnea หมายถึง การหายใจเร็วกว่าอัตราปกติ (12-20 ครั้งต่อนาที) โรคปอดเรื้อรังส่วนใหญ่จะมีลักษณะการหายใจแบบนี้

Hyperpnea หมายถึง การหายใจลึกกว่าปกติติดต่อกัน (ไม่ใช่เป็นครั้ง ๆ แบบการถอนหายใจ) ภาวะกรดเกินในเลือด (metabolic acidosis) จะทำให้เกิดลักษณะการหายใจแบบนี้

Hyperventilation หมายถึง การหายใจที่ทั้งลึกและเร็วกว่าปกติติดต่อกัน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเพศหญิง อายุระหว่าง 12-25 ปี จนตั้งชื่อเป็นกลุ่มอาการว่า Hyperventilation syndrome ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความเครียด

Orthopnea หมายถึง อาการหอบที่เกิดเฉพาะตอนเอนกายให้ลำตัวขนานไปกับพื้น และจะดีขึ้นเมื่อลุกนั่งหรือยืน พบบ่อยในภาวะหัวใจล้มเหลว

Paroxysmal nocturnal dyspnea (PND) หมายถึง ความรู้สึกหอบเหนื่อยขณะหลับไปสัก 1-2 ชั่วโมงจนต้องตื่นขึ้นมาหายใจ พบในภาวะขาดออกซิเจนขณะหลับ (เช่น Sleep apnea) และในภาวะหัวใจล้มเหลว (ซึ่งจะดีขึ้นเมื่อลุกนั่ง)

Dyspnea on exertion (DOE) หมายถึง ความรู้สึกเหนื่อยเร็วกว่าปกติขณะออกกำลังกาย พบในภาวะที่พยาธิสภาพของปอดหรือหัวใจยังเป็นไม่มาก (ถ้าเป็นมากจะเกิดอาการหอบเหนื่อยขณะพัก)

Trepopnea หมายถึง อาการหอบที่เกิดเฉพาะตอนนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง พบในภาวะที่ปอดสองข้างขยายตัวได้ไม่เท่ากัน เช่น มีน้ำหรือลมในช่องเยื่อหุ้มปอดข้างหนึ่ง มีอัมพาตของกระบังลมข้างหนึ่ง มีการเบียดดันของอวัยวะในช่องท้องขึ้นไปในทรวงอกข้างหนึ่ง เป็นต้น

Platypnea หมายถึง อาการหอบที่เกิดเฉพาะตอนนั่งหรือยืน และจะดีขึ้นเมื่อล้มลงนอน เป็นอาการที่พบได้น้อยมาก เพราะต้องเป็นความผิดปกติที่ทำให้มีน้ำท่วมปอดในท่ายืน และระบายออกได้ในท่านอน เช่น ภาวะที่มีทางเชื่อมต่อระหว่างหัวใจห้องบนทั้งสองข้าง บวกกับภาวะที่ทำให้มี redirection of shunt ในท่ายืน เช่น constrictive pericarditis

สาเหตุของอาการหอบเหนื่อย

นอกจากลักษณะของอาการหอบเหนื่อยที่บ่งบอกถึงโรคดังกล่าวข้างต้น การหาสาเหตุของอาการหอบเหนื่อยอีกวิธีหนึ่งคือการพิจารณาตามระยะเวลาของการเกิด ได้แก่ หอบเหนื่อยเฉียบพลัน (จู่ ๆ ก็หอบขึ้นมาปุบปับ), หอบเหนื่อยกึ่งเฉียบพลัน (ค่อย ๆ หอบขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามความรุนแรงของโรคที่กำลังเป็นอยู่ หรือหอบเป็น ๆ หาย ๆ จากโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่เดิม), และ หอบเหนื่อยเรื้อรัง (เหนื่อยหอบอยู่ตลอดเวลาทุกวัน นานกว่า 1 เดือน)

