ปวดท้อง (Abdominal pain)
ปวดท้องเป็นอาการที่พบบ่อยในทุกเพศทุกวัย ด้วยในช่องท้องมีอวัยวะของหลายระบบเบียดเสียดกันอยู่มากมาย อาการปวดท้องอาจเกิดจาก
- การอักเสบของอวัยวะ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ลำไส้อักเสบ กรวยไตอักเสบ
- การยืดของผนังอวัยวะ เช่น ลำไส้อุดตัน ท่อน้ำดีอุดตัน ตับบวม
- การขาดเลือดของอวัยวะ เช่น ลำไส้บิดตัวจนขาดเลือด เส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงลำไส้อุดตัน ไส้เลื่อนที่ถูกรัดจนขาดเลือด
แต่บางครั้งอาการปวดท้องก็อาจไม่มีสาเหตุมาจากการอักเสบ, การยืดของผนังอวัยวะ, หรือการขาดเลือดของอวัยวะเลย โรคที่พบบ่อยในกรณีเช่นนี้คือโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome) โรคนี้มักถูกเรียกว่า "ปวดจากการทำงาน" เหมือนปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน ไม่ได้มีพยาธิสภาพของอวัยวะจริง ๆ
นอกจากนั้น อาการปวดท้องยังอาจมีสาเหตุมาจากอวัยวะนอกช่องท้องที่อยู่ใกล้เคียงกัน (เช่น ปอด หัวใจ ลูกอัณฑะ), การเสียสมดุลในเมตาบอติก (เช่น เบาหวานที่มีน้ำตาลสูง ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน), หรือจากเส้นประสาทที่มีเลี้ยงอวัยวะในช่องท้องอีกด้วย
ในหน้านี้จะกล่าวถึงลักษณะของอาการปวดท้องแบบต่าง ๆ จากพยาธิสภาพตั้งต้นของมัน
ลักษณะของอาการปวดตามกลุ่มพยาธิสภาพ
1. การอักเสบ
- การระคายเยื่อบุช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ แผลทะลุที่กระเพาะหรือลำไส้ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ การมีเลือดออกในช่องท้อง เป็นต้น การระคายเยื่อบุช่องท้องเกิดจากการปนเปื้อนของอาหาร อุจจาระ น้ำย่อย เลือด หรือเชื้อโรคที่ออกมาจากอวัยวะนั้น
อาการปวดในกลุ่มนี้จะมีความรุนแรงค่อนข้างมาก โดยระยะเวลาจากเริ่มต้นถึงปวดเต็มที่ใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ร่วมด้วย โดยตอนแรกจะมีไข้ต่ำ ๆ และปวดเฉพาะจุดตลอดเวลา กดเจ็บตรงที่ปวด เวลาเดิน หัวเราะ หรือไอจะปวดมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะเกร็งกล้ามเนื้อท้องไว้และหายใจเบา ๆ เพื่อไม่ให้กระเทือนเยื่อบุมากนัก แต่พอเข้าวันที่ 2-3 เยื่อบุจะระคายไปทั่ว อาการปวดจะมากขึ้นและกินบริเวณกว้างขึ้น ไข้จะขึ้นสูง ส่วนใหญ่คนไข้จะทนได้ไม่เกิน 5 วัน
เมื่อปวดท้องทุกครั้งให้ถามตัวเองว่าเข้าข่ายอาการปวดจากการระคายเยื่อบุช่องท้องหรือไม่ เพราะจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน ถ้าช้าจะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ช็อค และเสียชีวิตได้
- การระคายเยื่อบุภายในทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ แผลที่กระเพาะ แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ลำไส้อักเสบ โรคกรดไหลย้อน
อาการปวดในกลุ่มนี้จะมีความรุนแรงไม่มาก ลักษณะจะเป็นแบบแสบร้อนเวลาหิวหรือหลังกินอาหาร อาจมีคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำร่วมด้วย
2. การยืดของผนังอวัยวะ
- การยืดของผนังอวัยวะทรงกลวง เช่น อาหารเป็นพิษ ลำไส้อุดตัน ท่อน้ำดีอุดตันจากนิ่ว ท่อไตอุดตันจากนิ่ว เป็นต้น ปกติอวัยวะทรงกลวงเหล่านี้จะมีการบีบและคลายตัวรับกันเป็นระลอกคลื่น ถ้าไม่มีการอุดตัน ของเหลวจะไหลผ่านไปโดยที่เราไม่มีรู้สึกอะไรเลย แต่ถ้ามีส่วนใดอุดตัน ผนังท่อเหนือส่วนที่อุดตันต้องยึดออกเพื่อรับของเหลวที่ถูกบีบส่งมา การที่ผนังท่อยืดมาก ๆ หรืออย่างรวดเร็วจะทำให้ปวดท้อง
