ความดันโลหิตกว้าง (Wide pulse pressure)

ความดันโลหิตประกอบด้วยตัวเลข 2 ค่า มีหน่วยเป็น มิลลิเมตรปรอท (mmHg)

  • ตัวบน (systolic) คือความดันภายในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจฉีดเลือดออกไป ผนังหลอดเลือดจะโป่งออกอย่างที่เรารู้สึกเวลาจับชีพจร
  • ตัวล่าง (diastolic) คือความดันพื้นฐานภายในหลอดเลือดแดงเวลาที่หัวใจคลายตัว

ความกว้างของความดัน (pulse pressure, PP, Ppulse) คือ ความแตกต่างระหว่างความดันค่าบนกับความดันค่าล่าง ปกติจะอยู่ในช่วง 25-50% ของความดันค่าบน ความกว้างนี้บอกถึงความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดในการรับแรงดันขณะที่หัวใจบีบตัวฉีดเลือดออกไป

จากรูปซ้ายมือ ∆V คือความแตกต่างของปริมาตรเลือดในหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาขณะที่หัวใจบีบตัวและคลายตัว, ∆P คือความแตกต่างของความดันในหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาขณะที่หัวใจบีบตัวและคลายตัว หรือความกว้างของความดันโลหิตที่เรากำลังพูดถึง

รูป A แสดงการเปลี่ยนแปลงของแรงดันในหลอดเลือดเป็นสัดส่วนกับการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรเลือดเมื่อผนังหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี (Normal compliance)

แต่ถ้าผนังหลอดเลือดแข็ง ไม่ยืดหยุ่น (Low compliance) แม้ปริมาตรเลือดที่หัวใจฉีดออกไปแต่ละครั้งยังเท่าเดิม (∆V คงที่) แต่ทุกครั้งที่ฉีดออกไป ผนังหลอดเลือดไม่ขยาย แรงดันในหลอดเลือดก็จะเพิ่มขึ้นมาก (∆P กว้างขึ้น) ในทางกลับกัน เมื่อหัวใจคลายตัว ปริมาตรเลือดในหลอดเลือดลดลงเพราะแจกจ่ายให้อวัยวะต่าง ๆ แล้ว แต่ผนังหลอดเลือดไม่หดตัว ยังคงอ้าแข็งอยู่ แรงดันภายในหลอดเลือดก็จะลดลงมาก (∆P กว้างขึ้น) ดังแสดงในรูป B

ความกว้างของความดันโลหิตที่เกินค่าปกติ ส่วนหนึ่งจึงมาจากการแข็งตัวของหลอดเลือด (atherosclerosis) ซึ่งเป็นความเสื่อมอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์ นำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์อัมพาต ไตวาย และหลอดเลือดส่วยปลายอุดตันในที่สุด

สาเหตุอื่นของความดันโลหิตกว้าง

ความดันโลหิตกว้างไม่ได้เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็งตัวอย่างเดียว ภาวะอื่นก็อาจทำให้ความดันโลหิตกว้างชั่วคราวได้ ถ้าแก้ไขได้ทัน ความกว้างของความดันโลหิตก็จะกลับมาเป็นปกติ สาเหตุเหล่านั้นได้แก่

  1. ลิ้นหัวใจเออร์ติกรั่ว
  2. มีทางเชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงและดำ เช่น patent ductus arteriosus, peripheral AVM
  3. ทางออกของหัวใจขยายกว้าง เช่น มี aortic aneurysm, aortic root dilatation
  4. หัวใจเต้นช้า
  5. ผนังเอออร์ตาฉีกขาด (aortic dissection)
  6. หัวใจล้มเหลวจากการขาดวิตามินบี 1
  7. โลหิตจางมาก
  8. ไทรอยด์เป็นพิษ
  9. หลังออกกำลังกายใหม่ ๆ
  10. ตั้งครรภ์
  11. มีไข้สูง
  12. แพ้ยาจนช็อก (anaphylaxis)
  13. อุบัติเหตุที่คอ จนไขสันหลังเสียหาย
  14. ติดเชื้อในกระแสเลือด
  15. ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน
  16. ภาวะอัลบูมินในเลือดต่ำ

