เอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical spine x-ray)

การถ่ายเอกซเรย์กระดูกคอเป็นการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับรายที่แพทย์สงสัยภาวะเหล่านี้

  • กระดูกคอหักจากอุบัติเหตุ
  • ติดเชื้อที่กระดูกสันหลังส่วนคอ
  • ปวดคอเรื้อรัง
  • ปวด ชา หรืออ่อนแรง ของแขนหรือมือข้างใดข้างหนึ่ง
  • สงสัยภาวะกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท
  • สงสัยภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
  • สงสัยภาวะกระดูกบางหรือพรุน

ท่ามาตรฐานของการเอกซเรย์มี 2 ท่า คือ AP (ด้านหน้า) และ Lateral (ด้านข้าง) กรณีที่สงสัยกระดูกคอระดับ C1-2 หักหรือเคลื่อนอาจเพิ่มท่า Odontoid และกรณีที่ไม่มี MRI แล้วต้องการดูโพรงที่เส้นประสาทลอดออกมาก็อาจถ่ายท่า Oblique เพิ่ม

กรณีที่พบความผิดปกติและจำเป็นต้องประเมินอย่าง ละเอียดก่อนผ่าตัด แพทย์ก็มักจะส่งตรวจ MRI เพิ่ม

ปกติแนวกระดูกกระดูกคอด้านหน้าควรจะตรง ส่วนด้านข้างควรจะโค้งแอ่นมาข้างหน้า (Lordotic curve) แนวเส้น AV (Anterior vertebral), PV (Posterior vertebral), และ SL (Spinolaminar) ควรโค้งขนานกันดังรูปบนสุด หากแนวไหนสะดุดก็น่าจะมีรอยโรคที่ตรงตำแหน่งนั้น (รูป A) หากทั้งสามแนวขนานกัน ขาดแต่ความแอ่น ก็อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อคอเกร็ง/เคล็ด

ลักษณะของกระดูกคอเสื่อมที่พบบ่อยคือมีช่องระหว่างกระดูกสันหลังข้อใดข้อหนึ่งแคบลง ซึ่งแสดงถึงหมอนรองกระดูกเสื่อม รวมทั้งอาจมีกระดูกงอกคล้ายเงี่ยงอยู่ทางด้านหน้าของกระดูกสันหลัง (รูป B) ความจริงกระดูกงอกเหล่านี้มีได้รอบทิศ ถ้างอกตรงโพรงออกของเส้นประสาทก็จะระคายเส้นประสาทเส้นนั้นเวลาที่เราขยับคอ

นอกจากนั้น การบวมหรือพบแก๊สในเนื้อเยื่อหรือในกระดูกก็บ่งถึงภาวะติดเชื้อ มีหนอง หรือมีเลือดคั่งที่ตรงบริเวณนั้น หากสงสัยต้องตรวจ MRI เพิ่ม

บรรณานุกรม

  1. Sonam Vadera, et al. "Cervical spine series." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Radiopaedia.Org. (12 เมษายน 2564).
  2. Dejvid Ahmetovic & Gregor Prosen. "How to Read C-Spine X-Ray." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา iEM. (12 เมษายน 2564).
  3. Chris Partyka. 2017. "C-spine x-ray interpretation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Don't Forget the Bubbles. (12 เมษายน 2564).
  4. Jack Yon. 2021. "Cervical Spine X-ray Interpretation – OSCE Guide." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Geekymedics. (12 เมษายน 2564).