สาเหตุของอาการหอบเหนื่อยเฉียบพลัน

  1. พยาธิสภาพที่ปอด เช่น
    • ปอดแตก ผู้ป่วยจะมีเจ็บอกและหายใจหอบขึ้นมาทันทีหลังจากที่ไอแรง ๆ มักพบในคนที่มีรูปร่างผอมสูงและในคนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง
    • เส้นเลือดที่ปอดอุดตัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บอก ใจสั่น รู้สึกเหมือนหายใจไม่พอ มักพบในคนที่มีความเสี่ยง เช่น นอนนาน ๆ, เคยมีขาบวมเพราะหลอดเลือดดำอุดตัน, หญิงตั้งครรภ์หรือใช้ยาคุมกำเนิด, คนไข้มะเร็ง
    • โรคหืด นอกจากหอบเหนื่อยแล้ว เสียงหายใจจะดังวี๊ด ๆ ด้วย
    • มีวัตถุตกลงไปในหลอดลม
    • สูดควันหรือสารพิษ
  2. พยาธิสภาพที่หัวใจ เช่น
    • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ได้ มักเกิดในเพศชายขณะกำลังทำกิจกรรม
    • ผนังหัวใจฉีกขาด ผู้ป่วยจะเจ็บอกและหายใจหอบขึ้นมาฉับพลัน มักพบในผู้ที่เคยมีกล้าเนื้อหัวใจตายมาก่อน
    • หัวใจล้มเหลว อาการหอบเหนื่อยฉับพลันมักเป็นขณะนอนหลับไปได้สักพัก แล้วต้องตื่นขึ้นมานั่งหอบ
  3. พยาธิสภาพที่กระบังลม เช่น
    • อัมพาตของกระบังลม มักเกิดจากการบาดเจ็บบริเวณลำคอที่มีการทำลายเส้นประสาทฟรีนิก
  4. พยาธิสภาพที่จิตใจ เช่น
    • Hyperventilation syndrome ผู้ป่วยมักเป็นหญิงสาว เมื่อเกิดอาการหายใจหอบขึ้นจะมีมือชา และอาจมีนิ้วมือจีบเกร็งเข้าหากัน ลักษณะหายใจเร็วและลึกโดยไม่มีเสียงวี๊ด และไม่มีอาการไอ

สาเหตุของอาการหอบเหนื่อยกึ่งเฉียบพลัน

  1. พยาธิสภาพที่ปอด เช่น
    • ปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมาก เจ็บอก และค่อย ๆ เหนื่อยหอบขึ้นเรื่อย ๆ
    • โรคถุงลมโป่งพองที่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยโรคนี้จะหอบเหนื่อยเป็นพัก ๆ ได้อยู่แล้ว จากการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย เช่นเป็นหวัด หรือจากการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศเย็น อากาศร้อน ควัน ฯลฯ
    • วัณโรคของเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจะค่อย ๆ เกิดน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีไข้ เจ็บอก และหายใจฝืด เพราะเวลาหายใจเข้าต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อให้ปอดที่อยู่ในน้ำขยาย
  2. พยาธิสภาพที่หัวใจ เช่น
    • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ได้ มักเกิดในเพศชายขณะกำลังทำกิจกรรม
    • หัวใจล้มเหลว อาการหอบเหนื่อยฉับพลันมักเป็นขณะนอนหลับไปได้สักพัก แล้วต้องตื่นขึ้นมานั่งหอบ
  3. ภาวะเลือดเป็นกรด เช่น
    • โรคเบาหวานที่น้ำตาลขึ้นสูง ผู้ป่วยจะกระหายน้ำตลอดเวลา ปัสสาวะออกมาก เบื่ออาหาร และเหนื่อย หายใจหอบลึก
    • โรคติดเชื้อในกระแสเลือด จะมีอาการของโรคติดเชื้อนำมาก่อนสัก 3-7 วัน เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง ไอ เจ็บอก ปัสสาวะขัด ปวดเอวด้านหลัง ก่อนที่ความดันโลหิตจะลดลงจะหายใจเร็ว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