มีการศึกษาพบว่า ทุก ๆ 10 mmHg ของความดันที่กว้างเกินค่าปกติ เพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลว 14% [1] และทุก 20 mmHg ของความดันที่กว้างเกิน 40 mmHg เพิ่มความเสี่ยงของการเกิด atrial fibrillation 1.28 เท่า [2]

อาการของความดันโลหิตกว้าง

ความดันโลหิตกว้างเป็นอาการแสดง หมายถึงโดยตัวมันเองไม่ทำให้เกิดอาการอันใด แต่เป็นสัญญาณให้แพทย์ค้นหาความผิดปกติที่ซุกซ่อนอยู่ ส่วนใหญ่คนไข้จะมีอาการของโรคที่เป็นสาเหตุตั้งต้นอยู่ก่อนแล้ว

แนวทางการตรวจวินิจฉัย

ขั้นต้นแพทย์จะตรวจร่างกายหาโรคที่อาจเป็นไปได้ข้างต้น โดยเฉพาะฟังเสียงลิ้นหัวใจรั่ว และหาจุดเชื่อมของหลอดเลือดแดง-ดำ จากนั้นจะตรวจเลือด เอกซเรย์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และส่งตรวจคลื่นเสียงหัวใจหากสงสัยพยาธิสภาพที่หัวใจ

แนวทางการรักษา

ผู้ที่มีความดันโลหิตกว้างแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความดันโลหิตสูง กลุ่มที่มีความดันโลหิตปกติ และกลุ่มที่มีความดันโลหิตต่ำ

กลุ่มที่มีความดันโลหิตสูง จะถูกตรวจหาสาเหตุของความดันสูงก่อน หากไม่พบเหตุจึงจะให้ยาควบคุมความดันเหมือนโรคความดันโลหิตสูงทั่วไป ยาที่แนะนำในรายที่มีความดันโลหิตกว้างด้วย คือ กลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟา (α-blockers) กลุ่มยาปิดตัวรับเบตา (β-blockers) กลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียม (Calcium channel blockers) [3] กลุ่มยาไนเตรต (ISDN, ISMN) กลุ่มยาต้านเอซ (ACEI) และยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) [4]

กลุ่มที่มีความดันโลหิตปกติ ส่วนใหญ่จะมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจหรือมีทางเชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงกับดำ หรือมีภาวะใดภาวะหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่แก้ไขได้ หากหาสาเหตุไม่พบจริง ๆ มีการศึกษาพบว่า การรับประทานกรดโฟลิกขนาด 5 mg/วัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ สามารถลดความกว้างของความดันโลหิตได้ 4.7 mmHg เมื่อเทียบกับยาหลอก [5]

กลุ่มที่มีความดันโลหิตต่ำ คือผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล เติมน้ำเกลือ และ/หรือ ยาพยุงความดัน และแก้ไขสาเหตุที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

บรรณานุกรม

  1. Athanase Benetos, et al. 1997. "Pulse Pressure: A Predictor of Long-term Cardiovascular Mortality in a French Male Population." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Hypertension 1997;30:1410–1415. (6 มิถุนายน 2563).
  2. D Edmund Anstey, et al. 2019. "Masked Hypertension: Whom and How to Screen?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Current hypertension reports. 2019 Apr 4;21(4):26. (7 มิถุนายน 2563).
  3. Hiromichi Suzuki. 2014. "Pulse Pressure Is Useful for Determining the Choice of Antihypertensive Drugs in Postmenopausal Women." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Pulse. 2014 May;1(3-4):152–160. (7 มิถุนายน 2563).
  4. Luc M.A.B., et al. 2001. "Pulse Pressure, Arterial Stiffness, and Drug Treatment of Hypertension." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Hypertension. 2001;38:914–921. (7 มิถุนายน 2563).
  5. Williams Carolyn, et al. 2005. "Folic acid supplementation for 3 wk reduces pulse pressure and large artery stiffness independent of MTHFR genotype." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am J Clin Nutr. 82(1):26–31 (7 มิถุนายน 2563).
  6. Richard E. Klabunde. 2016. "Arterial and Aortic Pulse Pressure." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา cvphysiology.com (6 มิถุนายน 2563).