การตรวจสมรรถภาพปอด
(Spirometry, Pulmonary function test, PFT)
สไปโรเมตรีย์เป็นวิธีหนึ่งในการตรวจสมรรถภาพปอดที่ปัจจุบันนิยมใช้ เพราะเครื่องไม่ใหญ่ ปลอดภัยไม่ต้องสูดก๊าซพิษ และไม่ต้องถูกเจาะเลือด แต่การแปลผลยังต้องอาศัยผู้ชำนาญ
ข้อบ่งชี้ในการตรวจสไปโรเมตรีย์
- เพื่อวินิจฉัยโรคของระบบหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด ในผู้ที่มีอาการเหนื่อย แต่ผลตรวจหรือเอกซเรย์ทรวงอกไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้
- เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคระบบหายใจ
- คัดกรองผู้ที่ยังไม่มีอาการแต่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบการหายใจ เช่น ในคนสูบบุหรี่ คนทํางานเหมืองแร่ คนทำงานกับฝุ่นผ้าหรือละอองสารเคมี
- ประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้านระบบหายใจก่อนการผ่า
ตัด
- ติดตามผลการรักษา
- ติดตามการดำเนินโรค
- ติดตามผลข้างเคียงของยาที่มีผลต่อระบบการหายใจ เช่น amiodarone
ข้อห้ามในการตรวจสไปโรเมตรีย์
- ไอเป็นเลือด
- ปอดบวม วัณโรคปอด ติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง
- มีลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
- มีโรคของระบบหัวใจที่ยังคุมไม่ดี เช่น ความดันโลหิตสูงหรือต่ำเกินไป, recent myocardial infarction หรือ pulmonary embolism, aortic aneurysm
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องอกหรือช่องท้อง
- สตรีมีครรภ์ (ยกเว้นในบางรายที่จําเป็น)
- ผู้ที่กำลังป่วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน
ขั้นตอนการตรวจ
หยุดยาขยายหลอดลมแบบสูดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อน
ทำการตรวจ ส่วนยาขยายหลอดลมแบบรับประทานให้หยุดอย่างน้อย 1 วัน (ถ้าไม่สามารถหยุดได้ให้บันทึกเวลาที่ใช้ยาแต่ละชนิดครั้งสุดท้าย) งดชา กาแฟ แอลกอฮอล์ บุหรี่ และอาหารมื้อใหญ่ อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเวลาตรวจ
เมื่อเข้าห้องตรวจ เจ้าหน้าที่จะวัดส่วนสูง จับสัญญาณชีพ แล้วให้นั่งข้างเครื่องตรวจ ผู้ป่วยจะได้รับการหนีบจมูก หายใจเข้าทางปากให้เต็มที่แล้วกลั้นไว้ อมท่อหายใจ ปิดปากให้สนิท แล้วหายใจออกผ่านท่อให้เร็วและแรงที่สุด จากนั้นสูดหายใจเข้าเต็มที่ผ่านท่อ เป็นอันเสร็จขั้นตอน 1 ชุด เจ้าหน้าที่อาจให้ทำซ้ำอีกหลายชุดจนกว่าจะได้กราฟ Volume-time curve และ Flow-volume loop ที่ใช้การได้ จากนั้นเครื่องจะคำนวณค่าสมรรถภาพปอดต่าง ๆ ให้
การแปลผล
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจศัพท์ที่ใช้เรียกความจุของปอดแต่ละส่วนเวลาที่เราหายใจเข้า-ออก เพื่อจะได้รู้จักค่าสมรรถภาพปอดที่สำคัญบางตัวที่ใช้วินิจฉัยและติดตามผลการรักษา
เมื่อเราหายใจเข้า-ออกปกติ ปริมาตรอากาศที่เราใช้มีเพียง 10-15% ของความจุปอดทั้งหมด เรียกว่า Tidal volume เมื่อเราหายใจเข้าลึกสุด ปริมาตรอากาศส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก Tidal volume เรียกว่า Inspiratory reserve volume และเมื่อเราหายใจออกอย่างเร็วและแรงที่สุด ปริมาตรอากาศที่ออกไปทั้งหมดเรียกว่า Forced vital capacity ซึ่งเท่ากับ Tidal volume + Inspiratory reserve volume + Expiratory reserve volume กระนั้น อากาศในปอดยังคงเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง เรียกว่า Residual volume (ดูรูปข้างบน)