ลักษณะสำคัญของอาการปวดแบบนี้คือจะปวดบิดประมาณ 5-10 วินาทีก็หาย แล้วก็ปวดบิดมาใหม่ ถ้ากดท้องไว้จะรู้สึกทุเลาลง ภาวะนี้ส่วนใหญ่เกิดจากอาหารเป็นพิษ ซึ่งพอถ่ายออกแล้วอาการปวดบิดจะค่อย ๆ ลดลง แต่ถ้าเป็นจากสาเหตุอื่นมักไม่มีท้องเสีย เช่น ถ้าเป็นลำไส้อุดตันการปวดบิดจะถี่ขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นจนเมื่อของเหลวค้างเต็มท่ออาการปวดจะไม่หายไปเลย แต่จะเป็นแบบปวดตื้อ ๆ ระดับหนึ่งตลอดเวลา + ปวดบิดอีกเป็นพัก ๆ หรือถ้าเป็นจากนิ่วอุดตันมักจะปวดบิดมาก ๆ เพียง 1-2 ครั้งแรกเท่านั้น พอไปถึงโรงพยาบาลอาการก็หายไปแล้ว
โรคลำไส้อุดตันมักพบในผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน เนื่องจากแผลที่อยู่ภายในช่องท้องเมื่อสมานติดกันอาจเกิดเป็นพังผืดรัดลำไส้
- การโตหรือบวมของอวัยวะทรงตัน เช่น ตับโต ม้ามโต ไตบวม ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องโต เป็นต้น
อาการปวดในกลุ่มนี้เริ่มต้นจะไม่รุนแรงมาก จะเป็นแบบจุกแน่นตรงอวัยวะที่โต แล้วค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นช้า ๆ ระยะเวลาจากเริ่มรู้สึกจุกจนถึงปวดมาก ๆ อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงหลายปี ถ้ากดตรงที่จุกจะยิ่งปวดมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีท้องโตขึ้น ตาเหลือง ซีด น้ำหนักลด
ผู้ป่วยมักต้องมีโรคอื่นถึงส่งผลให้อวัยวะโตหรือบวม ถ้าไม่มีเลยการโตขึ้นของอวัยวะในช่องท้องมักเกิดจากการมีเนื้องอก ผู้ที่มีอาการในลักษณะนี้ควรที่จะไปตรวจให้แน่ชัดแม้อาการปวดท้องจะยังเป็นไม่มาก
3. การขาดเลือดของอวัยวะ
- อวัยวะในช่องท้องขาดเลือด มักพบในผู้สูงอายุที่มีปัญหาหลอดเลือดแข็งหรือตีบ ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ป่วยโรคเลือดที่มีปัญหาเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
อาการปวดจะค่อย ๆ เริ่ม จากเริ่มต้นถึงปวดเต็มที่ใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน ลักษณะจะเป็นแบบปวดท้องตลอดเวลาและปวดค่อนข้างมาก ระบุตำแหน่งที่ปวดไม่ได้ เหมือนจะปวดไปหมด แล้วค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่ออวัยวะที่ขาดเลือดนั้นตายและเน่า ส่วนใหญ่จะเกิดกับลำไส้ซึ่งมักมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลักษณะจะรู้สึกแน่นมาก ๆ ภายในทรวงอก บางคนอาจรู้สึกจุกแน่นที่ลิ้นปี่หรือปวดร้าวไปที่ไหล่ซ้าย มักเป็นขณะออกกำลังหรือเดินไกล และเป็นปุบปับ มีเหงื่อแตก ใจสั่น รู้สึกหายใจไม่ได้ นั่งพักก็ไม่หาย โรคนี้มักพบในเพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเกิดอาการสิ่งแรกที่ต้องทำคือนั่งพัก สังเกตอาการสัก 15-30 นาที ซึ่งถ้าเป็นการเหนื่อยจากการออกกำลังอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้ายังจุกแน่นอยู่อย่างนั้นต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
4. ความผิดปกติทางเมตาบอลิก
ความผิดปกติทางเมตาบอลิกที่ทำให้ปวดท้องได้ เช่น ภาวะกรดคีโตนในเบาหวาน ภาวะยูรีเมียในไตวาย โรคพอร์ไฟเรีย พิษจากสารตะกั่ว พิษจากแมงมุมแม่หม้ายดำ โรคเลือดซิกเกิล เป็นต้น
