MRI หัวใจ (Cardiac Magnetic Resonance Imaging, MRI)

MRI หัวใจเป็นการส่งสนามแม่เหล็กไฟฟ้าตัดภาพภายในหัวใจในระนาบต่าง ๆ แล้วนำคลื่นที่สะท้อนกลับมาประกอบเป็นภาพ 3 มิติของหัวใจ คล้ายการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) แต่ได้ภาพชัดกว่า อีกทั้งคนไข้ไม่ต้องรับรังสีเอ็กซ์และสารทึบรังสีเหมือน CT แน่นอนราคาย่อมสูงกว่าการทำ CT

MRI หัวใจที่ทำหลังกระตุ้นหัวใจให้ทำงานมากขึ้นด้วยยา เรียกว่า Stress cardiac MRI

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ MRI หัวใจ

  1. วินิจฉัยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  2. สงสัยภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่ไม่สามารถทำการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการสวนหัวใจโดยตรงได้ เนื่องจากมีข้อห้าม เช่น ภาวะไตเสื่อม หรือแพ้สารทึบรังสี
  3. หาสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
  4. ประเมินปริมาณพังผืด (แผลเป็น) ที่กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อพยากรณ์โรคได้
  5. ประเมินผลการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบตันด้วยวิธีบอลลูน ใส่ขดลวด หรือทำการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
  6. ประเมินหัวใจอย่างละเอียดก่อนและหลังผ่าตัด
  7. วินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ติดเชื้อ หรือเนื้องอกบริเวณหัวใจ
  8. ต้องการตรวจโครงสร้างและการทำงานของห้องหัวใจทุกห้องอย่างละเอียด รวมทั้งลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และเส้นเลือดใหญ่ที่ไหลเวียนสู่หัวใจ

ข้อห้ามในการตรวจ MRI ของทุกอวัยวะ

  1. ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (cardiac pacemakers) หรือเครื่องกระตุกหัวใจ (cardiac defibrillators)
  2. เคยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และใช้ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะบางอย่าง (metallic heart valve prosthesis)
  3. เคยผ่าตัดสมอง และมีคลิปหนีบหลอดเลือดในสมองชนิดที่ไม่ใช้ไททาเนียม (intracerebral aneurysm clips)
  4. เคยผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง (Deep brain stimulator) หรือเส้นประสาทเวกัส (Vagal nerve stimulation)
  5. เคยผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (cochlear implantation)
  6. มีโลหะตะกั่วฝังอยู่ในตัว
  7. มีโลหะหรือเศษเหล็กฝังอยู่บริเวณแก้วตา
  8. แพ้ยาบางชนิดที่ใช้ในการตรวจ ได้แก่ Gadolinium, Adenosine, Dobutamine เป็นต้น
  9. กลัวที่แคบอย่างมาก (severe claustrophobia)

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  1. งดน้ำและอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
  2. ถอดฟันปลอม เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โลหะทุกชนิด เช่น นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรอื่น ๆ ที่ใช้แถบแม่เหล็กบันทึก
  3. สุภาพสตรีควรเช็ดเครื่องสำอางออกก่อนเข้าห้องตรวจโดยเฉพาะสีทาเปลือกตา (Eye shadow) และขนตา (Mascara) เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของโลหะ
  4. สตรีมีครรภ์ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนการตรวจ

ขั้นตอนการตรวจ

เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่านอนบนเตียงตรวจ ให้ผู้ป่วยนอนให้นิ่งที่สุดเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดที่สุด อาจต้องกลั้นหายใจเป็นระยะ ๆ (ครั้งละประมาณ 5-10 วินาที) ระหว่างการตรวจ ขณะตรวจ เจ้าหน้าที่จะควบคุมเครื่องอยู่ด้านนอก แต่จะมีกล้องวงจรปิดคอยติดตามดูผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา และผู้ป่วยเองก็สามารถสื่อสารกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ได้ทางไมโครโฟน ในบางกรณีอาจมีการฉีดสาร Gadolinium เข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อแยกรายละเอียดของโรค ระหว่างที่เครื่องประมวลภาพจะได้ยินเสียงดังเป็นระยะ ๆ เวลาที่ใช้ตรวจประมาณ 30-60 นาที

หลังการตรวจ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นหรือนอนในโรงพยาบาล ยกเว้นเป็นผู้ป่วยในอยู่ก่อน

บรรณานุกรม

  1. Kyle Harry. "Cardiac MRI in Clinical Practice." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา St. Vincent Medical Group. (19 พฤศจิกายน 2563).
  2. Christian R. Hamilton-Craig, et al. "Cardiovascular magnetic resonance from basics to clinical applications." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Applied Radiology. (19 พฤศจิกายน 2563).
  3. Yasmin S Hamirani and Christopher M Kramer. 2014. "Cardiac MRI assessment of myocardial perfusion." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Future Cardiol. 2014;10(3):349–358. (19 พฤศจิกายน 2563).
  4. "การตรวจหัวใจด้วยภาพคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. (19 พฤศจิกายน 2563).
  5. "การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต. (19 พฤศจิกายน 2563).