อัลตราซาวด์ช่องท้อง (Abdominal ultrasound)

อัลตราซาวด์ช่องท้องยังไม่จัดเป็นการตรวจคัดกรองโรคอย่างเต็มตัว แต่ด้วยข้อบ่งชี้ในการตรวจที่กว้าง บริษัทประกันสุขภาพหลายแห่งจึงรวมอัลตราซาวด์ช่องท้องอยู่ในแพคเกจตรวจสุขภาพระดับพรีเมียมด้วย

ตัวอย่างข้อบ่งชี้ในการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง

  1. ปวดท้องเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (สามารถเห็นนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วที่ไต ถุงน้ำดีอักเสบ ก้อนที่ตับ ฝีในช่องท้อง ไส้ติ่งที่อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ไส้เลื่อน ไตบวม ถุงน้ำตามอวัยวะต่าง ๆ)
  2. ท้องโต สงสัยมีน้ำในช่องท้อง
  3. ตัวเหลือง สงสัยท่อน้ำดีอุดตัน
  4. สงสัยม้ามโต
  5. สงสัยภาวะ portal hypertension
  6. ผลการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ
  7. ไข้ไม่ทราบสาเหตุ
  8. ปัสสาวะไม่ออก
  9. ท้องเต้น สงสัยหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
  10. คัดกรองโรคตับแข็งและมะเร็งตับในรายที่มีไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง
  11. ตรวจพบมะเร็งที่อื่น ต้องการคัดกรองว่ากระจายไปที่ตับหรือยัง
  12. ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง คัดกรองภาวะเลือดออกในช่องท้อง

ข้อจำกัดของคลื่นอัลตราซาวด์

  1. คลื่นอัลตราซาวด์ถูกรบกวนด้วยลม จึงไม่สามารถดูอวัยวะทรวงกลวง เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ได้ชัดเจน ยิ่งถ้าเป็นปอดจะดูไม่ได้เลย (ยกเว้นมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด)
  2. ในคนที่ผนังหน้าท้องหนา คลื่นอัลตราซาวด์อาจไปไม่ถึงอวัยวะที่อยู่ลึก เช่น ตับอ่อน
  3. คลื่นอัลตราซาวด์ไม่สามารถผ่านกระดูกได้ รอยโรคที่กระดูกจึงมองไม่เห็น

ในการรายงานอัลตราซาวด์ช่องท้อง รังสีแพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอวัยวะเหล่านี้:- ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ม้าม ตับอ่อน ไต ต่อมหมวกไต หลอดเลือดแดงเอออร์ตา กระเพาะปัสสาวะ และอื่น ๆ ที่อาจพบ

บรรณานุกรม

  1. "Ultrasound abdomen general: Indication/Technique." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา startradiology.com. (21 กันยายน 2563).
  2. "Ultrasound - Abdomen." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Radiology Info. (21 กันยายน 2563).