โรคในกลุ่มนี้อาจมาด้วยอาการปวดท้อง แต่ก็ต้องมีอาการแสดงหลักของโรคเดิม เช่น ถ้าเป็นเบาหวานจะอ่อนเพลีย หิวน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย อาเจียน, ถ้าเป็นไตวายจะซีด บวม ปัสสาวะออกน้อย อาเจียน, ถ้าเป็นพอร์ไฟเรียจะปวดท้องมาก ท้องอืดโต อาเจียน ปวดขา ปวดหลัง สับสน ชัก ไวต่อแสง, ถ้าเป็นพิษตะกั่วจะปวดข้อ ความดันโลหิตสูง ความคิดความจำไม่ดี มีประวัติสัมผัสสารตะกั่ว, ถ้าเป็นพิษแมงมุมจะมีประวัติถูกกัดมาก่อนไม่นาน, ถ้าเป็นโรคเลือดซิกเกิลซึ่งเป็นโรคที่เป็นตั้งแต่เกิดจะซีด ตับม้ามโต ตาเหลืองตั้งแต่เด็ก
ลักษณะการปวดท้องในกลุ่มนี้จะแตกต่างกันมากในแต่ละโรค แต่ละราย และแต่ละครั้งที่เป็น
5. ความผิดปกติทางระบบประสาท
โรคในกลุ่มนี้เช่น โรคซิฟิลิสระยะที่ทำลายระบบประสาท โรคงูสวัด โรคทางจิตต่าง ๆ เป็นต้น
ถ้าเป็นจากพยาธิสภาพที่สมอง ไขสันหลัง หรือเส้นประสาทจะปวดไปตามเส้นประสาทที่มาเลี้ยง ถ้าเป็นโรคซิฟิลิสของระบบประสาทจะมีอาการทางระบบประสาทอย่างอื่นด้วย, ถ้าเป็นงูสวัดจะมีตุ่มน้ำใสที่ปวดแสบปวดร้อนขึ้น, ถ้าเป็นพวกโรคจิตประสาทมักมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง อาการปวดจะไม่แน่นอน และตรวจไม่พบความผิดปกติ และบางครั้งอาการก็หายไปเอง
6. การปวดร้าวมาจากอวัยวะข้างเคียง
โรคในกลุ่มนี้เช่น ปอดบวม ลูกอัณฑะบิดเกลียว เป็นต้น
ถ้าเป็นจากปอดบวมจะเจ็บแปล๊บ ๆ เวลาหายใจ โดยจะรู้สึกปวดร้าวมาจากชายโครง ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ หอบ ด้วย ถ้าเป็นลูกอัณฑะบิดเกลียวก็จะปวดที่ลูกอัณฑะด้วย
แนวทางการวินิจฉัย
นอกจากลักษณะการปวด ความรุนแรง การดำเนินโรค อาการร่วม และสิ่งกระตุ้นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ตำแหน่งที่ปวดก็เป็นตัวจำแนกโรคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง หากเราแบ่งช่องท้องออกเป็น 8 ส่วนดังรูป สาเหตุของโรคที่พบบ่อยตามตำแหน่งต่าง ๆ จะเป็นดังนี้
ตำแหน่งที่ 1 - ใต้ชายโครงข้างขวา: นิ่วที่ถุงน้ำดี, ถุงน้ำดีอักเสบ, แผลที่กระเพาะ, แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น, ตับอักเสบ, ตับโต, ปอดบวม, ฝีใต้กระบังลม, ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
ตำแหน่งที่ 2 - ใต้ลิ้นปี่: อาหารไม่ย่อย, แผลที่กระเพาะ, แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น, นิ่วที่ถุงน้ำดี, ถุงน้ำดีอักเสบ, ตับอักเสบ, ตับโต, ตับอ่อนอักเสบ, หลอดอาหารอักเสบ, ไส้เลื่อนขึ้นกระบังลม, ผนังเส้นเลือดใหญ่เอออร์ตาโป่ง เป็นต้น
ตำแหน่งที่ 3 - ใต้ชายโครงข้างซ้าย: อาหารไม่ย่อย, แผลที่กระเพาะ, กระเพาะอาหารอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, ปอดบวม, ม้ามแตก, ฝีใต้กระบังลม เป็นต้น
ตำแหน่งที่ 4 - หลังเอวข้างซ้ายหรือข้างขวา: กล้ามเนื้อเคล็ด, นิ่วที่ไต, กรวยไตอักเสบ, ฝีรอบไต, ลำไส้อักเสบ, ท้องผูก เป็นต้น
ตำแหน่งที่ 5 - รอบสะดือ: อาหารเป็นพิษ, ไส้ติ่งอักเสบช่วงแรก, แผลที่กระเพาะ, ลำไส้อักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, ผนังเส้นเลือดใหญ่เอออร์ตาโป่ง, ลำไส้ขาดเลือด, ไส้เลื่อนขึ้นสะดือ เป็นต้น
