การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ปัจจุบันถือเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่วิธีหนึ่ง แนะนำให้ทำทุก 3-5 ปี ในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป หากมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรเริ่มส่องตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ถ้าพบความผิดปกติแพทย์อาจนัดส่องติดตามรอยโรคถี่กว่านั้น
นอกจากนั้นการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ยังช่วยวินิจฉัยสาเหตุของการถ่ายเป็นเลือด ท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้องที่หาสาเหตุไม่ได้ ท้องผูกมากและเรื้อรัง มีโลหิตจางและ stool occult blood positive รวมทั้งความผิดปกติที่เห็นจากเอกซเรย์สวนทวารหนัก
การเตรียมลำไส้ก่อนส่องกล้อง
เนื่องจากลำไส้ใหญ่มีกากอาหารสะสมอยู่มาก ก่อนจะส่องกล้องจึงต้องเตรียมลำไส้ล่วงหน้า 3-7 วัน ไม่เหมือนการส่องกล้องกระเพาะอาหารที่เพียงอดอาหาร 4-6 ชั่วโมงกระเพาะก็ว่างแล้ว ขั้นตอนการเตรียมลำไส้มีดังนี้
- งดยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด แอสไพริน รวมทั้งยาบำรุงเลือด ล่วงหน้า 7 วัน
- รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว แนะนำข้าวต้ม โจ๊ก ซุปใส ไข่ ปลา เต้าหู้ งดผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ถั่ว อาหารและน้ำที่มีสีดำ-แดง เป็นเวลา 2-3 วันก่อนวันนัดส่องกล้อง
- รับประทานยาระบายหรือยาสวนทวารหนักตามที่แพทย์จัดให้ ช่วงที่ถ่ายออกมากต้องดื่มน้ำชดเชยให้เพียงพอ สีของน้ำอุจจาระสามารถบ่งบอกความสะอาดของลำไส้ได้ ควรมีสีเหลืองจาง ๆ และกากน้อย
- บางครั้งแพทย์จะนัดให้มานอนโรงพยาบาล 1 คืนก่อนวันตรวจ แล้วให้ดื่มน้ำผสมยาระบายต่อระหว่างนั้น
- งดน้ำและอาหาร 8 - 10 ชั่วโมงก่อนเวลาตรวจ รับประทานยาลดความดันโลหิตได้ แต่ให้งดยาเบาหวานในวันที่ส่องกล้อง วิสัญญีแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกก่อนเข้าห้องตรวจ ยาจะทำให้รู้สึกง่วงหรือหลับไปก่อนเริ่มทำการตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ
ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย ก้นชิดริมเตียง งอเข่าชิดอก พยาบาลจะคลุมลำตัวและขาให้ด้วยผ้าสะอาด มีช่องเปิดที่ก้น แพทย์จะใส่กล้องส่องเข้าทางทวารหนัก และเป่าลมเพื่อให้ลำไส้ขยาย ขณะตรวจอาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระหรือแน่นอึดอัดท้อง เนื่องจากแพทย์เป่าลมให้ลำไส้ขยาย ให้ผู้ป่วยหายใจเข้า-ออกช้า ๆ พยายามผ่อนคลาย ไม่เกร็ง ไม่ขยับตัว ถ้าแน่นอึดอัดท้องมากจนทนไม่ไหวให้บอกแพทย์ แพทย์จะดูดลมออกให้ ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง
สิ่งที่อาจตรวจพบจากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ คือ
- ริดสีดวงทวาร
- ลำไส้อักเสบ
- ถุงโป่งจากลำไส้ใหญ่ (Diverticulum)
- ติ่งเนื้อ ซึ่งแพทย์จะตัดออกให้
- เนื้องอก แพทย์จะตัดบางส่วนส่งพยาธิวิทยา
หลังตรวจ
คนไข้จะอยู่ในห้องพักฟื้นต่ออีก 1-2 ชั่วโมง พอรู้ตัว ตื่นดี แพทย์ถึงจะให้กลับบ้านหรือกลับหอผู้ป่วย อาการแน่นอึดอัดท้องจะทุเลาลงเมื่อได้ผายลม อาการเจ็บบริเวณท้องน้อยหรือทวารหนักจะค่อย ๆ ทุเลาลงและหายไปภายใน 1-2 วัน
ก่อนกลับบ้านแพทย์จะแจ้งให้ทราบว่าควรงดยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด แอสไพริน ต่ออีกกี่วัน และจะนัดมาฟังผลชิ้นเนื้อ (หากมีการส่งตรวจ)
เมื่อถึงบ้านให้ผู้ป่วยสังเกตเนื้ออุจจาระ ช่วงแรกอาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติให้รีบกลับไปพบแพทย์ หรือถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก ท้องแข็ง มีไข้สูง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
บรรณานุกรม
- "แนวทางการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษา
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. (27 กันยายน 2563).
- "การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. (27 กันยายน 2563).
- "Colonoscopy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic (27 กันยายน 2563).
- Jigar Bhagatwala, et al. 2015. "Colonoscopy — Indications and Contraindications." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Intechopen.com (27 กันยายน 2563).