น้ำตาลในปัสสาวะ (Urine glucose)

การมีน้ำตาลรั่วออกมาในปัสสาวะแสดงว่ามีน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 210-230 mg% (11.7-12.8 mmol/L) เพราะน้ำตาลในเลือดต้องสูงเกิน 160-180 mg% จึงจะท้นเขื่อนไตออกมาได้ และน้ำตาลในปัสสาวะต้องมีตั้งแต่ 50 mg% ขึ้นไปจึงจะตรวจพบ น้ำตาลในปัสสาวะจึงไม่ใช่ตัวคัดกรองที่ดีในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน (เพราะเบาหวานวินิจฉัยที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่านั้น) แต่อย่างน้อยก็เป็นตัวคัดกรองที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูงหลังรับประทานอาหาร เพื่อปรับยาให้สามารถคุมน้ำตาลในเลือดได้ตลอดวัน รวมทั้งช่วยคัดกรองภาวะเบาหวานในหญิงมีครรภ์ ซึ่งอาจมีน้ำตาลในเลือดสูงหลังรับประทานอาหารเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น และส่งผลต่อเด็กในครรภ์

ยาเบาหวานกลุ่ม SGLT2 inhibitors ออกฤทธิ์โดยการขับน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ ผู้ที่คุมน้ำตาลในเลือดด้วยยากลุ่มนี้จึงไม่สามารถใช้การตรวจน้ำตาลในปัสสาวะมาปรับขนาดยาได้

ในการวิเคราะห์ปัสสาวะเบื้องต้น (Urinalysis) จะตรวจน้ำตาลที่รั่วออกมาในปัสสาวะโดยวิธี dipstick (แผ่นตรวจวัด) ซึ่งใช้ปฏิกิริยา 2 ขั้นตอนในการตรวจ จึงใช้เวลาในการอ่านผลนานอย่างน้อย 30 วินาที และอาจมีผลลบลวงได้ในกรณีที่ปัสสาวะมีวิตามินซี กรดยูริก หรือมีความถ่วงจำเพาะสูง

** ตัวเลขน้ำตาลที่ปรากฏข้างสีเปรียบเทียบผลในบรรจุภัณฑ์ แสดงถึงระดับน้ำตาลในปัสสาวะขั้นต่ำที่สีนั้นจะแสดงผล ไม่ใช่ระดับน้ำตาลในเลือด ยังไม่มีตัวเลขยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างน้ำตาลในปัสสาวะแบบ dipstick กับระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะแม้เพียง Trace ก็ผิดปกติแล้ว จำเป็นต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดต่อ

บรรณานุกรม

  1. "Glucose Urine Level." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ScienceDirect. (3 กันยายน 2563).
  2. "Glucosuria." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (3 กันยายน 2563).
  3. "The Renal Dam." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Interactive Diabetic Manual. (3 กันยายน 2563).
  4. Jeff A. Simerville, et al. 2005. "Urinalysis: A Comprehensive Review." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2005 Mar 15;71(6):1153-1162. (26 สิงหาคม 2563).
  5. "Urinalysis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AACC (26 สิงหาคม 2563).