ตำแหน่งที่ 6 - ท้องน้อยข้างขวา: ท้องผูก, ไส้ติ่งอักเสบ, ลำไส้อักเสบ, นิ่วที่ท่อไต, อุ้งเชิงกรานอักเสบ, ถุงน้ำที่รังไข่, ฝีที่รังไข่, เอ็นโดเมตริโอสิส, ตั้งครรภ์นอกมดลูก, ถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ, ไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ เป็นต้น
ตำแหน่งที่ 7 - ท้องน้อยเหนือหัวเหน่า: กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, นิ่วอุดท่อปัสสาวะ, ลำไส้อักเสบ, ถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ, อุ้งเชิงกรานอักเสบ, ตั้งครรภ์นอกมดลูก, ต่อมลูกหมากอักเสบ, ลูกอัณฑะบิดเกลียว, ไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ เป็นต้น
ตำแหน่งที่ 8 - ท้องน้อยข้างซ้าย: ท้องผูก, ลำไส้แปรปรวน, ลำไส้อักเสบ, ถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ, นิ่วที่ท่อไต, อุ้งเชิงกรานอักเสบ, ถุงน้ำที่รังไข่, ฝีที่รังไข่, เอ็นโดเมตริโอสิส, ตั้งครรภ์นอกมดลูก, ไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ, เนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
ปวดทั่วไปหมดทั้งท้อง: อาหารเป็นพิษ, อวัยวะฉีกขาดหรือแตก (เช่น แผลกระเพาะทะลุ ไส้ติ่งแตก), ตับอ่อนอักเสบ, ผนังเส้นเลือดใหญ่เอออร์ตาโป่งหรือฉีกขาด, ลำไส้อุดตัน, ลำไส้ขาดเลือด, ความผิดปกติทางเมตาบอลิก เป็นต้น
โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยอาการปวดท้องจากอายุ เพศ ลักษณะการปวด ตำแหน่งที่ปวด การดำเนินโรค อาการหรือโรคที่เป็นร่วม และการตรวจร่างกายเป็นหลัก หากไม่ชัดถึงค่อยตรวจแล็ป เอกซเรย์ ส่องกล้อง และสุดท้ายอาศัยการผ่าตัดเข้าไปดู
ในแง่ของผู้ป่วย การเล่าประวัติต่าง ๆ อย่างชัดเจนสามารถช่วยให้การวินิจฉัยรวดเร็วและถูกต้องยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรเตรียมข้อมูลต่อไปนี้เมื่อไปปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
- ยาที่ท่านกำลังทานอยู่เป็นประจำ รวมทั้งสมุนไพร วิตามิน อาหารเสริม และอาหารบำรุงต่าง ๆ
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สารต่าง ๆ
- โรคประจำตัวของท่าน เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต
- ประวัติการผ่าตัดทุกชนิด เคยตัดอวัยวะอะไรออกไปแล้ว
- ประวัติการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ประวัติการตรวจพิเศษต่าง ๆ เช่น การส่องกล้อง การเอกซเรย์กลืนแป้ง เป็นต้น
- ประวัติโรคที่คนในครอบครัวเป็น
- ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการสัมผัสสารพิษอื่น ๆ เฉลี่ยต่อสัปดาห์
- ลักษณะอาการปวดท้อง (บิด, จุก, แสบ, กดเจ็บ, ปวดตลอดเวลา, ฯลฯ) เริ่มอย่างไร (ปุบปับ, ค่อย ๆ เป็น) ตรงไหน (พยายามชี้จุดที่ปวดที่สุด) เวลาไหน (เช้า, กลางคืน, หลังกินอาหาร) เป็นมานานเท่าไร สัมพันธ์กับอะไรหรือเหตุการณ์ไหน มีอาการอื่น ๆ อีกไหม (ไข้ ท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเป็นสีดำ น้ำหนักลด ฯลฯ) ทำอย่างไรมันถึงดีขึ้น และทำอย่างไรมันจะปวดมากขึ้น เคยปวดแบบนี้มาก่อนหรือเปล่า
- ในเพศหญิงควรเล่าให้แพทย์ฟังถึงความผิดปกติของรอบเดือน หรืออาการที่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ด้วย
- การขับถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะของท่านเป็นปกติดีหรือไม่
- ยาที่ท่านได้ลองทานดูแล้วเมื่อมีอาการปวดท้องนี้