เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะ (CT-head)

การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ซีทีสมอง" เป็นการตรวจเอกซเรย์ที่ผู้ป่วยหรือญาติร้องขอแต่ถูกแพทย์ปฏิเสธมากที่สุดถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ เนื่องจากการทำซีทีสมองครั้งหนึ่ง ๆ มีค่าใช้จ่ายสูง (ตั้งแต่ 3,000-15,000 บาท ขึ้นกับความคมชัดของเครื่องซีทีแต่ละรุ่น) และผู้ป่วยจะได้รับรังสีเอกซ์ในปริมาณที่มากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา (ซึ่งไม่สามารถถ่ายให้เห็นถึงเนื้อสมองได้) รวมทั้งอาจได้รับผลข้างเคียงจากสารทึบรังสีที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้เห็นรายละเอียดชัดขึ้น

ข้อบ่งชี้ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะ

  1. กรณีมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ
    • แรกรับ GCS < 13 ในผู้ใหญ่, <14 ในเด็กอายุ 1-18 ปี, < 15 ในเด็กอายุ < 1 ปี)
    • GCS < 15 ในทุกวัยหลังสังเกตอาการในห้องฉุกเฉินเป็นเวลา 2 ชั่วโมง
    • สงสัยกะโหลกศีรษะแตก หรือพบกระดูกใบหน้าหัก
    • มีอาการแสดงของฐานกะโหลกแตก ได้แก่ haemotympanum (เลือดออกหลังเยื่อแก้วหู), 'panda' eyes (จ้ำเลือดรอบเบ้าตา), น้ำในสมองไหลออกทางหูหรือจมูก, Battle's sign (จ้ำเลือดที่กระดูกมาสตอยด์)
    • มีกระหม่อมบวมตึง ในเด็กที่กระหม่อมยังไม่ปิด
    • หมดสตินานกว่า 5 นาที, จำความไม่ได้นานกว่า 5 นาที, ชัก, อาเจียนหลายครั้ง, หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท หลังได้รับบาดเจ็บ
    • เด็กเล็กที่สงสัยว่าอาจถูกทำร้ายร่างกาย (มีแผลฟกช้ำ ถลอก ฉีกขาด บวม มากกว่า 5 แห่ง บริเวณศีรษะ)
  2. กรณีไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ
    • มีอาการของสโตร๊กครั้งใหม่ เช่น อัมพาตหรืออัมพฤกครึ่งซีก ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด ปวดศีรษะรุนแรงจนเดินไม่ได้ ล้มแล้วความรู้สึกตัวไม่เหมือนเดิม
    • แพทย์พบความผิดปกติของระบบประสาท
    • ปวดศีรษะที่ไม่เคยหายไปเลย โดยเฉพาะหลังเกิดอุบัติเหตุ
    • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงฉับพลัน
    • ชักโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • ความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป หรือหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • เห็นภาพซ้อน หรือการมองเห็นผิดปกติ
    • เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ
    • แพทย์สงสัยมีการติดเชื้อในสมอง เช่น มีไข้ คอแข็ง ความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป ควรตรวจซีทีสมองก่อนเอาน้ำไขสันหลังไปตรวจ
    • แพทย์สงสัยเนื้องอกในสมอง เช่น ทำ Valsava maneuver แล้วปวดศีรษะมากขึ้น, อาเจียนพุ่ง, มีอาการแสดงว่าระบบประสาทบางส่วนถูกกด, ตรวจพบ papilledema
    • แพทย์สงสัย Acoustic neuroma, orbital cellulitis
    • แพทย์สงสัย Hydrocephalus หรือ Normopressure hydrocephalus
    • มีความผิดปกติทางระบบประสาทตั้งแต่เกิด หรือมีพัฒนาการช้าในเด็ก
    • นำวิถีการเจาะก้อน หรือการฉายแสงเนื้องอกในสมอง
    • ติดตามผลการรักษา

* สังเกตว่าการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมไม่ได้ใช้ซีทีสมอง แต่ใช้อาการทางคลินิกและการสแกนสมองด้วยวิธี SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) เพื่อดูปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงแต่ละส่วน

ข้อห้ามในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะ

  1. ตั้งครรภ์หรือคาดว่าอาจตั้งครรภ์ หากจำเป็นก็ควรตรวจเอ็มอาร์ไอสมองแทน เพื่อเลี่ยงไม่ให้รังสีเอกซเรย์ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์
  2. ไม่สามารถอยู่นิ่งคนเดียวได้ เช่น ในเด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่สับสนไม่รู้ตัว หากจำเป็นต้องตรวจและไม่มีข้อห้ามใช้ยานอนหลับก็ควรใช้ยาให้คนไข้สงบก่อน

** หากมีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ควรแจ้งแพทย์ก่อนนัดตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  1. หากไม่เคยตรวจการทำงานของไต (Creatinine) ต้องตรวจก่อนทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะ
  2. ดื่มน้ำมาก ๆ 1 วันก่อนตรวจ
  3. งดยา Metformin 1 วันก่อนตรวจ (เพื่อป้องกันภาวะ lactic acidosis จาก metformin กรณีที่ต้องฉีดสารทึบรังสีแล้วทำให้การทำงานของไตทรุดลง)
  4. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
  5. ถอดเครื่องประดับต่าง ๆ บนศีรษะและคอ
  6. ควรมีญาติมาด้วย เพราะหากผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก แพทย์อาจให้ยาระงับประสาทเพื่อคลายความกังวลก่อนการเอกซเรย์ หลังจากเสร็จขั้นตอนฤทธิ์ยาอาจยังคงอยู่

ขั้นตอนการตรวจ

เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่านอนบนเตียงของเครื่องสแกน เตียงจะถูกเคลื่อนเข้าไปภายในเครื่อง ให้ศีรษะอยู่ตรงกับวงแหวนสแกน และเครื่องจะเริ่มทำการสแกนด้วยการหมุนเพื่อฉายรังสีเอกซเรย์ไปรอบ ๆ ตัวผู้ป่วย ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที แล้วแต่ว่าต้องฉีดสารทึบรังสีเพื่อความชัดเจนหรือไม่ ผู้ป่วยควรนอนราบนิ่ง ๆ และหายใจตามปกติ หากรู้สึกผิดปกติสามารถสื่อสารกับแพทย์และนักเทคนิคที่ดูแลได้ผ่านอินเตอร์คอม

หลังการตรวจยังไม่ควรรับประทานอาหารและดื่มน้ำทันที ควรรอผลอ่านของรังสีแพทย์ออกมาก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาอีกราว 1-2 ชั่วโมง หากเป็นผู้ป่วยในก็สามารถกลับตึกนอนก่อนได้ หากเป็นผู้ป่วยนอกต้องรอพบแพทย์อีกครั้งเมื่อผลออกมาแล้ว

ผลอ่านเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะ

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ศีรษะสามารถบอกรายละเอียดสำคัญ 6 อย่าง คือ

  1. เลือดออกผิดปกติ ในกรณีมีการบาดเจ็บที่ศีรษะอาจพบก้อนเลือดนอกชั้นดูรา (รูป A), ในชั้นดูรา (รูป B1, B2, B3) สังเกตว่าเลือดที่ออกมาใหม่ ๆ จะมีความเข้มมากกว่าเนื้อสมอง แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์จะมีความเข้มใกล้เคียงเนื้อสมอง (รูป B2) และหลังจากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ เลือดจะสลายตัว จึงเห็นเป็นสีจางกว่าเนื้อสมอง (รูป B3)
  2. ในกรณีที่ไม่มีการบาดเจ็บอาจพบเลือดออกในชั้นอแรคนอยด์ (รูป C และ D), หรือในโพรงน้ำสมอง (รูป E) หรือในเนื้อสมอง (รูป F)

  3. กะโหลกศีรษะแตก ส่วนใหญ่จะเห็นจากการตรวจร่างกายแล้ว ยกเว้นแพทย์สงสัยฐานกะโหลกแตกจากอาการแสดงข้างต้น และให้รังสีแพทย์โฟกัสดูที่ฐานกะโหลก (รูป G)
  4. โพรงน้ำในสมองโต (รูป H)
  5. การติดเชื้อในสมอง เช่น ฝีในสมอง สมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่วนที่เป็นฝีหรือมีการอักเสบจะเห็นชัดขึ้นเมื่อฉีดสารทึบรังสี (รูป J เทียบกับก่อนฉีดรูป I)
  6. เนื้องอกในเนื้อสมอง และเนื้องอกของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8
  7. เนื้อสมองผิดปกติ เช่น เนื้อสมองตายบางส่วนจากหลอดเลือดสมองอุดตัน (Cerebral infarction), สมองฝ่อ (Cerebral atrophy), มีหินปูนหรือถุงน้ำภายในสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองหรือมาจากพยาธิไชเนื้อสมอง, White matter diseases เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. "Head injury: assessment and early management" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NICE.Org. (24 มีนาคม 2564).
  2. Gurvinder Rull. 2019. "CT Head Scanning Indications." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Patient.Info. (24 มีนาคม 2564).
  3. Dom Mahoney & Dr Kunal Patel. 2021. "CT Head Interpretation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Geeky Medics. (3 เมษายน 2564).
  4. "Computed Tomography (CT) - Head." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา RadiologyInfo.Org. (3 เมษายน 2564).