สาเหตุของอาการหอบเหนื่อยเรื้อรัง

  1. พยาธิสภาพที่ปอด เช่น
    • โรคถุงลมโป่งพอง (COPD) ผู้ป่วยมีประวัติสูบบุหรี่มาหลายสิบปี ไอเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย บางคนมีนิ้วปุ้มด้วย
    • โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
    • ภาวะที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เวลาหายใจเข้าจะต้องออกแรงมากเพื่อให้ปอดที่อยู่ในน้ำขยาย มักพบในวัณโรคของเยื่อหุ้มปอด, มะเร็งระยะแพร่กระจาย, ภาวะหัวใจล้มเหลว
  2. พยาธิสภาพที่หัวใจ เช่น
    • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ได้ มักเกิดในเพศชายขณะกำลังทำกิจกรรม
    • หัวใจล้มเหลว อาการหอบเหนื่อยฉับพลันมักเป็นขณะนอนหลับไปได้สักพัก แล้วต้องตื่นขึ้นมานั่งหอบ
  3. พยาธิสภาพอื่น ๆ เช่น
    • โรคอ้วน
    • ภาวะโลหิตจาง
    • ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
    • โรคที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • ความพิการของกระดูกทรวงอกที่จำกัดการขยายของปอด
    • โรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวายเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งระยะลุกลาม ฯลฯ

แนวทางการตรวจรักษา

อาการหอบเหนื่อยเป็นภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นแพทย์จะวินิจฉัยและให้การรักษาไปพร้อม ๆ กัน

แพทย์วินิจฉัยอาการหอบเหนื่อยจากเพศ อายุ ลักษณะการหอบ และเสียงหายใจที่ฟังจากหูฟังของแพทย์ ผู้แพทย์สงสัยว่าจะมีพยาธิสภาพที่ปอด, หัวใจ หรือกระบังลมเท่านั้นที่จะได้รับการเอกซเรย์ทรวงอก พยาธิสภาพอย่างอื่นการเอกซเรย์ทรวงอกจะไม่สำคัญ ที่สำคัญกว่าคือการประเมินความรุนแรงของโรค ซึ่งต้องอาศัยการวัดสัญญาณชีพ เจาะเลือด และตรวจการทำงานของปอดในบางราย

ถ้าเป็นจาก Hyperventilation syndrome แพทย์หรือพยาบาลอาจให้หายใจในถุงพลาสติกสักพักอาการก็จะดีขึ้น หรืออาจฉีดยาระงับประสาทเพื่อให้อาการสงบ ถ้าเป็นโรคหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง แพทย์อาจให้พ่นยาขยายหลอดลมเดี๋ยวนั้นเพื่อช่วยเปิดหลอดลมให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันถ้าเป็นจากหัวใจล้มเหลว แพทย์อาจฉีดยาขับปัสสาวะให้ก่อนถ้าความดันปกติ

ในรายที่ประเมินว่าระดับออกซิเจนในเลือดออกไม่เพียงพอ เช่น มือเท้าเขียว ปากเขียว ซึมลง แพทย์อาจใส่ท่อช่วยหายใจให้ก่อนค่อยส่งไปตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด

การป้องกันอาการหอบเหนื่อย

ในคนปกติ การป้องกันอาการหอบเหนื่อยที่สำคัญที่สุดคือไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่นำไปสู่โรคปอดเรื้อรังมากมาย และทำให้คุณภาพชีวิตในบั้นปลายแย่ลง

ในคนที่เป็นโรคหืด ที่สำคัญคือต้องพ่นยาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มหายใจฝืดก็ให้รีบพ่นยาไว้ก่อน หลีกเลี่ยงภาวะที่อาจจะทำให้เป็นหวัด หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นอาการหอบ รักษาความสะอาดของบ้านเรือนและที่นอนไม่ให้เป็นที่เก็บกักของฝุ่นละออง มีเครื่องมือวัดกำลังการหายใจของตัวเองอยู่เสมอ

ในคนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง สิ่งแรกคือต้องเลิกบุหรี่ให้ได้ก่อน นอกนั้นก็คล้ายกับโรคหืด แต่ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อยขณะพักแล้วควรมีถังออกซิเจนเอาไว้ใช้เองที่บ้าน

ในคนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว การป้องกันขั้นต้นที่ต้องฝึกไว้ประจำคือไม่ดื่มน้ำมากเกินไป และไม่ดื่มน้ำก่อนเข้านอน เมื่อจะเข้านอนให้ไปปัสสาวะออกก่อน แล้วไม่ต้องดื่มน้ำอีก นอกจากนั้นคือการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและไม่ออกแรงหนักจนเกินไป