ตัวอย่างตัวแปรสำคัญที่เราใช้วัดสมรรถภาพปอด ได้แก่
FEV1 (Forced expiratory volume in 1 second) หมายถึง ปริมาตรอากาศสูงสุดใน 1
วินาทีแรก ที่ได้จากการหายใจออกอย่างเร็วและแรงที่สุด จากตําแหน่งหายใจเข้าเต็มที่ มีหน่วยเป็นลิตร
FVC (Forced vital capacity) หมายถึง ปริมาตรอากาศที่ได้จากการหายใจออกอย่างเร็วและแรงที่สุด 1 ครั้ง จากตําแหน่งหายใจเข้าเต็มที่ มีหน่วยเป็นลิตร
%FEV1 คือ ค่าที่ได้จากการนําค่า FEV1 หารด้วยค่า FVC แล้วคูณด้วย 100 มีหน่วยเป็น %
FEF25-75% (Forced expiratory flow at 25-75 %) ค่าเฉลี่ยของอัตราการไหลของอากาศที่คํานวณในระหว่างช่วงปริมาตร 25–75 % ของ FVC (ช่วงกลางของ FVC) ค่านี้มีหน่วย
เป็นลิตรต่อวินาที บางครั้งอาจเรียกค่านี้ว่าค่า Maximum mid-expiratory flow (MMEF) ก็ได้
ค่าต่าง ๆ เหล่านี้ต้องอิงเกณฑ์ปกติตามกลุ่มอายุ เพศ และส่วนสูงของประชากร สำหรับคนไทยสามารถคำนวณค่าอ้างอิงตามกลุ่มได้ ที่นี่
สำหรับการแปลผลเพื่อวินิจฉัยโรค เราจะดูที่ %FEV1 หรือ FEV1/FVC ก่อน ถ้าต่ำกว่าค่าอ้างอิงแสดงว่ามีความผิดปกติแบบอุดกั้น ซึ่งได้แก่โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis, bronchiectasis) และหาก FVC ต่ำด้วยแสดงว่ามีความผิดปกติแบบจำกัดการขยายร่วมด้วย ซึ่งได้แก่โรคอ้วน โรคของเยื่อหุ้มปอด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรวงอกผิดรูป และโรคของปอดแบบ interstitial lung disease
ในความผิดปกติแบบอุดกั้นให้ลองสูดหรือพ่นยาขยายหลอดลมแล้วทำสไปโรเมตรีย์ใหม่ ถ้า FEV1 ดีขึ้น > 12% และ > 200 ml แสดงว่ามีหลอดลมตีบชั่วคราว ถ้าไม่ดีขึ้นแสดงว่าโรคเป็นมากจนแก้ไขไม่ได้แล้ว
หาก %FEV1 ไม่ต่ำ ให้ดูที่ FVC ถ้าต่ำแสดงว่ามีความผิดปกติแบบจำกัดการขยาย ถ้าไม่ต่ำให้ดูที่ FEF25-75% ต่อ ถ้าต่ำแสดงว่าเป็นโรคของหลอดลมฝอย (bronchiolitis) ซึ่งได้แก่โรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนล่าง และโรคจากฝุ่น ถ้าไม่ต่ำแสดงว่าสมรรถภาพปอดปกติ
ค่าสมรรถภาพปอดที่เครื่องคำนวณให้มีมากกว่านี้ แต่ส่วนใหญ่เอาไว้ใช้ติดตามผลการรักษาและการดำเนินของโรคเรื้อรัง ผู้สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากบรรณานุกรมข้างล่าง
บรรณานุกรม
- "แนวทางการตรวจและแปลผลสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์ในงานอาชีวอนามัย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา มูลนิธิสัมมาอาชีวะ. (19 ธันวาคม 2563).
- "แนวทางการตรวจสมรรถภาพปอด ๑. สไปโรเมตรีย์." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย. (27 ธันวาคม 2563).
- Anna Neumeier. "Interpretation of pulmonary function tests (PFT)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ACP. (27 ธันวาคม 2563).
- J.M.B. Hughes. "Interpretating pulmonary function tests." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Breathe. 2009;6(2)102-110 (27 ธันวาคม 2563).