ชนิดและปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin typing, Hemoglobin electrophoresis)
ฮีโมโกลบิน (Hb) ประกอบด้วย Heme และสายโปรตีนโกลบิน 4 สาย คือ สาย α 2 สาย (สร้างจากยีนบนโครโมโซมที่ 16) จับกับสาย β หรือ γ หรือ δ 2 สาย (สร้างจากยีนบนโครโมโซมที่ 11) ทำให้ได้ฮีโมโกลบิน 3 ประเภท คือ
- Hb A: α2β2 เป็นฮีโมโกลบินหลักของคน ในผู้ใหญ่ปกติควรมี > 95% ของฮีโมโกลบินทั้งหมด
- Hb A2: α2δ2 เป็นความแปรปรวนของ Hb A ในผู้ใหญ่ปกติควรมี < 3.5% ของฮีโมโกลบินทั้งหมด หากเกินกว่านี้แสดงว่ามีความบกพร่องของสาย β
- Hb F: α2γ2 เป็นฮีโมโกลบินหลักของตัวอ่อนในครรภ์ จะลดลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด ในผู้ใหญ่ปกติควรมี < 2% ของฮีโมโกลบินทั้งหมด
ปกติ Hb A:A2:F = 97:2.5:0.5%
ความผิดปกติของฮีโมโกลบินอาจเป็นจาก...
- การสร้างสายโกลบินลดลง ถ้าเป็นสาย α ก็เรียกว่า alpha-thalassemia ถ้าเป็นสาย β ก็เรียกว่า beta-thalassemia (0 = สร้างไม่ได้เลย + = สร้างได้บ้าง)
- มีกรดอะมิโนผิดตัวในตำแหน่งต่าง ๆ ของสายของโกลบิน เช่น Hb Constant Spring (CS), Hb Mahidol (Q), Hb Siam, Hb Suan-Dok, Hb Thailand มีการกลายพันธุ์ในสายอัลฟา ส่วนที่กลายพันธุ์ในสายเบตามีมากกว่า 200 ชนิด ที่พบบ่อยเช่น Hb E, Hb C, Hb S เป็นต้น
บ่อยครั้งที่ความผิดปกติผสมกันทั้งจำนวนลดลงและโครงสร้างผิดไป เกิดเป็น α-thal E, β-thal E, α-thal H, α-thal CS เป็นต้น ในภาษาไทยจึงรวมเรียกความผิดปกติของฮีโมโกลบินทุกแบบว่า "กลุ่มโรคธาลัสซีเมีย" หมด
กลุ่มโรคธาลัสซีเมียมีความรุนแรงค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ไม่มีความผิดปกติเลยแม้แต่โลหิตจาง ไปจนถึงซีดมากจนเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ปัญหาของโรคกลุ่มนี้คือ ผู้ที่เป็นพาหะของโรคที่ไม่มีอาการแต่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จะสามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปสู่ลูกได้
ข้อบ่งชี้ในการตรวจ Hemoglobin typing
- ตรวจคัดกรองคู่หญิง-ชายก่อนมีบุตร (แล้วแต่ความสมัครใจ เพราะการตรวจมีค่าใช้จ่าย)
- หญิงมีครรภ์ที่มี Hb < 10 g/dL แม้จะแก้ด้วยการให้ธาตุเหล็กเสริมแล้ว
- บิดามารดาของเด็กที่เกิดมาแล้วพบความผิดปกติของฮีโมโกลบิน
- คนทั่วไปที่มีภาวะโลหิตจางชนิดที่สงสัยกลุ่มโรคธาลัสซีเมีย
การตรวจชนิดและปริมาณฮีโมโกลบินนี้ เป็นการตรวจด้วยวิธี electrophoresis ซึ่งจะใช้สนามไฟฟ้าแยกโมเลกุลของฮีโมโกลบินแต่ละชนิดออกจากกัน ตามอัตราเร็วในการเคลื่อนที่ของฮีโมโกลบินแต่ละชนิด (อัตราเร็วขึ้นกับปริมาณประจุ รูปร่าง และขนาดของโมเลกุล) วิธีนี้สามารถวินิจฉัย beta-thalassemia และ Hb ที่ผิดกรดอะมิโนได้ดี แต่ไม่สามารถบอก alpha-thalassemia minor (α-thal 2, α-thal 1) ได้ ดังนั้นหากผลการตรวจไม่ยืนยัน α-thalassemia ควรส่งตรวจ PCR for Thalassemia ต่อ
บรรณานุกรม
- "คู่มือทางห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (1 ตุลาคม 2563).
- "II. ภาวะโลหิตจางกลุ่มที่มีฮีโมโกลบินผิดปกติ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (1 ตุลาคม 2563).
- ปานทิพย์ ศิริโชติ. "การตรวจยืนยันและการแปลผลตรวจธาลัสซีเมียและการระบุคู่เสี่ยง
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม. (3 ตุลาคม 2563).
- ร.ศ. น.พ. ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ และ ร.ศ. พ.ญ. สุพัตรา ศิริโชติยะกุล. 2018. "การควบคุมโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงด้วยวิธีก่อนคลอด." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (5 ตุลาคม 2563).
- ธีระ ทองสง. 2015. "Pregnancy with anemia
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ภาควิชาสูตินรีเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (3 ตุลาคม 2563).
- กิตติ ต่อจรัส. 2012. "Diagnosis of Thalasemia
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา เวชสารแพทย์ทหารบก ปีที่ 65 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2555. (3 ตุลาคม 2563).
คำชี้แจงที่สำคัญ (Disclaimer): ผลการแปลต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากแพทย์ก่อนนำไปใช้วินิจฉัยหรือรักษา ผู้จัดทำมิได้ยืนยันในความถูกต้องของสูตรที่ได้เลือกมาหรือที่ได้ปรับให้เหมาะสม และผลการแปลก็ไม่สามารถทดแทนดุลยพินิจทางคลินิกของแพทย์ได้ ผู้จัดทำจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ใช้พึ่งพาผลการแปลหรือคำแนะนำในเอกสารนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน