หมดสติ (Unconsciousness)

อาการหมดสติ หมายถึง อาการไม่รู้สึกตัวเหมือนนอนหลับ ปลุกไม่ตื่น หรือตื่นบ้างแค่ขยับ, คราง ไม่สามารถตอบสนองได้เต็มที่เหมือนคนปกติ อาการคงอยู่แบบนี้นานกว่า 3 นาที

เมื่อพบคนหมดสติ สิ่งแรกคือต้องดูว่าเขายังหายใจสม่ำเสมอดีอยู่หรือเปล่า มีการหยุดหายใจไปหรือไม่ มีเสียงครืดคราดในลำคอหรือไม่ ถ้ามีให้หันศีรษะคนไข้ไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อไม่ให้ลิ้นตกปาก หรือยกคอ (เชยคาง) ผู้ป่วยให้สูงขึ้นแล้วตรวจสอบชีพจรที่คอดังรูป ดูว่าชีพจรที่คอยังเต้นเป็นปกติอยู่หรือไม่ จากนั้นจึงค่อยตรวจสอบร่องรอยการบาดเจ็บตามที่ต่าง ๆ ผู้ที่หมดสติบางท่านอาจมีบัตรสุขภาพที่แพทย์ออกให้พกติดตัวอยู่ หรือมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของญาติที่ติดต่อได้ ท่านควรขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างให้ช่วยติดต่อทั้งญาติและรถพยาบาล

ผู้ป่วยที่หายใจช้ามาก หรือไม่หายใจแต่ยังคลำชีพจรได้ ให้ลองกระตุ้นด้วยความเจ็บปวด หากท่านหรือผู้คนรอบข้างทราบวิธีผายปอดก็ควรทำเดี๋ยวนั้น หากไม่มีใครทราบให้โทร 1669 หรือ 191 เพื่อขอความช่วยเหลือ

สาเหตุของการหมดสติ

สาเหตุของการหมดสติอาจแบ่งง่าย ๆ เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีรอยโรคที่สมอง กลุ่มที่เกิดจากการเสียสมดุลในเลือด และกลุ่มที่เกิดจากสภาพจิตใจ

  1. กลุ่มที่มีรอยโรคที่สมอง เช่น
    • จากการบาดเจ็บทั้งปัจจุบันและก่อนหน้านี้ภายใน 2 สัปดาห์ อาจทำให้มีเลือดออกในสมอง สมองบวม ฟกช้ำ
    • จากโรคหลอดเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน รวมทั้งภาวะที่อุดตันชั่วคราว
    • จากการติดเชื้อในสมอง
    • จากเนื้องอกในสมอง
    • จากโรคลมชัก

  2. กลุ่มที่เกิดจากการเสียสมดุลในเลือด เช่น
    • เมาสุรา, พิษสุราเรื้อรัง
    • ทานยาเกิน
    • ได้รับสารพิษ
    • เป็นเบาหวานแล้วมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง
    • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากโรคอื่น ๆ
    • ไตวายเรื้อรัง
    • ตับแข็งแล้วมีแอมโมเนียขึ้นสมอง
    • โรคทางต่อมไร้ท่ออื่น ๆ นอกจากเบาหวาน
    • เสียสมดุลน้ำและเกลือแร่ในเลือด
    • โรคปอดเรื้อรังที่มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง
    • ภาวะขาดวิตามินบีอย่างรุนแรง
    • ภาวะช็อก (ความดันโลหิตต่ำ) จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เลือดออกมาก ติดเชื้อในกระแสเลือด ถ่ายไม่หยุด
    • โรคเรื้อรังอื่น ๆ

  3. กลุ่มที่เกิดจากสภาพจิตใจ เช่น โรคจิต โรคซึมเศร้า โรคฮิสทีเรีย ภาวะ Hyperventilation syndrome

แนวทางการตรวจรักษา

ในบางสาเหตุ เช่น โรคลมชัก, เมาสุรา, Hyperventilation syndrome, Transient ischemic attack ผู้ป่วยอาจฟื้นได้เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แต่แพทย์ก็จะทำการตรวจร่างกายทั้งหมดอีกครั้ง ญาติผู้ใกล้ชิดควรจะตามไปให้ประวัติแก่แพทย์โดยทันที

ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในสัญญาณชีพจะได้รับการกู้ชีพก่อน ในช่วงนี้ข้อมูลจากญาติสำคัญมาก ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคปอด หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ มีกลไกที่ทำให้หมดสติต่างกัน แพทย์ไม่สามารถรอผลตรวจหรือรอค้นประวัติเก่าเพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ได้ หากทราบประวัติจากญาติการกู้ชีพจะทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีแนวทางเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ เหล่านั้น

หากการกู้ชีพสำเร็จ ผู้ป่วยที่ตรวจพบความผิดปกติทางระบบประสาทจะได้รับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ส่วนผู้ที่ไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาทจะได้รับการตรวจหาสาเหตุอย่างอื่นต่อไป